svasdssvasds

6 สมุนไพรไทย "ไล่ยุง"

6 สมุนไพรไทย "ไล่ยุง"

แพทย์แผนไทยแนะนำสมุนไพรใกล้ตัว หาง่าย ใช้สะดวก ป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมแนะวิธีการทำสเปรย์กันยุงใช้เองในครัวเรือนอย่างง่าย ๆ ย้ำป้องกันก่อนป่วยดีที่สุด

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงนี้ฝนจะตกชุกทำให้เกิดน้ำขัง เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้นมักเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (dengue virus) ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ในช่วงเวลาประมาณ 3-15 วัน หลังรับเชื้อ ทางที่ดีสุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งการป้องกันมีด้วยกันหลายวิธี เช่น ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด ใช้ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะขังน้ำ ทำบริเวณรอบบ้านให้สะอาด ไม่มีมุมอับทึบ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอีกหนึ่งวิธีป้องกันยุงกัด คือ การใช้สมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด

6 สมุนไพรไทย "ไล่ยุง"

ขอแนะนำสมุนไพรใกล้ตัว เป็นที่รู้จัก และมีปลูกกันในบริเวณรั้วบ้านและในชุมชนที่มีสรรพคุณ ช่วยไล่ยุง สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ได้แก่ ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ผิวมะกรูด ผิวส้ม โหระพา และสะระแหน่

เนื่องจากสมุนไพรดังกล่าว มีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ไล่ยุง เช่น น้ำมันหอมระเหยจากการบูร  ยูคาลิปตัส, ตะไคร้หอม, ใบมะกรูด วิธีการนำมาใช้แบบโบราณพื้นบ้าน เพียงแค่นำสมุนไพรที่กล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งมาทุบหรือขยี้ ๆ แล้วนำไปวางบริเวณมุมอับ ก็จะสามารถช่วยไล่ยุงได้ นอกจากนี้ สามารถทำเป็นสเปรย์ตะไคร้หอมเก็บไว้ใช้ในช่วงหน้าฝนได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • หั่นตะไคร้หอมเป็นชิ้นเล็ก ๆ ห่อด้วยผ้าขาวบาง
  • หั่นผิวมะกรูดเล็ก ๆ ประมาณ 50 กรัม ห่อด้วยผ้าขาวบางเหมือน ตะไคร้หอม
  • นำห่อตะไคร้หอม และห่อผิวมะกรูดใส่ลงในโหลแก้ว
  • นำแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์) 1 ลิตร เทใส่โหลแก้ว
  • ใส่การบูร 10 กรัม ปิดฝาให้แน่น หมักไว้ 7 วัน ระหว่างที่หมักต้องเขย่าโหลแก้ว ทุกวัน เมื่อครบกำหนด นำมาบรรจุขวดสเปรย์ และเขียนฉลากติดข้างขวดไว้ว่าสเปรย์สมุนไพรกันยุง เพื่อความปลอดภัย ใช้ฉีดไล่ยุงตามมุมอับต่าง ๆ ภายในบ้าน หรือหากท่านที่ไม่มีเวลาทำใช้เอง สามารถ  หาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป

 

นอกจากใช้สมุนไพรไล่ยุงเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว ก็ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มียุงชุกชุม หากต้องเข้าไปในป่า ควรทายากันยุงและสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีทึบ หากมีอาการไข้สูง โดยไม่มีอาการไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกไหลร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจหาโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะหากพบในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มี การระบาดของโรคไข้เลือดออก