svasdssvasds

ถกข่าว เล่าหนัง ปรากฏการณ์เสือดำเขย่าโลก!

ถกข่าว เล่าหนัง ปรากฏการณ์เสือดำเขย่าโลก!

ช่วงนี้ เสือดำยังมาแรงต่อเนื่องครับ เสือดำที่เป็นข่าวโด่งดังประจำเมืองไทย ก็คือการตายของเสือดำแห่งทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งกลายเป็นหนังชีวิตเรื่องยาว มีพล็อตหักมุม จนนักอนุรักษ์และผู้คนทั่วไปต้องติดตามอย่างไม่กระพริบตา ไม่ให้กลายเป็นมวยล้มต้มคนดูเหมือนอีกหลายกรณี

ถกข่าว เล่าหนัง ภาณุพงษ์ ทินกร

ส่วนในวงการภาพยนตร์ ก็มีเสือดำอีกตัวหนึ่งสร้างปรากฏการณ์ร้อนแรงขึ้นทั้งในอเมริกาและไทย เสือดำตัวนี้ไม่ใช่เสือดำธรรมดา แต่มีบรรดาศักดิ์เป็นถึงกษัตริย์ของประเทศวากันดา ใช่แล้วครับ เสือดำที่กำลังพูดถึงคือฝ่าบาททีชาล่าในภาพยนตร์เรื่อง แบล็กแพนเธอร์นั่นเอง

ภาพยนตร์เรื่องแบล็กแพนเธอร์ เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 18 ของอาณาจักรซูเปอร์ฮีโร่อันยิ่งใหญ่ของมาร์เวล เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สุดสัปดาห์ที่เปิดฉายในอเมริกาไปได้ถึง 192 ล้านเหรียญหรือ 5,952 ล้านบาท และอาทิตย์ต่อมาก็ยังร้อนแรงไม่หยุด ติดอันดับ 1 ของบ็อกซ์ออฟฟิศอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเลขรายได้ 400 ล้านเหรียญ หรือ 12,400 ล้านบาท เฉพาะในบ้าน ส่วนรายได้จากทั่วโลก Black Panther ก็กวาดรายได้ไปได้มากกว่า 361 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10,830 ล้านบาท ยังไม่รวมประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่อันดับสองของโลก ที่หนังมีกำหนดจะเข้าฉายในวันที่ 9 มีนาคม

สร้างหนังเรื่องเดียวซื้อเรือดำน้ำได้เป็นฝูงเลย แถมนาฬิกาอีกหลายเรือนด้วยเอ้า!

เรื่องราวของแบล็กแพนเธอร์โดยย่อ เป็นเรื่องราวการก้าวขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ทีชาล่า ที่ต้องดูแลประเทศวากันด้า ประเทศเดียวในโลกที่เต็มไปด้วยแร่ไวเบรเนียมทรงคุณค่า จนกษัตริย์องค์ก่อนๆ กลัวจะถูกโลกภายนอกเข้ามาแย่งชิง จึงปิดประเทศ อำพรางด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีให้เห็นว่าเป็นประเทศจนๆ อีกประเทศของแอฟริกา แต่การเข้ามาแย่งชิงบัลลังก์ของเชื้อพระวงศ์นอกรีตอีกคนอย่างคิลมองเกอร์ ทำให้สถานการณ์ของทีชาล่าและประเทศวากันด้าตกอยู่ในอันตราย รู้แค่นี้พอ แล้วไปชมที่เหลือในโรงภาพยนตร์จะได้อรรถรสกว่านะครับ

หนังดีไหม หนังดีครับ มีเรื่องราวน่าจดจำและความลึกซึ้งในเรื่องราวมากกว่าสไปเดอร์แมน โฮมคัมมิ่งเสียอีก ถ้าจะให้คะแนนน่าจะได้สัก 8 เต็ม 10

