svasdssvasds

ปชป.-ชพน. มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ปชป.-ชพน. มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

นับจากนี้ไป ข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการเมือง จะกลับมาแย่งชิงพื้นที่บนหน้าสื่อ อย่างต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งถึงวันเลือกตั้งส.ส. และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เข้าบริหารประเทศ

โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เท่ากับเสียงปี่กลองทางการเมืองได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะเข้มข้นขึ้นทันควัน หากมีคำสั่งตามมาตรา 44 คลายล็อคคำสั่งที่ 53/2560 ที่ทุกพรรคการเมืองเฝ้ารอคอย

ด้านหนึ่ง ขั้นตอนการได้มาซึ่ง ส.ว. จะเริ่มต้นแทบจะในทันทีทันใด เมื่อ พ.ร.ป.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจา ตั้งแต่ต้องตราพระราชกฤษฎีกาภายใน 5 วัน / การเปิดรับสมัครในระดับอำเภอภายใน 15 วัน ช่วงเวลารับสมัคร 5-7 วัน ต่อด้วยกำหนดเวลาการเลือกแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนในกฏหมาย

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อพรรคการเมืองได้รับการคลายล็อค จะสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างได้ ทั้งประชุมพรรค เลือกกรรมการบริหารพรรค การแก้ไขข้อบังคับพรรค การหาสมาชิกพรรค ติดต่อสื่อสารกับสมาชิกพรรค รวมกระทั่งเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ไปยังกกต.ได้

จึงกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักการเมืองและแนวร่วม ที่เคยถูก”แช่แข็ง”มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จะกลับมาคึกคัก มีชีวิตชีวา และสามารถเดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ทั้งของตนเองและของพรรคต่อไปได้

นั่นในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ ภายใต้กติกาใหม่ พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อย ทั้งพรรคขนาดเล็กที่มีอยู่เก่า กับพรรคเกิดใหม่ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก กำลังจะได้เผชิญหน้ากับโลกแห่งความจริง ทั้งการหาสมาชิกให้ได้ 5 พันคนภายใน 1 ปีนับจากวันจดทะเบียนตั้งพรรค ตั้งสาขาให้ครบทั้ง 4 ภาคเป็นอย่างน้อย การเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิก การมีทุนประเดิมพรรคเบื้องต้น 1 ล้านบาท และที่สำคัญ คือการส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตที่ต้องมีความโดดเด่นและมีคะแนนนิยมทั้งส่วนตัวและของพรรค เพราะหากพลาดจากส.ส.เขต ยังสามารถลุ้นคะแนนรวมจากทุกเขตเลือกตั้ง เพื่อคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ซึ่งทุกพรรคจะคิดไม่ต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายว่า แต่ละเขตเลือกตั้ง จะมีผู้สมัครมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านๆมา สุดท้าย จะกลายเป็นคะแนนที่กระจัดกระจาย ยกเว้นผู้สมัครหรือพรรคที่มีฐานเสียงแน่นหนา

วงในจึงการประเมินกันว่า จะมีพรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่า หลงเหลือสู่สนามเลือกตั้ง ไม่เกิน 20 พรรค และพรรคที่จะได้ ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ในสภา น่าจะมีประมาณ 10-12 พรรคเป็นอย่างมาก

นำไปสู่กระแสข่าว”ถอดใจ”ของหลายพรรคการเมือง และในจำนวนนี้ มีพรรคชาติพัฒนา ที่เคยมีผู้นำพรรคอย่าง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมอยู่ด้วย

แต่จะเป็นความจริงหรือไม่ ยังต้องรอให้ผู้บริหารพรรคปัจจุบัน ที่มี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีอุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคแจกแจงข้อเท็จจริงเสียก่อน เพระกระแสข่าวนี้ นายภิรมย์ พลวิเศษ ผู้ประสานงานกลุ่มสามมิตร เป็นคนเปิดเผย

ทั้งที่ในเดือนเมษายน ต้นปี มีสมาชิกพรรคแสดงตนยืนยันเป็นสมาชิกพรรคต่อ ทั้งหมด 5,583 คน จากสมาชิกเดิม 18,163 คน คิดเป็น 30.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งครั้งนั้น นพ.วรรณรัตน์แสดงความพอใจ และประกาศขอทำหน้าที่ต่อไปเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนอย่างเข้มแข็งตามวิถีประชาธิปไตย

มิหนำซ้ำ พรรคชาติพัฒนา ยังเป็นหนึ่งใน 5-6 พรรคที่มีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสาน รองรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทั้งยังมีข่าวนายสุวัจน์ เตรียมลงไปช่วยลุยกิจกรรมและการหาเสียงของพรรคอย่างเต็มที่ด้วย

ขณะที่พรรคใหญ่ อย่างประชาธิปัตย์ ยังมีกระแสข่าววงใน เรื่องความพยายามให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนอื่น ทั้งนายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีตรัฐมนตรีศึกษาฯ เสนอให้นายอภิสิทธิ์ ลาออก เพื่อให้ชวน หลีกภัย เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค นำทัพสู้ศึกเลือกตั้งส.ส.ไปก่อน ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ก็ยัง”โยนหินถามทาง”ไม่เลิก โดยเฉพาะเงื่อนไข 5 ข้อหากคนใน ปชป.ต้องการให้เขาลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ล่าสุด มีกระแสข่าวถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และอดีตหนึ่งในแกนนำ กปปส. กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก คนที่เกาะติด ตามล้างตามล่าโครงการรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯจนต้องหนีคำพิพากษาศาลไปอยู่ต่างประเทศ จะลงชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ปชป.ด้วย ยิ่งจุดพลุความขัดแย้งภายในพรรคให้ระอุคุโชนยิ่งขึ้น

หลังจากก่อนหน้านี้ วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม. ปชป.เปิดประเด็น คสช.ส่งนอมินีเตรียมชิงหัวหน้าพรรคปชป. เพื่อหวังให้ ปชป.เป็นหนึ่งในสาขาของ คสช.จนเป็นประเด็นร้อนในวงสภากาแฟมาแล้ว

เรื่องราวใน 2 พรรค ทั้งชาติพัฒนา และประชาธิปัตย์ เท็จจริงอย่างไร จะลงเอยแบบไหน โปรดติดตาม

related