svasdssvasds

เฝ้าระวัง "โรคบรูเซลโลสิส" หรือ "โรคแท้งติดต่อในสัตว์" คาดปี 2561 แนวโน้มเพิ่มขึ้น

เฝ้าระวัง "โรคบรูเซลโลสิส" หรือ "โรคแท้งติดต่อในสัตว์" คาดปี 2561 แนวโน้มเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยการเฝ้าระวังสถานการณ์ โรคบรูเซลโลสิส หรือโรคแท้งติดต่อในสัตว์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2557-2560) มีรายงานผู้ป่วยแต่ละปีตั้งแต่ 1-13 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยสูงสุดในปี 2560 มีรายงาน 9 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 13 ราย

ส่วนในปี 2561 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 ก.ค. 2561 พบทั้งหมด 12 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 12 ราย จากจังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ สระบุรี อุทัยธานี สกลนคร และราชบุรี ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือทำงานในฟาร์ม และในโรงงานฆ่าสัตว์

จากการสอบสวนโรคในปี 2560-2561 พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสดื่มนม นำรกแพะที่คลอดเสียชีวิตไปทำเป็นอาหาร หรือใช้บริเวณบ้านพักเลี้ยงสัตว์ ไม่มีรั้วแยก มีประวัติทำคลอดสัตว์ รีดนม ฝังซาก โดยไม่ป้องกันตนเอง และไม่ได้ใส่ชุดหรืออุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องสัมผัสสัตว์”

คาดว่าในปี 2561 จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคบรูเซลโลสิสเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากพบการกระจายของโรคอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา โรคบรูเซลโลสิส หรือโรคแท้งติดต่อในสัตว์ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน โดยมีโค กระบือ สุกร แพะ แกะ สุนัข เป็นแหล่งรังโรค ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเนื้อเยื่อ เลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดของสัตว์ ลูกสัตว์ที่แท้งออกมา โดยเฉพาะรก เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีแผลหรือรอยขีดข่วน การดื่มน้ำนมดิบหรือใช้ผลิตภัณฑ์นมดิบจากสัตว์ที่มีเชื้อ และการหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ร่ายกาย

อาการ คือ มีไข้เป็นระยะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมากตอนกลางคืน หนาวสั่น ปวดข้อ มึนซึม น้ำหนักลด และปวดเนื้อตัว จะพบว่ามีอาการป่วยเป็นๆ หายๆ นานหลายวัน หลายเดือน บางครั้งอาจเป็นปีหรือนานกว่า”

วิธีป้องกันโรค ผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หากจำเป็นต้องสัมผัสโดยตรง ควรป้องกันตนเอง

1.การสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือบูทยาว สวมถุงมือ

2.เมื่อได้สัตว์ฝูงใหม่ ควรแยกก่อนให้อยู่กับสัตว์ฝูงเดิม

3.สัตว์ป่วยตายหรือแท้งลูก ควรแจ้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเพื่อตรวจหาเชื้อโรคดังกล่าวในฟาร์ม รวมถึงตรวจสอบฟาร์มใกล้เคียงว่ามีการระบาดของโรคบรูเซลโลซิสหรือไม่

4.หากตรวจพบสัตว์ติดเชื้อ ควรทำลายสัตว์และห้ามจำหน่ายสัตว์ดังกล่าวต่อไปยังบุคคลอื่น

5.ควรหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ดิบ นมดิบ โดยเลือกที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วอย่างเหมาะสม หากเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ วัว

6.ควรจัดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ให้เป็นสัดส่วนมีรั้วรอบขอบชิด แยกห่างจากที่พักอาศัย เมื่อมีอาการป่วยตามข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ และแจ้งประวัติเสี่ยงแก่แพทย์ผู้รักษา เพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้น

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”

related