svasdssvasds

“ธปท.” แจง! ขาดทุน 9 แสนล้าน แค่ผลทางบัญชีย้ำ! ไม่ซ้ำรอยปี 40

“ธปท.” แจง! ขาดทุน 9 แสนล้าน แค่ผลทางบัญชีย้ำ! ไม่ซ้ำรอยปี 40

แบงก์ชาติ ชี้แจงผลขาดทุน 9 แสนล้านบาท ไม่ได้เก็งกำไรค่าเงิน เป็นเพียงผลขาดทุนทางบัญชี ขอประชาชนอย่าตกใจ ไม่เกิดเหตุซ้ำรอยวิกฤตปี 40แน่

จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol โพสต์ข้อความระบุว่า การที่ ธปท. มีผลขาดทุนในปี 2560 สูงถึง 9 แสนล้านบาท น่าจะมีสาเหตุมาจากการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินลอยตัว จึงทำให้ขาดทุนมหาศาลขนาดนี้ และเหตุการณ์แบบนี้อาจลุกลาม จนเกิดวิกฤติทางการเงินยิ่งกว่าปี 2540 ก็เป็นได้

ล่าสุด วันนี้(8พ.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า “อย่าตกใจเกินเหตุ กับผลขาดทุนของแบงก์ชาติ"

ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับผลขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ที่แชร์กันตาม social media อาจสร้างความตกใจให้กับผู้อ่าน เพราะมีข้อเท็จจริงและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหลายประการ แบงก์ชาติขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1.ธปท. ไม่ได้เก็งกำไรค่าเงิน เนื่องจาก ธปท. เข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินควร จนอาจเป็นผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง และเมื่อ ธปท. ซื้อเงินตราต่างประเทศแล้ว ก็บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศด้วยความรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว และเปิดเผยตัวเลขฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศทุกสัปดาห์

2.เงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในไทยจำนวนมาก ทั้งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงต่อเนื่องมาหลายปี และการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ

3.เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น จึงเกิดการขาดทุนจากการตีราคา (valuation loss) หรือ การขาดทุนทางบัญชี ในทางตรงข้าม เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง เงินสำรองฯ ที่ตีมูลค่าเป็นเงินบาทก็จะเพิ่มขึ้น (valuation gain) หรือมีกำไรทางบัญชี โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งขึ้น ธปท. ก็มักจะขาดทุนจากการตีราคา แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ค่าเงินอ่อนค่าลง ก็จะทำให้มีกำไรจากการตีราคาเช่นกัน

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2560 ธปท. มีเงินสำรองระหว่างประเทศรวมฐานะการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นหนึ่งบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ ธปท. จะขาดทุนจากการตีราคาทันที 2.4 แสนล้านบาท ในทางตรงกันข้าม ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงหนึ่งบาท ธปท. ก็จะมีกำไรจากการตีราคาทันที 2.4 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องทำอะไรเลย

4.เงินสำรองระหว่างประเทศต้องเก็บอยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยมีเงินตราต่างประเทศเพียงพอ สำหรับรองรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การไปลงทุนในต่างประเทศของคนไทย และเป็นกันชนรองรับการไหลออกของเงินทุน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ และปัจจุบัน เงินสำรองฯ ของไทยอยู่ในระดับมั่นคงเพียงพอ ต่างจากสถานการณ์ในช่วงปี 2540

5.เงินสำรองฯ ที่ ธปท. ซื้อเข้ามายังอยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศ ไม่ได้เสื่อมคุณภาพลงเมื่อเวลาผ่านไปเหมือนกับสินค้าเกษตรหรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่บทความนำไปเปรียบเทียบ มูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปของเงินบาทจะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงตามอัตราแลกเปลี่ยน การขาดทุนจากการตีราคาทางบัญชี ไม่ได้แปลว่าเงินสำรองฯ ที่ ธปท. ถืออยู่จะด้อยค่าลงเรื่อย ๆ จนสร้างปัญหาให้แก่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/bankofthailandofficial/posts/612478069101624

https://www.facebook.com/Paisal.Fanpage/posts/1626369844128348

related