svasdssvasds

“ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดลงมติชี้ขาดร่างกฎหมาย ส.ว. วันนี้

“ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดลงมติชี้ขาดร่างกฎหมาย ส.ว. วันนี้

ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติชี้ขาดร่างกฎหมาย ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ วันนี้

วันนี้(23พ.ค.)ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมเวลา 13.30 นาฬิกา เพื่อแถลงคำวินิจฉัยส่วนตนด้วยวาจา ก่อนปรึกษาหารือ และลงมติว่าร่างกฎหมายลูก ส.ว.มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามคำร้องที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 30 คน ยื่นให้ศาลวินิจฉัย โดยประเด็นที่สนช.ยื่นให้ศาลวินิจฉัยทั้งหมดอยู่ในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายลูก ส.ว. ที่กำหนดให้ใช้กับการคัดเลือก ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ประกอบด้วย (กราฟิก)  1.ให้ ส.ว.มาจากกลุ่มสังคม 10 กลุ่ม จากเดิม กรธ.กำหนด 20 กลุ่ม  2.วิธีการสมัครที่แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การสมัครด้วยตนเองกับการสมัครด้วยการแนะนำจากองค์กร และ 3.วิธีการเลือกในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ให้ผู้สมัครแต่ละประเภทแยกกันเลือกเป็นบัญชี 2 ประเภท ซึ่งเนื้อหาดังกล่าว กรธ.เห็นว่าทำให้ผลการเลือกไม่ใช่การเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครทั้งหมด  เพราะเป็นการแบ่งโควตาระหว่างผู้สมัครอิสระกับองค์กรแนะนำ ซึ่งการให้องค์กรเป็นผู้กลั่นกรองก่อนนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกสมัครได้อย่างเสรีทุกกลุ่ม จึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์มาตรา 107  ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งให้ผู้สมัครเลือกกันอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎเดียวกัน และไม่ได้มุ่งหมายให้แยก ประเภท จึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ร้องเรียนภายหลังจะทำให้การเลือกวุฒิสภาต้องเสียไปทั้งหมด

ทั้งนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวว่า หากวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายลูก ส.ว.มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็จะใช้เวลาแก้ไขเพียง 1 สัปดาห์ เพราะจะแก้เฉพาะประเด็นที่ศาลเห็นว่าขัดเท่านั้น และหาก สนช.ใช้วิธีการพิจารณา 3 วาระรวด การแก้ไขกฎหมาย ส.ว.ก็ไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 3 สัปดาห์ จึงเชื่อว่าไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอภิปรายคำร้อง ของสมาชิก สนช.ที่ยื่นให้ศาลวินิจฉัยร่างกฎหมายลูก ส.ส.   ใน 2 ประเด็น คือ มาตรา 35 (4) (5) การตัดสิทธิ์เป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปเลือกตั้ง เนื่องจาก กรธ.เห็นว่าผู้ใดจะเข้ารับตำแหน่งไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นเสรีภาพ จึงกังวลว่าการเขียนแบบนี้จะเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิ ตามมาตรา 95 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ

และมาตรา 92 วรรค 1 การให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนแทนผู้พิการ และให้ถือเป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ เรื่องนี้ กรธ.กังวลว่าจะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส.มาจากการลงคะแนนโดยตรงและลับ

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีวาระอภิปรายคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยที่ขอให้ศาลวินิจฉัย คำสั่ง คสช.ที่ 53/ 2560 ว่ามีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากพรรคการเมืองเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเพิ่มภาระและจำกัดเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร และยังเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 25 26 27 และมาตรา 45 หรือไม่  ทั้งนี้ หลังการอภิปรายทั้ง 2 เรื่องนี้แล้ว ศาลจะนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติต่อไป

 

related