svasdssvasds

ข้าพระบาท ทาสประชาชน : กองหนุนหรือแนวร่วมนายกฯลุงตู่ สำคัญอย่างไร?(จบ)

ข้าพระบาท ทาสประชาชน : กองหนุนหรือแนวร่วมนายกฯลุงตู่ สำคัญอย่างไร?(จบ)

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาของการเมืองไทย มีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง กับรัฐบาลทหารที่มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจ สลับสับเปลี่ยนกันปกครองบริหารประเทศตลอดมา เรามีนายกฯจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น 8 คน คือ นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายทักษิณ ชินวัตร, นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งรัฐบาลเหล่านี้มีเพียง 3 รัฐบาลเท่านั้นที่สิ้นสุดลงตามระบบของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ รัฐบาลนายกฯ ชวนหลีกภัย,นายบรรหาร ศิลปอาชา และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เหลือล้วนแต่ถูกประชาชนขับไล่ และท้ายที่สุดก็ถูกปฏิวัติยึดอำนาจโดยคณะทหารทั้งสิ้น จุดจบของรัฐบาลพลเรือน ล้วนแต่มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน แบบโคตรโกง และเหลิงในอำนาจแบบเผด็จการรัฐสภา ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน นี่คือบทเรียนทางการเมือง ที่พรรคและนักการเมืองในยุคหลังไม่เคยจดจำและสรุปบทเรียน ส่วนรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจล้มรัฐบาลพลเรือน ก็มีบทเรียนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะในรอบ 25 ปี มีการปฏิวัติยึดอำนาจถึง 3 ครั้งคือ
พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์                               พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์
1.พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยข้ออ้างเรื่องทุจริต เป็นรัฐบาลบุฟเฟ่คาร์บิเนต มีการยึดทรัพย์สินนักการเมืองที่รํ่ารวยผิดปกติ มีการตั้งพรรคการเมืองของทหาร สนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เอานักการเมืองที่ตนยึดทรัพย์มาเป็นพวก ละทิ้งเจตนารมณ์ของการปฏิวัติยึดอำนาจ ในที่สุดก็ถูกประชาชนขับไล่ สิ้นอำนาจไป
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
2.พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล นายทักษิณชินวัตร ด้วยข้ออ้างเดียวกันคือ การทุจริตคอร์รัปชันที่หนักหน่วงร้ายแรงยิ่งกว่ารัฐบาลใดๆ ทั้งมีพฤติกรรมที่ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันด้วย ประชาชนแซ่ซ้องสนับสนุนทั้งประเทศ แต่รัฐบาลทหารขณะนั้นอ่อนแอ ไม่ดำเนินการปฏิรูปประเทศ คงมีเพียงการตรวจสอบทรัพย์สินและดำเนินคดีกับนักการเมืองที่รํ่ารวยผิดปกติ เท่านั้น เมื่อคืนอำนาจและกลับไปสู่การเลือกตั้ง นักการเมืองและพรรคการเมืองเดิมก็กลับมามีอำนาจอีกครั้ง และเหลิงอำนาจมากกว่าเดิม จนคณะทหารถูกค่อนแคะเย้ยหยันว่าเป็นการปฏิวัติที่เสียของ จุดจบของคณะทหารถูกรัฐบาลพลเรือนและมวลชนเสื้อแดงถอนหงอกและเอาคืน บ้านและที่ดินเขายายเที่ยงก็ต้องคืนและถูกดำเนินคดีแบบสิ้นลาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
3.การยึดอำนาจของ คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถือว่าได้ผ่านบทเรียนอันอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง จากจุดจบของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในอดีต คำอวยพรปีใหม่ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เรื่องกองหนุนหรือแนวร่วม จึงสำคัญยิ่ง หากนายกฯลุงตู่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ท่านต้องไม่เดินทางผิดพลาดซํ้ารอยอดีต แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3 กองหนุนที่นายกฯลุงตู่ใช้ไปหมดแล้วคือใครและกลุ่มพลังใดนั้น ต้องพิจารณาจากที่มาของการยึดอำนาจด้วยสาเหตุสำคัญคือ 1.รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันสร้างความเสียหายร้ายแรงกับประเทศ โดยเฉพาะกรณีจำนำข้าว 2.ใช้อำนาจไม่ชอบออกกฎหมายนิรโทษล้างผิดคนโกง 3.ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ปราบปรามการชุมนุม ทำลายความสงบสุขของบ้านเมือง 4.การเมืองล้มเหลว ประชาชนเรียกร้องการปฏิรูปประเทศทุกด้าน เมื่อคณะทหารยึดอำนาจ 1.ประชาชน ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง นักธุรกิจ ต่างสนับสนุน คสช. 2.กลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ กลุ่ม กปปส.ที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เชียร์และให้กำลังใจด้วยคาดหวังจะมีการปฏิรูป 3.เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ก็เป็นกำลังหนุน 4.พ่อค้า ประชาชน นักธุรกิจน้อยใหญ่ ก็เห็นด้วย อยากเห็นบ้านเมืองสงบทุกคนต้องการทำมาหากิน 4.ข้าราชการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และรักชาติบ้านเมือง ก็เป็นกำลังหนุนที่สำคัญ แต่ในช่วงเวลา 3 ปี 6 เดือน กองหนุนรัฐบาลเริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อยๆตามลำดับ จนอาจกล่าวได้ว่า มวลมหาประชาชนที่เคยสนับสนุนดังที่กล่าวมา อยู่ในอาการวางเฉยและมีคำถามมากมายต่อรัฐบาล อะไรคือปัญหาที่ทำให้กองหนุนนายกฯลุงตู่ถดถอยหรือหมดไป ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมาจากสาเหตุสำคัญๆ ดังนี้คือ (1) การปฏิรูปประเทศในทุกด้านไม่คืบหน้า รัฐบาลใช้เวลานานเกินไป ทุกอย่างมีเพียงแผนในกระดาษ (2) ประชาชนรู้สึกว่า มีเพียงกลุ่มทุนใหญ่ๆ ที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มข้าราชการเท่านั้นที่เริงร่า ส่วนประชาชนได้แต่เฝ้ามองและเศร้าหมอง (3) รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ ไม่ได้ปูทางไปสู่การสร้างประชาธิปไตย แต่ปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจของ คสช. (4) รัฐบาลสามัคคีแต่ข้าราชการและกลุ่มทุนใหญ่ๆ ทอดทิ้งประชาชน และกลุ่มพลังที่สนับสนุนรัฐบาล ทั้งถูกมองว่าไม่ใช่มิตรของ คสช. เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ หรือแกนนำ กปปส.ล้วนถูกจองจำและดำเนินคดี แบบไร้การเหลียวแลและให้ความเป็นธรรม ซึ่งแท้จริงแล้วหากปราศจากการต่อสู้ของประชาชนเหล่านั้น ก็ไม่อาจมีรัฐบาลลุงตู่ในวันนี้ ข้าพระบาท ทาสประชาชน : กองหนุนหรือแนวร่วมนายกฯลุงตู่ สำคัญอย่างไร?(จบ) กรณีนี้แตกต่างจากรัฐบาลป๋าเปรม เมื่อก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ก็กล้าประกาศคำสั่งที่ 66/2523 นิรโทษทุกคนที่เคยเข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล เปิดโอกาสให้ทุกคนกลับมาร่วมพัฒนาชาติ และสร้างประชาธิปไตยร่วมกัน ทำให้รัฐบาลพล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากประชาชน และพลังการเมืองจากทุกส่วน (5) ข้าราชการ และนักการเมืองท้องถิ่น รู้สึกว่าถูก ม.44 เล่นงานให้ปลดออกพักราชการหรือหยุดพักการบริหาร เพียงแค่ถูกกล่าวหา โดยไม่เป็นธรรมแตกต่างจากเพื่อนพ้องน้องพี่ คสช. (6) ประชาชนกลุ่มต่างๆ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักประชาธิปไตย กลุ่มเอ็นจีโอ ผู้รักสิทธิเสรีภาพ เห็นว่านายกฯลุงตู่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ม.44 ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือใช้อำนาจเกินความจำเป็น เหล่านี้คือปัญหาที่น่าจะเป็นสาเหตุให้นายกฯลุงตู่ สูญเสียกองหนุนหรือแนวร่วมในขณะนี้ อันเป็นเสียงสะท้อนจากสังคม แต่ก็ยังไม่สายครับถ้าเสนาธิการทางการเมืองจะนำไปปรับแก้ และถ้าได้ทำตามคำอวยพรของป๋าเปรมคือดำรงความมุ่งหมายที่จะคืนความสุขและปฏิรูปประเทศ ทำให้ประชาชนเห็นความจริงใจและทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี กองหนุนหรือแนวร่วมก็จะกลับมานายกฯลุงตู่ก็อาจเดินตามรอยป๋าเปรมได้ คนไทยรักคนจริงใจและคนดีครับ นายกฯลุงตู่ยังเป็นทางเลือกทางรอดของบ้านเมืองได้ครับ ........................ คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน /หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3334 ระหว่างวันที่ 25-27 ม.ค.2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9
related