svasdssvasds

ติวเข้มผู้ประกอบการประมง พร้อมรับกฎระเบียบใหม่ (SIMP) จากสหรัฐฯ

ติวเข้มผู้ประกอบการประมง พร้อมรับกฎระเบียบใหม่ (SIMP) จากสหรัฐฯ

กรมประมงพร้อมปฎิบัติตามกฎระเบียบใหม่เรื่องการนำเข้าสินค้า Seafood Import Monitoring Program (SIMP) ของสหรัฐอเมริกา เตรียมพร้อมผู้ประกอบการประมงในประเทศไทย ให้ปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทย เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล สะท้อนผ่านข้อมูลการส่งออกในปี 2559 ที่มีมูลค่า 191,005.6 ล้านบาท โดยมีทูน่ากระป๋องและกุ้งเป็นหลัก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณวัตถุดิบหรือทรัพยากรประมงมีแนวโน้มลดลง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตและการนำเข้า-การส่งออกสินค้าประมงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย ตื่นตัวต่อกฎระเบียบใหม่ของทางสหรัฐฯ

กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการตรวจสอบรับรองสินค้าประมงส่งออก รวมถึงยกระดับการเพาะเลี้ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ตลอดจนวางระบบการผลิตให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติ และ ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ระบบฐานฟาร์ม เรือประมง โรงงานแปรรูป ตลอดสายการผลิตและยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการนำได้ไปประยุกต์ใช้ในการผลักดันให้เกิดแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม โดยไม่เป็นภาระต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมประมงได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ ให้กับผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อมการปฎิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าประมงของสหรัฐอเมริกา Seafood Import Monitoring Program (SIMP) โดยได้รับเกียติจากวิทยากรที่เป็นผู้แทนจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) กระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐฯ ในการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบนำเข้าสินค้าประมงฉบับใหม่ที่เรียกว่า Seafood Import Monitoring Program (SIMP) ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกต้องเร่งทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการประมงทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและถูกต้อง เพื่อให้การส่งออกสินค้าของประเทศไทยมีความยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานคุณภาพและระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ อธิบดีกรมประมงกล่าว

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 จากการที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศกฎระเบียบนำเข้าสินค้าประมงฉบับใหม่ เรียกว่า โครงการตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเล Seafood Import Monitoring Program (SIMP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ของคณะการทำงานต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และบิดเบือนข้อมูลบนฉลากสินค้าอาหารทะเล (Presidential Task Force to Combat Illegal, Unreported, and Unregulted Fishing (IUU) and Seafood Fraud) ซึ่ง SIMP เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย Magnuson-Stevens Fishery Conservation and Management Act ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงาน National Marine Fisheries Service (NMFS) , National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) กระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐฯ กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการขออนุญาตการค้าการประมงระหว่างประเทศ International Fisheries Trade Permit (IFTP) และต้องมีการจัดทำรายงานและเก็บบันทึกข้อมูลตลอดสายการผลิตของสัตว์น้ำและ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำประกอบการขออนุญาต นำเข้าสัตว์น้ำตามชนิดที่กำหนดโดยสัตว์น้ำ 13 ชนิดแรก ได้แก่

1.ปลาคอดแอตแลนติก (Cod - Atlantic)

2.ปูม้าแอตแลนติก (Blue Crab - Atlantic)

3.ปลาอีโต้มอญ หรือ หน้ามอม, อีโต้, มงเจ้าเลือด, โต้มอญ หรือ สีเสียดอินเดีย (Mahi Mahi or Dolphin fish)

4.ปลาเก๋า (Grouper)

5. ปูจักรพรรดิแดง หรือ คิงแครบแดง (King Crab - Red)

6.ปลาคอดแปซิฟิก (Cod – Pacific)

7.ปลากะพงแดง (Snapper – Red)

8.ปลิงทะเล (Sea Cucumber)

9.ฉลาม (Sharks)

10.ปลากระโทงดาบ (Swordfish)

11.ปลาทูน่า(Tuna): ปลาทูน่าครีบยาว(Albacore), ปลาทูน่าตาโต(Bigeye), ปลาทูน่าท้องแถบ(Skipjack), ปลาทูน่าครีบเหลือง(Yellowfin), ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน(Bluefin)

12.กุ้ง (Shrimp)

13.หอยเป๋าฮื้อ (Abalone)

โดยมีผลบังคับใช้กับผู้นำเข้าสินค้าประมงมายังสหรัฐฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ยกเว้นสินค้ากุ้งและหอยเป๋าฮื้อ ที่ได้ประกาศกฎระเบียบสุดท้าย (Final Rule) ลงวันที่ 24 เมษายน 2561 และกำหนดให้ระเบียบมีผลบังคับใช้กับกุ้งและหอยเป๋าฮื้อตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

 

related