ในหนังมีการนำเสนอแนวคิด Afro-Futurism ซึ่งเป็นแนวคิดหลอมรวมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ล้ำยุคต่างๆ เข้ากับวัฒนธรรมและความเชื่อพื้นถิ่นแอฟริกัน เป็นจินตนาการโลกของคนดำที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างเสรีปราศจากคนขาวที่เชื่อว่าตัวเองเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่น เหนือจากอคติต่างๆ

ฌอน คิงก์ นักเขียน และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิพลเมือง เขียนในบทความไว้ว่า แบล็กแพนเธอร์ถือเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ของฮอลลีวู้ดเรื่องแรกที่ให้ภาพอันน่าตื่นเต้นและงดงามของคนดำในแอฟริกาที่ปราศจาการตกเป็นอาณานิคมของคนขาว และปรากฏการณ์ความสำเร็จของแบล็กแพนเธอร์นี้เปรียบได้กับสุนทรพจน์ “I Have a Dream” ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หรือการที่บารัค โอบามาได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เกิดกระแสคนผิวดำในอเมริกาหลั่งไหลเข้าไปอุดหนุนหนังที่เชิดชูความเป็นคนผิวสีของพวกเขาอย่างเนืองแน่น จนทุบสถิติหนังซูเปอร์ฮีโร่ด้วยกันเองและลามไปยังหนังบล็อกบัสเตอร์ในจักรวาลอื่นๆ อย่างเช่น สตาร์วอร์ส ภาค 8 เดอะ ลาส เจไดเองก็ไม่รอด สถิติรายได้ในบ้านโดนทำลายไปเรียบร้อย

ศาสตราจารย์ ดาร์เนลล์ ฮันต์ จาก UCLA ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน เปิดเผยว่า เรื่องเชื้อชาติและผิวสีมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ และผลสำรวจพบว่าคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกากว่า 74% ระบุว่ามีแผนจะไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ในขณะที่คนผิวขาว 49% แนวโน้มจะไปชมภาพยนตร์ของมาร์เวลอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร

ความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ตัวเองอย่างแท้ทรูนั้นมีมากแค่ไหน ก็ลองดูชุดที่พวกเขายังแต่งตัวกันไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้สิครับ

ถกข่าว เล่าหนัง ปรากฏการณ์เสือดำเขย่าโลก!

เทรนด์การแต่งตัวชุดพื้นเมือง และชุดพื้นเมืองประยุกต์ตามแบบแอฟริกันไปชมภาพยนตร์ กลายเป็นกระแสลุกลามไปทั่วสหรัฐ และยังมีการถ่ายรูปมาอวดกันให้ทั่วโซเชียล ทั้งในสแนปแช็ต เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ จนดูเหมือนการไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเฉลิมฉลองย่อมๆ ของชาวแอฟริกัน-อเมริกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ก็เนื่องจากแบล็กแพนเธอร์เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวลที่มีดารานำแสดงเกือบทั้งหมดเป็นคนผิวดำ ทีมงานส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ และผู้กำกับอย่าง ไรอัน คูกเลอร์ ผู้กำกับหนุ่มวัย 31 ปีที่กำกับหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 3 ต่อจาก “Fruitvale Station” และ “Creed” ก็เป็นคนผิวดำ จึงถ่ายทอดวัฒนธรรมและความเป็นแอฟริกันลงในหนังได้อย่างไม่ขัดเขิน และยังมีการใส่ประเด็นทางสังคมลง

ไปอย่างถูกใจผู้ชม เช่นประเด็นการกดขี่คนผิวดำ การค้าทาส อคติของคนขาวที่มีต่อคนผิวดำ และสุดท้ายคือประเด็นสิทธิสตรี เพราะผู้หญิงในเรื่องนี้เก่งกาจพอๆ หรืออาจจะมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ ไม่เชื่อลองไปดูบทบาทของแม่กวางน้อยโอโคเย่ (มิโชนจากซีรีส์ดัง The Walking Dead) สิ

