svasdssvasds

สิ้นแล้ว! "เจ้าอาวาสวัดท่าซุง" ศิษย์เอกหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

สิ้นแล้ว! "เจ้าอาวาสวัดท่าซุง" ศิษย์เอกหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ศิษย์เอกหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เจ้าอาวาสวัดท่าซุง องค์ที่ 7 มรณภาพแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 04.49 น. ด้วยอาการอาพาธ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์

วันนี้( 11 ก.พ.) คณะผู้ดูแลพระราชภาวนาโกศล (อนันต์พทฺธญาโณ) เจ้าอาวาสวัดจันทราราม หรือวัดท่าซุง หมู่ 2 ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี เปิดเผยกับลูกศิษย์ ว่า หลวงพ่อได้มรณภาพลงแล้วด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 04.49 น. ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ภายหลังเข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการอาพาธ มานานหลายเดือนโดยความดันโลหิตได้ตกลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพระราชภาวนาโกศล เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าซุง เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยเป็นเจ้าอาวาส องค์ที่ 7 ต่อจากพระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) หรือ หลวงพ่อฤาษี ลิงดำ เกจิชื่อดังมีลูกศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ ซึ่งพระราชภาวนาโกศล ถือเป็นพระนักพัฒนาคนและเป็นผู้สืบสานเผยแพร่ศาสนาและหลักธรรมคำสอนของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือที่รู้จักกันดีว่า “มโนยิทธิ” ให้ประชาชนได้เข้าวัดปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมากมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศ และยังเป็นพระนักพัฒนา ให้วัดท่าซุงจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจ.อุทัยธานี ได้แก่ วิหารแก้ว 100 เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสังขารหลวงพ่อฤาษี ลิงดำภายในยังมีองค์หลวงพ่อพุทธชินราชจำลองที่สร้างด้วยทองคำแท้ และยังมีประสาททองคำ ทั้งนี้ พระราชภาวนาโกศล เกิดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2491 รวมอายุ 69 ปี 7 เดือน

ประวัติ ท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล

นายรอด มารดา นางจำรัส เสนสกุล มีบุตรธิดารวม ๕ คน ดังนี้

๑. พระครูปลัดอนันต์ เสนสกุล

๒. นายวิมล เสนสกุล

๓. น.ส.ราตรี เสนสกุล

๔. นายวิจิตร เสนสกุล

๕. นายวิจารณ์ เสนสกุล

อุปสมบทเมื่อปี ๒๕๑๖ ขณะมีอายุ ๒๕ ปี ณ วัดปากคลองปลากด อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ออกพรรษาแล้วมาอยู่วัดท่าซุง ได้รับตำแหน่ง พระครูปลัด เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2535

 

คติธรรมที่ประทับใจเป็นที่สุด

"สูทั้งหลาย จงมาดูโลกอันตระการดุจราชรถ ที่คนเขลายังหมกอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องอยู่ไม่"

เลื่อมใสปฏิปทาหลวงพ่อเป็นที่สุด

"ชอบใจว่าท่านเป็นผู้ที่พูดได้ และปฏิบัติของท่านเองได้"

เสียใจที่สุด

"คือวันที่หลวงพ่อจากไป เรายังไม่ได้มรรคผลอะไร"

ระหว่างเป็นเจ้าอาวาส

"ดีใจที่ได้รับใช้พระพุทธเจ้า รับใช้พระพุทธศาสนา"

ประวัติจากหนังสือ "ที่ระลึกงานกตัญญูกตเวทิตามงคล"

ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ เกิดวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด เป็นบุตรคนแรกของ นายรอด และ นางจำรัส เสนสกุล มีน้องชาย ๓ คน และน้องสาว ๑ คน

ท่านเกิดที่บ้านเลขที่ ๑๐๑ หมู่ ๓ ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ต่อมาทางกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำทะเบียนราษฎร์และเขตปกครองขึ้นใหม่ บ้านเดิมที่เกิดจึงเปลี่ยนบ้านเลขที่และเขตปกครองใหม่ เป็นบ้านเลขที่ ๑๓๖ หมู่ ๘ ต.โคกหม้อ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ๖๐๑๒๐ ซึ่งในปัจจุบันโยมแม่จำรัส และน้องสาวของท่านยังอยู่ที่บ้านนี้

โยมแม่ของท่านเล่าว่า ท่านพระครูฯ เป็นคนขยัน สะอาดเรียบร้อยมาตั้งแต่เด็ก รู้เรื่องรู้ราว ไม่อ้อน ไม่โกง สมัยอายุ ๕ ขวบ แม่ไปทำนาก็รู้จักหิ้วน้ำหิ้วหมากไปส่ง แล้วบอกว่า “แม่กินหมากกินน้ำหน่อย” งานที่ไม่ชอบคือไกวเปลน้อง

