svasdssvasds

วางระบบติดตามน้ำหลาก พร้อมรับมือท่วม-ฝนทิ้งช่วงใกล้ชิด

วางระบบติดตามน้ำหลาก พร้อมรับมือท่วม-ฝนทิ้งช่วงใกล้ชิด

คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ถกประเมินสถานการณ์น้ำ ชี้แนวโน้มปริมาณฝนภาพรวมไม่น่าห่วง มั่นใจแผนเตรียมรับมือน้ำหลาก ย้ำไม่นิ่งนอนใจหลังมีสัญญาณฝนทิ้งช่วงเดือนกค. มอบทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องปรับแผนรับสถานการณ์ใกล้ชิด

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 16 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ถ.พิษณุโลก ว่า จากการรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์แนวโน้มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า สถานการณ์ฝนในปีนี้อยู่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยในช่วงเดือนมิ.ย. ฝนเริ่มลดลงและจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนก.ค. ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องจะมีการปรับแผนในการระบายน้ำเขื่อนต่างๆ ให้เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันพบว่าเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำที่ต่ำกว่า 30 % ของความจุอ่างฯ มีเพิ่มขึ้น ณ วันที่ 1 พ.ค.61 จาก 49 อ่างฯ ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 51 อ่างฯ โดยเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 5 อ่างฯ เป็นภาคเหนือ 2 อ่างฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 อ่าง ภาคกลาง 1 อ่างฯ และตะวันออก 1 อ่างฯ รวมถึงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ และเริ่มกลับมามีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมบริเวณชายแดนไทย-พม่า คือ ภาคเหนือและภาคอีสาน สำหรับการคาดการณ์พายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม หน่วยงานที่เกี่ยวกับการติดตามสภาวะอากาศจะติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น

จากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในภาพรวมขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำหลากจากฝนที่ตกเฉพาะพื้นที่ ทุกหน่วยงานได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะข้อสั่งการคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธาน ได้แก่

1. การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้ได้จัดทำแผนการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงประสบภัยจากน้ำหลาก ได้แก่ พื้นที่เทศบาล นครเชียงใหม่ โรงพยาบาลลานนา และตัวอำเภอสันกำแพง แผนการกำจัดวัชพืชกีดขวางทางน้ำแม่น้ำปิง ตรวจสอบอาคารควบคุมน้ำมีความพร้อมใช้งาน 56 แห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 33 จุด เป็นต้น

2. การแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากรับน้ำเข้าพื้นที่ ลุ่มต่ำเมื่อปีที่ผ่านมาให้ทันก่อนการรับน้ำหลาก โดยกรมชลประทานมีการวางแผนงานปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทุ่งรับน้ำ 13 ทุ่ง จำนวน 187 โครงการ ได้รับงบประมาณแล้ว 28 โครงการ กรมทางหลวงชนบท ดำเนินการแก้ไขผลกระทบ จำนวน 4 สายทาง ได้รับการแก้ไขแล้ว 1 สายทาง

3. การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ ณ จุดสำคัญ

4.การกำหนดผู้รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำและแผนปฏิบัติการ กรณีวิกฤติโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

5. บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในยามวิกฤติ โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเกิน 80 % ของความจุอ่างฯ ขณะนี้ลดลงเหลือเพียง 30 อ่างฯ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 1 พฤษภาคมที่มีอยู่จำนวน 60 อ่างฯ

6. ซ่อมแซมอาคารควบคุมน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และ เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และ 7.กำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกระบวนการติดตามบริหารจัดการน้ำหลาก จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สทนช. ได้กำหนดจุดติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมจัดตั้งเกณฑ์การเฝ้าระวังจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1.จุดเฝ้าระวังน้ำท่า โดยคัดเลือกสถานีตรวจวัดระดับน้ำ ตามสถิติการเกิดน้ำท่วมรายจังหวัด 96 แห่ง รวมถึงติดตามเฝ้าระวังสถานีตรวจวัดระดับน้ำที่มีการใช้แบบจำลองพยากรณ์ระดับน้ำ จำนวน 44 แห่ง

2. จุดเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ใน 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีนปราจีน–บางปะกง แม่กลอง

3. การเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม โดยใช้เกณฑ์ความเสี่ยงดินถล่ม ของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี แบ่งเป็น 2 กรณี จุดสีเขียว ถ้ามีปริมาณฝนตก มากกว่า 150 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมงให้เฝ้าระวังจุดดังกล่าว กรณีจุดสีม่วง ถ้ามีปริมาณฝนตกมากกว่า 180 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมง ให้เฝ้าระวังจุดดังกล่าว

ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดจะถูกประมวลมายังศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. ซึ่งจะรายงานต่อไปยังคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำและนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากมีแนวโน้มสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤต จะมีการยกระดับตั้งเป็นศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์ต่อไป โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์และการคาดการณ์ ผ่าน Application ต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบ Real time ด้วย

เพื่อสร้างการรับรู้มาตรการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลากล่วงหน้า ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ สทนช.เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการ บริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการลงพื้นที่สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำหลากในการเสวนาเรื่อง “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่” ซึ่งเป็นการต่อยอดงานที่จัดในส่วนกลางไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ด้วยจำนวน 4 ครั้ง ครั้งแรกจัดในภาคเหนือ วันที่ 29 มิถุนายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ครั้งที่ 3 จัดที่ภาคกลางในวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 จ.พระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด และ ครั้งที่ 4 ภาคใต้ในวันที่ 2 สิงหาคม 2561 จ.สงขลา ครอบคลุม 17 จังหวัด

related