svasdssvasds

ลงทุนเกาหลีเหนือ โอกาสทอง หรือกับดักการเงิน

ลงทุนเกาหลีเหนือ โอกาสทอง หรือกับดักการเงิน

การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ผ่านไปอย่างชื่นมื่น นายโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่าประสบความสำเร็จ จนมีบางกระแสมองว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเปิดประเทศเกาหลีเหนือ สู่การลงทุนต่างชาติ แต่จะคุ้มค่าจริงหรือไม่นั้น เราไปวิเคราะห์กัน

คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ อาจกำลังสนใจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง ตึกระฟ้า หากต้องแลกกับการละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์​ ตามความต้องการของประชาคมโลก

ผู้ประกอบการบางคนมองว่า เกาหลีเหนืออุดมด้วยแร่ล้ำค่า แรงงานราคาต่ำ และความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ดังนั้น การลงทุนในเกาหลีเหนือนั้น มีศักยภาพสูงมาก

แต่หากพิจารณาจากประวัติที่แล้วมา ที่บริษัทต่างชาติ พยายามเข้าไปทำธุรกิจในเกาหลีเหนือ ประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวอย่างหนักนั้น จะสังเกตว่า ไม่มีบริษัทใดที่ประสบความสำเร็จ ซ้ำร้ายยังจบไม่สวยด้วย เพราะรัฐบาลเกาหลีเหนือมักเปลี่ยนตามอารมณ์ของผู้นำ ไม่เคยชำระเงินที่สัญญาไว้ ทำให้นักลงทุนรู้สึกเหมือนก้าวเข้ามาสู่โลกการลงทุนที่คาดเดาอนาคตได้ยาก

ลงทุนเกาหลีเหนือ โอกาสทอง หรือกับดักการเงิน

สำหรับตอนนี้ มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ทำให้การจะลงทุนในเกาหลีเหนือ ต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายสิบข้อ ประการใหญ่ๆ คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สั่งห้ามการลงทุนร่วม ระหว่างบริษัทต่างชาติและบริษัทเกาหลีเหนือ ขณะที่ สหภาพยุโรปห้ามการโอนเงินมากกว่า 5 พันยูโร หรือประมาณ 1 แสน 9 หมื่นบาท ไม่เพียงเท่านั้น กฎหมายของสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารนานาชาติ ไม่สามารถไฟเขียวธุรกรรมทางการเงินใดๆ กับเกาหลีเหนือได้ จนแม้แต่องค์กรด้านมนุษยธรรม ยังหาเงินทุนสนับสนุนยาก เพราะธนาคารต่างๆ ไม่กล้าให้กู้ยืม

แต่แม้ข้อบังคับทางการเงินจะหมดไป จากการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร แต่ความท้าทายการลงทุนในเกาหลีเหนือยังมีอยู่ เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พัฒนา การคอร์รัปชันหยั่งลึก แหล่งข่าวทางการทูตระบุว่า เกาหลีเหนือไม่มีข้อกฎหมายที่คุ้มครองนักลงทุนได้มากพอ

บทเรียนด้านการลงทุนในเกาหลีเหนือ คือ กรณีที่บริษัทฮุนไดของเกาหลีใต้ ทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาภูเขาคึมกัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงรีสอร์ท สำหรับชาวเกาหลี แต่โครงการก็ต้องพับไป เพราะทหารเกาหลีเหนือยิงหญิงเกาหลีใต้ ที่เดินเข้าไปในเขตหวงห้ามจนเสียชีวิต

แล้วยังมี กรณีโครงการลงทุนร่วม นิคมอุตสาหกรรมแกซอง ที่เกาหลีใต้ใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกในเกาหลีเหนือ ก็ต้องปิดตัวลง เมื่อปี 2016 จากโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ลงทุนเกาหลีเหนือ โอกาสทอง หรือกับดักการเงิน

ลงทุนเกาหลีเหนือ โอกาสทอง หรือกับดักการเงิน

ส่วนบริษัทด้านโทรคมนาคมของอียิปต์ โอราสคอม ที่ลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จัดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือแห่งแรกในเกาหลีเหนือ ชื่อ โคเรียวลิงค์ แต่กลายเป็นว่า ท้ายสุดรัฐบาลเกาหลีเหนือก็จัดตั้งโครงข่ายของตัวเองขึ้นมาแข่ง ส่วนโอราสคอม ก็ไม่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนออกนอกประเทศได้

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกาหลีเหนือพยายามปฎิรูปเศรษฐกิจทีละน้อย เริ่มจากอนุญาติให้ภาคเอกชนเข้ามาทำการค้าอย่างไม่เป็นทางการได้ และให้เสรีภาพในการทำธุรกิจมากขึ้น จนอาจเรียกได้ว่า เกาหลีเหนือกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน คล้ายกับการปฎิรูปและเปิดประเทศของจีน ในสมัยอดีตประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยว ผิง ก็ว่าได้

บริษัทต่างชาติเอง เริ่มสนใจจะเข้าไปจับมือทำธุรกิจในเกาหลีเหนือมากขึ้น แต่เกาหลีเหนือยังไม่อ้าแขนรับโอกาสนี้อย่างเต็มที่ ยกเว้นรัฐบาลจีนเท่านั้น ที่จัดโครงการพาเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ ไปดูงานในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลด้านอุตสาหกรรมถ่านหิน เพื่อเป็นแบบอย่างการประกอบอุตสาหกรรมของตนเอง

ลงทุนเกาหลีเหนือ โอกาสทอง หรือกับดักการเงิน

แน่นอนว่า เกาหลีเหนือมีศักยภาพสูงดังที่กล่าวมา แต่แม้การคว่ำบาตรจะหายไป ก็ยังเป็นชาติเผด็จการ ที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้นำสูงสุดคิม จองอึน การจะทำธุรกิจ ก็เหมือนการพนันครั้งใหญ่ ที่ส่วนมากนั้น เจ้ามือจะเป็นผู้ชนะ

related