svasdssvasds

ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ พรบ.ที่มาส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107

ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ พรบ.ที่มาส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ว่า ร่างกฎหมายลูก ส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะใช้บังคับในวาระเริ่มแรกเท่านั้น รอลุ้นวินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ส. ต่อวันที่ 30 พฤษภาคมนี้

ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง วินิจฉัยคำร้องของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ให้ชี้ขาดว่าเนื้อหาในบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ในประเด็น ที่ให้ ส.ว.มาจากกลุ่มสังคม 10 กลุ่ม จากเดิม กรธ.กำหนด 20 กลุ่ม 2.วิธีการสมัครที่แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การสมัครด้วยตนเองกับการสมัครด้วยการแนะนำจากองค์กร และ 3.วิธีการเลือกในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ให้ผู้สมัครแต่ละประเภทแยกกันเลือกเป็นบัญชี 2 ประเภท นั้น ก็มีมติเอกฉันท์เห็นว่า เนื้อหาดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเพียงบทเฉพาะกาลใช้ในวาระเริ่มแรกเท่านั้น ทั้งยังเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 107 จึงไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดแถลงด้วยวาจาและนัดลงมติวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 30 พฤษภาคม ตามคำร้องของ สนช.ที่ให้วินิจฉัย ใน 2 ประเด็น คือ มาตรา 35 (4) (5) การตัดสิทธิ์เป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปเลือกตั้ง เนื่องจาก กรธ.เห็นว่าผู้ใดจะเข้ารับตำแหน่งไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นเสรีภาพ จึงกังวลว่าการเขียนแบบนี้จะเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิ ตามมาตรา 95 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ

และมาตรา 92 วรรค 1 การให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนแทนผู้พิการ และให้ถือเป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ เรื่องนี้ กรธ.กังวลว่าจะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส.มาจากการลงคะแนนโดยตรงและลับ

ส่วนคำร้องของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้วินิจฉัยคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอใช้เวลาอภิปรายต่อในวันที่ 30 พฤษภาคม เนื่องจากพึ่งได้รับความเห็นและข้อมูลเพิ่มจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือเพิ่มเติม และคาดว่าหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นจะนัดวันลงมติต่อไป

related