ประเด็นเหยียดผิวในระดับโลกนั้นรุนแรงแค่ไหน ดูได้จากการที่ ร้านเสื้อผ้าแบรนด์ H&M ถ่ายโปรโมตเสื้อคอลเล็กชั่นใหม่ ซึ่งหนึ่งในรูปที่เป็นประเด็น คือให้เด็กชายผิวดำคนหนึ่งใส่เสื้อฮู้ดสีเขียว โดยบนเสื้อสกรีนลายคำว่า “Coolest Monkey in the Jungle” หรือแปลเป็นไทยว่า “ลิงที่เจ๋งที่สุดในป่า” ทำให้หลายคนไม่พอใจ เข้าใจไปว่า H&M นั้นจงใจเหยียดสีผิว เพราะคำว่า “ลิง” นั้น คนผิวขาวไว้เรียกเหยียดคนแอฟริกันมาตั้งแต่ยุคค้าทาส จนในที่สุด H&M ก็โดนพังร้านยับถึง 17 แห่งที่แอฟริกาใต้ แทบจะปิดกิจการกลับบ้านกันเลยและแม้ว่าอเมริกาจะพยายามประกาศตัวเองว่าเป็นประเทศปลอดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิว หรือเหยียดเพศ แต่ก็ไม่ใช่ว่าพลเมืองอเมริกันผิวขาวทั้งหมดจะคิดแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มเหยียดผิวหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นหลังการขึ้นครองอำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะนับเอาว่า ทรัมป์เป็น (คนเหยียดผิว) เช่นเดียวกับพวกตน!

ถกข่าว เล่าหนัง ปรากฏการณ์เสือดำเขย่าโลก!

หากจะมองไปยังประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ ไม่ต้องอื่นไกล แค่ในวงการฮอลลีวู้ดก็จะเห็นแล้วว่า ปัญหานี้ฝังลึกแค่ไหน เวทีมอบรางวัลใหญ่อย่างรางวัลออสการ์เองก็เคยโดนประเด็นเหยียดผิว หากจำกันได้ เคยมีแฮชแท็กเจ็บๆ อย่าง #OscarSoWhite แพร่หลายไปทั่วมาแล้ว เมื่อไม่มีนักแสดงหรือผู้กำกับผิวสีคนใดถูกเสนอชื่อในเวทีออสการ์ปีนั้นเลย

ย้อนกลับไปอีกไม่ใกล้ไม่ไกล เมื่อปี 1993 นี่เอง สมัยที่เดนเซล วอชิงตัน แสดงภาพยนตร์เรื่อง เดอะ เพลิแกน บรีฟ ผู้หญิงเสี้ยวมรณะ ร่วมกับจูเลีย รอเบิร์ตส์ ทั้งคู่ไม่มีฉากจูบกันแม้แต่ฉากเดียว แม้บรรยากาศในหนังจะเอื้อให้มีเลิฟซีนสุดๆ มีคนวงในฮอลลีวู้ดออกมาบอกไว้ว่า “สตูดิโอไม่ยอมให้มีการจูบกันระหว่างพระเอกผิวดำกับนางเอกผิวขาวหรอก คนดูวงกว้างยังรับไม่ได้”

แล้วถ้าจะพูดถึงหนังซูเปอร์ฮีโร่ด้วยกัน หนังฮีโร่ผิวสีในอดีตจริงๆ มีอยู่แต่ไม่กี่เรื่อง เช่น เบลด นำแสดงโดยเวสลีย์ สไนป์ แฮนค็อก นำแสดงโดย วิลล์ สมิธ นอกจากสองคนนี้แล้ว ฮีโร่ผิวสีที่ออกมาเดี่ยวๆ ไม่ได้ล้อมรอบไปด้วยคนผิวขาว แทบจะไม่มีให้เห็น หรือถ้าจะมีก็ต้องเป็นตัวสองตัวสาม มีคู่หูมาประกบ อย่างเช่นฟอลคอนในกัปตันอเมริกา เป็นต้น

ขนาดนิก ฟิวรี่ ผู้อำนวยการแห่ง S.H.I.E.L.D ของมาร์เวลเอง แต่ก่อนก็เป็นคนผิวขาว แต่พอแซมมวล แอล. แจ็คสัน จะมาสวมบทนิคไว้ดิบดีในภาพยนตร์ มาร์เวลจึงตัดสินใจยอมเปลี่ยนนิกเป็นคนผิวสีในตอนหลัง ทั้งในโลกภาพยนตร์และคอมมิคส์

