svasdssvasds

7 วันช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง

7 วันช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง

ทีมข่าวสปริงนิวส์จะพาไปย้อนไทม์ไลน์ไล่ลำดับเหตุการณ์การช่วยเหลือผู้ช่วยโค้ชและทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่า ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

7 วันช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง

23 มิถุนายน 2561

ผู้ช่วยโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่ 13 คน ขับรถจักรยานยนต์และปั่นจักรยานไปเที่ยวถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

ต่อมากู้ภัยสยามรวมใจแม่สาย รับแจ้งจากหนึ่งในผู้ปกครองว่าบุตรหลานหายตัวไป ทราบเพียงว่าไปเที่ยวที่ถ้ำหลวงเท่านั้น

17.00 เจ้าหน้าที่พบรถจักยานยนต์ 1 คัน และรถจักรยาน 11 คัน จอดอยู่ข้างหน้าถ้ำ จึงเข้าค้นหาแต่ไม่พบ ขณะที่ฝนตกหนักน้ำภายในถ้ำขึ้นสูง

กระทั่งเวลา 03.00 น. วันที่ 24 มิถุนายน ชุดกู้ภัยศิริกรณ์ และสยามร่วมใจฯ รวม 22 คน เดินเท้าเข้าไปในถ้ำ พบกระเป๋าสะพาย รองเท้าแตะ และน้ำดื่ม ที่คาดว่าเป็นของเด็กๆ ที่ความลึก 4.5 กิโลเมตร

จากนั้นทีมนักประดา ได้ลำเลียงโทรศัพท์สนามและติดตั้งสัญญานโทรศัพท์ในถ้ำ แต่พบอุปสรรค คือ น้ำค่อนข้างขุ่น และไม่มีแสงไฟ โดยมี นายเวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ซึ่งเคยสำรวจถ้ำหลวงมาหลายครั้ง เป็นผู้นำทาง

ขณะที่กองทัพเรือ ส่งหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ ซีล 17 นาย บินตรงจากสัตหีบ เพื่อร่วมทีมค้นหาผู้สูญหาย โดยหน่วยซีลชุดหนึ่งพบร่องรอยของเด็กๆ แต่ยังไม่พบตัว และพบทางลอดเข้าถึงห้องโถงใหญ่หลังม่านน้ำ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังโถงอื่นๆ

ระหว่างนั้น ภายนอกเริ่มปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์ขึ้นสำรวจถ้ำหลวง หย่อนอาหารและขนมพร้อมข้อความ “ถ้าเจอขนมให้หยุดรอความช่วยเหลือจากหน่วยซีล” จากปล่องด้านบนถ้ำ

ความช่วยเหลือเข้ามามากขึ้น เมื่อกสทช. ประสานโอเปอเรเตอร์ 5 ค่าย ขยายช่องสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมสนับสนุนวิทยุสื่อสาร เพื่อการช่วยเหลือ

ขณะที่ เอ๋ นรินทร ณ บางช้าง อดีตนักร้องดัง ส่งทีมงานและอุปกรณ์สำหรับช่วยคนติดน้ำในถ้ำ

แต่ฝนที่ตกหนัก ทำให้หน่วยซีล ต้องหยุดภารกิจชั่วคราว หลังน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 2 เมตร รวมเป็น 7 เมตร และอุปสรรคเดิมคือน้ำขุ่น มองไม่เห็นทาง แต่ไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะสามารถเจาะช่องดินโคลนเปิดโถงได้สำเร็จ

26 มิ.ย.2561

04.00น. เจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติการค้นหาอีกครั้ง โดยเพิ่มการบินสำรวจปล่องถ้ำ และเพิ่มกำลังเดินเท้าบริเวณสันเขาเหนือถ้ำ เพื่อหาตาน้ำและปิดทางน้ำไหลเข้าถ้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง ลดระดับน้ำในถ้ำ

โดยมีอุปกรณ์พิเศษ จากศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คือ หุ่นยนต์ดำน้ำ และโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน มาช่วยเสริมการค้นหา

27 มิถุนายน 2561

ตำรวจพลร่ม และทีมกู้ภัยที่สูง แบ่งกำลังเป็น 3 กลุ่ม ออกสำรวจโพรงสามแห่ง บริเวณดอยผาหมี ที่คาดว่าจะโรยตัวลงไปได้ พร้อมกับนำอุปกรณ์ลำเลียงผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยออกมาไปด้วย ขณะที่ทีมกู้ภัยจำนวน 3 คน จากชมรมนักประดำน้ำอาสาช่วยเหลือผู้ที่ติดถ้ำในอังกฤษ เข้ามาสมทบช่วยเหลือ

28 มิถุนายน 2561

ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 132 นายและสุนัขตำรวจ เข้าสำรวจปล่องอากาศบนเขา ด้านขวามือเป็นครั้งแรก จากเดิมที่สำรวจทางด้านซ้ายมือ เพราะเชื่อว่าเป็นตำแหน่งของผู้สูญหาย

ขณะกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก ส่งทีมค้นหาและกู้ภัย เพื่อช่วยตามหาผู้สูญหาย ตามคำขอของรัฐบาลไทย

ก่อนนำรถเจาะขนาดใหญ่ เจาะถ้ำเพื่อช่วยระบายน้ำ โดยมีแผนเจาะเป็นช่องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว ลึก 20 เมตร เพื่อระบายน้ำราว 1 พันลูกบาศก์เมตรต่อนาที

29 มิถุนายน 2561

นำกล่องยังชีพ บรรจุอาหาร แผนที่และปากกา มีข้อความว่า “ถ้าได้รับของให้ระบุว่าอยู่ส่วนไหนของแผนที่ จะรีบไปช่วย” ลอยไปทางต้นน้ำ

ด้านพลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมค้นหา เดินเท้าสำรวจโพรงถ้ำที่ค้นพบ จำนวน 3 โพรง ใกล้ดอยผาหมี เพื่อหาเส้นทางเชื่อมต่อภายในถ้ำ โดยส่งทีมสำรวจโรยตัวลงไปในปล่องถ้ำพระ 40 เมตร แต่ยังไม่ยืนยันว่า เป็นเส้นทางเชื่อมโพรงถ้ำหลวงหรือไม่ พร้อมเร่งเดินเครื่องสูบน้ำออกจากถ้ำต่อเนื่อง อัตรา 12,000 ลิตร /ชั่วโมง

โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ ให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญหายด้วย

และวันที่ 7 ของการค้นหา 30 มิถุนายน 2561

เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำออกจากถ้ำอย่างต่อเนื่อง มีการเจาะบาดาลใกล้ปากถ้ำอีกจุดหนึ่ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกให้มากที่สุด พร้อมกับกับซ้อมแผนปฎิบัติงาน ทีมแพทย์เต็มรูปแบบ ทั้งการลำเลียงผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาล และเฮลิคอปเตอร์

related