svasdssvasds

สนช. หวั่นร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณใหม่ กระทบรัฐวิสาหกิจ ชั้นหลาน และเหลน หลังแก้คำนิยาม

สนช. หวั่นร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณใหม่ กระทบรัฐวิสาหกิจ ชั้นหลาน และเหลน หลังแก้คำนิยาม

สนช.ถกเครียด ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ หลังแก้คำนิยามรัฐวิสาหกิจใหม่ ครอบคลุม แค่บริษัท แม่และลูก หวั่นทำบริษัทหลานและเหลนหลุดวงโคจรตรวจสอบ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ....วาระ 2 และวาระ 3 ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งสิ้น 59 มาตรา

ทั้งนี้ สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ ต่างติดใจกับการปรับแก้นิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในกฎหมายเดิมปี 2502 ที่บัญญัติคำนิยามรัฐวิสาหกิจไว้ 4ชั้น คือ บริษัทแม่ , ลูก ,หลาน , เหลน แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แก้ให้เหลือแค่ชั้น แม่ และลูกเท่านั้น ทำให้กังวลว่า บริษัทชั้นหลานและเหลนจะหลุดพ้นจากการตรวจสอบขององค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือไม่ รวมถึงความชัดเจนของคำนิยามที่อาจเชื่อมโยงกับกฎหมายฉบับอื่น จนจะกลายเป็นปัญหาการตีความในภายหลัง

พล.อ.อ.ชนะ อยู่สถาพร ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า คำนิยามรัฐวิสาหกิจดังกล่าวจะใช้เฉพาะกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น ไม่เกี่ยวโยงกฎหมายฉบับอื่น ส่วนการตรวจสอบบริษัทชั้นหลานและเหลน ได้รับคำยืนยันจาก สตง.แล้วว่า สามารถทำได้โดยผ่านงบดุลของบริษัทแม่ ว่ามีการนำเงินไปใช้ในส่วนใด แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีบริษัทเหล่านี้ได้รับงบประมาณเลย

นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ได้รับคำยืนยันว่า นิยามรัฐวิสาหกิจของร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่คำนิยามกลาง แต่ใช้เฉพาะกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น อีกทั้งนิยามคำนี้ในกฎหมายแต่ละฉบับมีความแตกต่าง เพราะเป็นไปตามภารกิจของแต่ละกฎหมาย แต่ที่ผ่านมา มีการอ้างอิงคำนิยามใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ทางกรรมาธิการฯ จึงบัญญัติบทเฉพาะกาลให้แต่ละหน่วยงานต้องไปกำหนดคำนิยามตามภารกิจของตนเองภายใน 3 ปี แต่ระหว่างนี้ให้ยึดคำนิยามตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2502 ไปพลาง ซึ่งตนได้สงวนความเห็นประเด็นนี้ เพราะการแก้ไขกฎหมายในระยะเวลา 3 ปี อาจทำไม่ทัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้องใช้คำนิยามตามกฎหมายใหม่โดยอัตโนมัติ จึงไม่ควรมีการกำหนดระยะเวลาการแก้ไขคำนิยาม เพื่อไม่ให้คำนิยามดังกล่าวไปกระทบกับกฎหมายฉบับอื่น

นายสมชาย แสวงการ สนช. ตั้งข้อสังเกตในเรื่องดังกล่าว พร้อมให้ สนช.พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ถูกโจมตี หรือถูกกล่าวหาว่า “ขายชาติ” ในภายหลัง เนื่องจากมีบริษัทลูก บริษัทหลานบางแห่งไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่ง สตง. อาจตรวจสอบไปไม่ถึง

ทั้งนี้ การอภิปรายตั้งข้อสังเกตของ สนช.ผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้ประธานต้องสั่งพักการประชุม เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว

related