หลังๆ มานี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราได้เห็น ลุค เคจ ฮีโร่ อบต. ผิวสีของมาร์เวลซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ เห็นแบล็ค ไลท์นิ่งของจักรวาลดีซีในซีรีส์ช่อง CW แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ “คนขาวนำ คนดำประกอบ”

ย้อนกลับมาที่ฝ่าบาททีชาล่าในแบล็กแพนเธอร์ หลังจากกระแสคนดูผิวดำแห่เข้าไปดูกันจนทำรายได้ถล่มทลาย หลังจากนี้เราจะได้เห็นภาพยนตร์ที่อุดมไปด้วยคนผิวดำมากขึ้นไหม คำตอบคือ ไม่ครับ

เพราะในกระบวนทัศน์ของสตูดิโอผู้สร้างหนัง สำหรับภาพยนตร์บล็อคบัสเตอร์ของคนผิวสีนั้น ถ้าไม่ได้ดาราระดับแม่เหล็กจริงๆ อย่าง วิลล์ สมิธ แดนเซล วอชิงตัน หรือเจมี่ ฟ็อกซ์ ที่สามารถแบกหนังไว้ได้คนเดียว หนังนั้นจะไม่ทำเงิน แม้ว่าบทความของวาไรตี้จะชี้ว่า ผู้ชมหรือนักดูหนังที่เป็นคนผิวดำหรือผู้หญิงกำลังเพิ่มมากขึ้น ดูได้จากความสำเร็จของวันเดอร์วูแมนและแบล็กแพนเธอร์ ผู้ชมเหล่านี้อยากเห็นตัวเองบนจอภาพยนตร์ ฮอลลีวู้ดเคยเชื่อเป็นทศวรรษว่าฐานคนดูหนังหลักโดยเฉพาะหนังแฟรนไชส์ที่เป็นหนังเทคนิคพิเศษทุนสูงคือวัยรุ่นชายผิวขาว หรือคนหนุ่มผิวขาว ที่เป็นพวกแฟนบอย เนิร์ด หรือกี๊ก แต่ความเชื่อนี้ควรเปลี่ยนไปได้แล้ว เพราะคนผิวดำและผู้หญิงก็พร้อมจะออกมาดูหนังเช่นกันหากหนังเรื่องนั้นเป็นตัวแทนของพวกเขา

แหล่งข่าวระดับสูงที่ไม่ประสงค์จะออกนาม เชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันในฮอลลีวู้ด ให้ความเห็นกับ “เดอะ วอชิงตัน โพสต์” ไว้ในทำนองที่ว่า ถึงแม้แบล็กแพนเธอร์จะทำเงินได้มากแค่ไหน แต่เขาไม่เชื่อว่า คนในห้องประชุมทีมงานของสตูดิโอและคณะกรรมการที่มีอำนาจไฟเขียวให้สร้างหนัง จะมองว่าควรจะเริ่มคิดถึงการทำหนังที่ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จที่ดารานำต้องเป็นคนขาวเท่านั้น กรณีของแบล็กแพนเธอร์เป็นแค่กรณียกเว้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องมีหนังแบบนี้อีกกี่เรื่อง พวกเขาถึงจะตระหนักถึงความจริงเรื่องนี้ได้เสียที

เกร็ดหนังแบล็กแพนเธอร์

1. เดิมทีลิขสิทธิ์ของแบล็กแพนเธอร์อยู่กับโคลัมเบียพิคเจอร์ส มีการเตรียมงานสร้างหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่ได้สร้างเสียทีจนปี 2005 ลิขสิทธิ์จึงกลับมาสู่มือของมาร์เวล