เริ่มเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดปากคลองปลากดนอก เมื่ออายุ ๗ ขวบ จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ไปโรงเรียนวัดปากคลองปลากดนอก ก็เดินไปจากบ้าน แล้วไปลงเรือจ้างข้ามฟาก เพราะโรงเรียนอยู่คนละฝั่งกับบ้าน ริมแม่น้ำน่าน คนแจวเรือชื่อ "ตาอ๋อย" นิสัยโอบอ้อมอารีของท่านพระครูฯ มีมาแต่เด็กเหมือนกัน เมื่อลงเรือแล้วก็ช่วยเกาะหัวเรือไม่ให้เรือถอยออกจากฝั่ง คนอื่น ๆ จะได้ลงได้

ตั้งแต่เล็กจนโต ท่านพระครูฯ ไม่เคยโดนโยมแม่ตี น้อง ๆ โดนตีทุกคน โยมพ่อใจดี ไม่เคยตีใครสักคน อย่างมากก็เสียงดัง ถ้าโยมแม่ตีลูก โยมพ่อจะน้อยใจไม่กินข้าว ถึงรุ่นหลาน โยมพ่อก็ยังห้ามตี ถ้าตีหลานโยมพ่อจะไม่กินข้าวเหมือนกัน

ท่านพระครูฯ เรียนหนังสือเก่ง โยมแม่เล่าว่า “ทั้งห้องเด่นกว่าเขาหมด น้องชายคนรองและน้องสาวคนที่สามไม่ชอบเรียนหนังสือ พอจบชั้นประถม ๔ ก็ออกไถนากันหมด บอกว่าเลี้ยงควายดีกว่า” ส่วนท่านพระครูฯ เมื่อจบชั้นประถมปีที่ ๔ ก็ย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนสหวิทยานุสรณ์ ในอำเภอชุมแสง ซึ่งพึ่งเปิดสอนปีแรกข้างวัดแสงธรรม

โดยไปอาศัยอยู่กับอาได้ ๒ ปี โยมพ่อก็พาไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณพระชินวงศ์เวที วัดแสงธรรม (ท่านเจ้าคุณพระชินวงศ์เวที อยู่วัดราชบพิธ เป็นครั้งคราว) เป็นลูกศิษย์พระ เย็นก็เล่นฟุตบอลทุกวันจนได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมโรงเรียน

โยมแม่เล่าว่า ท่านพระครูฯ ท่านเด่นเอี่ยมอ่องมาตั้งแต่แรก ไม่เหมือนพี่เหมือนน้อง เสี้อผ้าต้องเอี่ยม ไม่ซื้อเสื้อโหล ต้องตัด มี ๒ ชุด ก็ไม่เป็นไร เหล้ายาไม่กิน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โยมพ่ออยากให้ลูกเรียนสูง ๆ จะได้ไม่ลำบาก ใน ๓ หมู่บ้าน คือ หมู่ ๑ หมู่ ๒ และหมู่ ๓ มีท่านไปเรียนอยู่คนเดียว

ท่านพระครูฯ จบชั้นมัธยมปีที่ ๖ (กระทรวงศึกษาธิการเริ่มเปิดมัธยมศึกษา ปีที่ ๓ ปีแรก ) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ตอนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๖ บ้านถูกโจรปล้นครั้งที่ ๒ ตอนนั้นเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว คิดจะยิงสู้กับโจร ค่อย ๆ คลานไปหาโยมพ่อแล้วกระซิบว่า “พ่อ ๆ ส่งปืนมา” โยมพ่อกดหัวให้ติดพื้นไว้ ไม่ให้สู้

เนื่องจากปู่ย่าตายาย ท่านเป็นคนทำมาหากินสุจริต ขยัน มีที่ทางมากพอสมควร จึงมีฐานะดีกว่าคนอื่น ลูกหลานแต่งงาน ยายจะแจกควาย ๑ ตัว ไถ ๑ งอน จึงเป็นที่หมายตาของโจร (บ้านท่านถูกปล้น ๔ ครั้ง) ลูกหลานเกรงว่ายายจะไม่ปลอดภัย หลังจากถูกปล้นครั้งที่ ๒ จึงให้ย้ายไปอยู่ในตลาดบางปลากด

เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้ว ท่านพระครูฯ ก็กลับมาอยู่ช่วยบ้าน ช่วยทำไร่ไถนามา ๒ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ ก็ไปสอบเข้าตำรวจ สอบข้อเขียนได้แต่ไปตกตรวจสุขภาพ เนื่องจากตาบอดสี เพื่อน ๆ ที่เป็นนักฟุตบอลเขตก็มาชวนไปเรียนวิทยาลัยครู ท่านบอกว่าไม่เอาแล้ว เพราะพื้นฐานการศึกษาไม่ได้ และห่างมานาน แต่อีกใจหนึ่งก็อยากเรียนหนังสืออยู่ เพราะอยากให้พ่อแม่สบาย

เมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้วเพื่อนฝูงก็มากขึ้น รวมทั้งเพื่อนที่เป็นมือปืนด้วย เมื่อคบมือปืน บ้านก็ปลอดภัย แต่ท่านบอกว่าไม่ได้ไปปล้นกับเขานะ ยังทำนา ทำไร่ ทำสวน ในที่ ๑๐๐ ไร่เศษของโยมพ่อโยมแม่ ความอยากให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ให้พ่อแม่ได้สบาย

ทำให้ท่านครุ่นคิดพิจารณาถึงการพัฒนาชีวิตมาก หน้าน้ำน้ำท่วม สูง ๒ เมตร แทบทุกปี ความอยากจะพัฒนามันสะสมก็ทำไม่ได้ เพราะดินฟ้าอากาศไม่ได้อำนวยอย่างต้องการ ก็ทนกันไป เคยปรารภกับโยมพ่อว่า ถ้าลงทุนทำนาตั้งแต่จ้างรถไถ ๓ รอบ ๔ รอบ ฝนจะตกเมื่อไรก็ไม่รู้ จะหว่านข้าว จะเกี่ยวข้าว ก็ต้องจ้างหมด ทำไปแล้วเงินที่ลงทุนไปกับข้าวที่ขายได้ก็เท่ากัน อย่างนี้ต้องจนทั้งชาติ โยมพ่อก็บอกว่า “ถ้าคิดอย่างมึงก็ไม่ต้องทำมาหากิน”

พออายุ ๒๑ ปี ก็ไปเกณฑ์ทหาร กำนันมาขูดรีดแต่ก็ไม่ยอมให้ ไปให้เขาคัดเลือกตามระเบียบจนผ่านพ้นมา ก็กลับมาทำนาต่ออีก ๓ - ๔ ปี พอถึงอายุ ๒๔ ปี คืนหนึ่งฝันไม่ดี ฝันว่าไฟไหม้ มีคนบอกว่าให้แก้ฝันกับน้ำ ให้หนักเป็นเบา ท่านตัดสินใจว่า ๒ เดือนนี้จะไม่ไปไหน กำลังทำนาอยู่ เพื่อนก็มาเรียกชวนไปเที่ยว เขาทำบุญ ๑๐๐ วันงานศพ ก็บอกว่าไม่ไป เพื่อนก็คะยั้นคะยอว่า ไปเถอะ ไปเอาเสื้อบ้านกู ก็ไปกับเขา ไปเอาเสื้อใส่ไปเที่ยว

ที่งานนั้นมือปืนมารวมญาติกันเลย มีการละเล่น มีรำวง พวกเราคนหนึ่งเรียกให้คนที่นั่นไปซื้อเหล้า แล้วเอามีดแทงเลย ตอนนี้ชุลมุนไปหมด ยิงกันอย่างในหนัง พวกถูกแทงไส้ไหลตายไป ๓ ศพ ท่านรีบไปบอกกับพ่อคนตายว่า “อย่าเอาผมไปเข้ากับพวกหาเรื่องนั่นนะ เดี๋ยวประวัติผมเสีย” เขาก็รับปาก

แต่พอกำนันมา กำนันจดชื่อทุกคนไปบอกตำรวจหมด ตอนนี้ก็มีการขู่จากพวกที่ตาย 3 ศพว่า ถ้าใครถูกจับ บ้านต้องถูกระเบิดหมด ท่านก็หนีเข้าป่า โยมพ่อตามไปส่งข้าวอยู่ ๒ วัน หลักจากนั้นก็หนีไปอยู่กับญาติที่โคกสำโรง จ.ลพบุรี อยู่ไม่ถึง ๒๐ วัน ก็ขึ้นรถ บขส.กลับบ้าน พบพวกมือปืนอีก ก็ชวนกันไปอีก เสื้อผ้าหายหมด ก็ไปกับเขา

หลังจากนั้นก็กลับมาบ้านทำมาหากิน ไม่มีเรื่องอะไร คุยกับบ้านคนตายก็ไม่มีปัญหาอะไร เราหากินโดยสุจริต แต่ความคิดอยากมีฐานะตั้งตัวได้ อยากพัฒนายังฝังใจอยู่ ท่านเล่าว่า “จะไปชอบผู้หญิงก็ไม่มีสวรรค์จะให้เขา ไม่มีความรู้ ไม่มีเงิน” ตอนนั้นอายุ ๒๕ ปี เห็นเข้าบวชกันมาก กลัวแม่จะเสียใจก็บอกแม่ว่า “บวชแล้วผมไม่สึกนะแม่” โยมแม่ก็โมทนา เมื่อถูกน้องสาวแซวเรื่องบวช ท่านก็บอกว่า “ถ้ากูบวช มีงอย่ามาแค่นให้กูสึกเชียวนะ กูบวชแล้วกูไม่สึก”

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก http://www.watthasung.com/home.php

related