svasdssvasds

สถิตินำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน จากภาวะคลุ้มคลั่ง! มีมากเกือบ 3 หมื่นราย

สถิตินำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน จากภาวะคลุ้มคลั่ง! มีมากเกือบ 3 หมื่นราย

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับกรมสุขภาพจิตเตรียมจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาเกณฑ์การจำแนกกลุ่มอาการความผิดปรกติทางจิตและวิธีการออกปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยเหลือผู้ป่วย

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยทางจิตประสาท แบ่งออกเป็น 6 ประเภท

1. โรคจิตเภท

2. โรคหลงผิด

3. โรคจิตที่เกิดจากอารมณ์แปรปรวน

4. โรคจิตชนิดเฉียบพลัน

5. โรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกาย

6.โรคจิตที่เกิดจากสารต่าง ๆ หรือยา

ลักษณะของการป่วยภาวะทางจิตประสาท ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือโรคจิตชนิดซึมเศร้า เพราะจะก่อให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายตนเอง หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น

อาการ ของผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิตประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการเฉี่อยชา ไม่ดูแลตนเอง เบื่ออาหาร คิดมาก วิตกกังวล บางคนก็ร้องไห้ตลอดเวลา หรือบางคนอาจตัดสินใจถึงขั้นฆ่าตัวตาย และในบางรายเมื่อมีการเสพสารเสพติดร่วมด้วยก็จะก่อให้เกิดอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ก้าวร้าว ควบคุมตนเองไม่ได้ทำร้ายร่างและตนเองและผู้อื่น

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนเบื้องต้นในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีการคลุ้มคลั่ง

1. โทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ และระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือผู้พบเหตุต้องประเมินสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ให้การช่วยเหลือเองและผู้ป่วย

2. บอกผู้ป่วยว่าเรามาช่วยเหลือ เราพร้อมที่จะทำตามคำร้องขอ

3. แนะนำให้นั่งลงและคุยกันและควรปลดอาวุธให้เรียบร้อยก่อนทำการช่วยเหลือ แต่หากประเมินว่าไม่ปลอดภัยควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือจะดีกว่า

4. หากผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกภายนอกมาก ซึ่งจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการห้ามเลือด คือให้ใช้ผ้าสะอาดกดให้แน่นในตำแหน่งบาดแผลเพื่อหยุดเลือดที่ออก ทั้งนี้ผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองด้วยอาทิ ถุงมือ หน้ากาก เสื้อคลุมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของการช่วยเหลือที่เหมาะสมและปลอดภัยจะต้องเริ่มต้นจากการประเมินสถานการณ์ ณ จุดเกิดเหตุที่ดี ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความปลอดภัยและทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

“ประชาชนทั่วไปควรสังเกตผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง โดยเบื้องต้นผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า เก็บตัว จากที่เคยเรียบร้อยก็กลายเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงจนน่ากลัว ไม่ชอบอาบน้ำ สะสมขยะ พูดจาหรือหัวเราะอยู่คนเดียวซึ่งหากเราพบเห็นคนใกล้ตัวเรามีลักษณะดังกล่าวนี้ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาบำบัดและเพื่อเป็นการลดอัตราการเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นด้วย”เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะกล่าว

สถิติของการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะคลุ้มคลั่งภาวะทางจิตประสาทอารมณ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติตั้งแต่เดือนมกราคมพ.ศ. 2560 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 มีจำนวนมากถึง 28,604 คน

สำหรับแนวทางในการพัฒนางานร่วมกันหลังจากนี้ สพฉ.และกรมสุขภาพจิตจะมีคณะทำงานร่วมกันในการที่จะพัฒนาเรื่องของเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินทางจิตที่จะเป็นแนวทางให้กับศูนย์สื่อสั่งการ 1669 ใช้ในการคัดแยกระดับความรุนแรงและความฉุกเฉินของผู้ป่วยเพื่อที่จะจ่ายงานหรือสั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่อยู่ในพื้นที่ออกไปปฏิบัติการตามกลุ่มอาการของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้แล้ว สพฉ.เองก็จะหารือร่วมกันและพัฒนาหลักสูตรการปฐมพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตและจะมีการจัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ออกไปปฏิบัติการฉุกเฉินว่าเมื่อเจอผู้ป่วยฉุกเฉินตามกลุ่มอาการเหล่านี้จะทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นอย่างไรที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ป่วยเอง ผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้หรือว่าญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้ผู้ป่วย รวมถึงในระหว่างส่งต่อผู้ป่วยในรถหรือในพาหนะฉุกเฉินจะมีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยและเคารพสิทธิของผู้ป่วยด้วย

related