2. เวสลี่ย์ สไนป์ (Blade, Demolition Man, Passenger 57) เคยสนใจจะมารับบทนำของแบล็กแพนเธอร์ และสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เองกับโคลัมเบียช่วงต้นปี 1990 แต่ในที่สุดก็มารับบทเป็น Blade แวมไพร์ฮีโร่ของมาร์เวลในปี 1998 แทน แต่เขาก็ยังเก็บสคริปต์ไว้อย่างมีความหวัง จนเวลาผ่านไป และสไนป์แก่เกินกว่าจะรับบทแบล็กแพนเธอร์ได้ สไนป์ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่าสนับสนุนการตีความใหม่ของ ไรอัน คูกเลอร์ที่ไม่เหมือนกับเวอร์ชั่นของเขา “1,000%”

3. คำพูดของทีชาล่าในที่ทำการสหประชาชาติที่ว่า “แต่เมื่อถึงยามวิกฤติ คนฉลาดจะสร้างสะพาน ขณะที่คนเขลาจะสร้างกำแพง” (But in times of crisis the wise build bridges, while the foolish build barriers.) ประโยคนี้เหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เต็มๆ แต่ไรอัน คูกเลอร์ ผู้กำกับบอกว่า “นั่นเป็นสุภาษิตแอฟริกันที่ภรรยาของผมพบเข้าขณะที่เราคิดหาคำพูดกัน เราเขียนบทตรงนี้ขึ้นมาขณะที่โอบามาเป็นประธานาธิบดี”

4. แชควิค โบสแมน (ผู้รับบททีชาล่า) บอกว่า “จากที่ผมได้เรียนที่โฮเวิร์ด (มหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาผิวดำที่โด่งดังของอเมริกา) และประสบการณ์หลากหลายจากวัฒนธรรมของเรา ผมรู้เลยว่านี่คือโอกาสที่จะได้แสดงวัฒนธรรมแอฟริกันที่แท้จริงในหนัง ถ้าใครยังไม่เชื่อว่าที่แอฟริกามีดินแดนที่เป็นปึกแผ่น ไม่เชื่อว่ามีสถาปัตยกรรม ไม่เชื่อว่าจะมีศิลปะและวิทยาศาสตร์ คุณก็จะได้เห็นจากหนังเรื่องนี้แหละ”

5. CNN Money ประเมินค่าของทรัพย์สินของซูเปอร์ฮีโรแต่ละคน ซูเปอร์ฮีโร่ที่รวยที่สุดในโลกคือแบล็กแพนเธอร์ มีทรัพย์สินคือแร่ไวเบรเนียมหนัก 10,000 ตัน มูลค่า 90,700,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

6. นักแสดงผิวขาวหนึ่งในไม่กี่คนของเรื่องนี้อย่างมาร์ติน ฟรีแมน (รับบทเจ้าหน้าที่ CIA) ตอบคำถามที่ว่า รู้สึกยังไงเวลาเข้าฉากเป็นนักแสดงผิวขาวคนเดียวท่ามกลางนักแสดงผิวดำทั้งหมด เขาบอกว่า “คุณก็จะคิดว่า อ้อ นักแสดงผิวดำในหนังเรื่องอื่นคงรู้สึกแบบนี้ตลอดเวลาสินะ”

7. เวลาเตรียมเข้าฉาก ไมเคิล บี จอร์แดน ผู้รับบทคิลมองเกอร์จะแยกตัวไปอยู่คนเดียว เพราะตัวละครของเขาจะแปลกแยกและต้องมีปัญหากับตัวละครตัวอื่นตลอดเวลา

8. แบล็กแพนเธอร์คอมมิคส์ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1966 สองเดือนก่อนจะมีการก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหัวรุนแรงของคนผิวสีชื่อ พรรคเสือดำ (The Black Panther Party) ที่เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม จนหลายคนสับสนว่าตัวแบล็กแพนเธอร์เกี่ยวข้องกับพรรคเสือดำ สำนักพิมพ์จึงเปลี่ยนชื่อตัวละครเป็น แบล็กลีโอพาร์ด แต่ทั้งคนเขียนทั้งคนอ่านไม่ได้สนใจว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว (ให้สนุกก็พอ) เลยเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นแบล็กแพนเธอร์เหมือนเดิม

related