svasdssvasds

มุ่งเป้า! ขับเคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา

มุ่งเป้า! ขับเคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา

คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ เห็นชอบกรอบการทำงานเพื่อลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564 ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ และให้สัมภาษณ์ว่า การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาของคนทั่วโลก การแก้ไขต้องดำเนินการทั้งในคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (0ne Health Approach) รัฐบาลไทย ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ.2560-2564 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ให้บรรลุเป้าประสงค์ 5 ข้อ คือ ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ลงร้อยละ 20 และสำหรับสัตว์ลดลงร้อยละ 30 ประชาชนมีความรู้และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลไม่ต่ำกว่าระดับ 4

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ได้แก่

1.กรอบการทำงานในการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพระดับประเทศภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

2.กรอบการทำงานระดับโรงพยาบาลและประสานงานระดับประเทศ เพื่อจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างบูรณาการในโรงพยาบาล ระยะแรกเริ่มในโรงพยาบาลขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนรวม 226 แห่ง

3.แต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวกับการลดการใช้ยาและพัฒนาระบบข้อมูลการใช้ยาต้านจุลชีพ ภายใต้คณะอนุกรรมการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคเกษตรและการเลี้ยงสัตว์

4.แผนการขับเคลื่อนการปรับสถานะยาต้านจุลชีพเพื่อควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์

5.ให้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการให้ความรู้แก่ประชาชน

6.ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศอังกฤษ และกาน่า ธนาคารโลก Wellcome Trust และองค์การสหประชาชาติ ในการจัดประชุม Call to Action on AMR ครั้งที่ 2 วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2561 ณ ประเทศกาน่า เพื่อแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในเวทีโลก โดยจะเสนอมติที่ได้จากการประชุมวันนี้ต่อคณะกรรมการนโยบายต้านจุลชีพแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

related