svasdssvasds

เหนืออื่นใดของ ประชาธิปัตย์

เหนืออื่นใดของ ประชาธิปัตย์

ใกล้ถึงวาระของการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เรื่องราวของพรรคนี้มีตำนาน ตำนานที่สั่งสมมากว่า 72 ปี จึงทำให้เชื่อได้ว่าไม่ว่าผลการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้จะเป็นอย่างไร พรรคนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป

หากจะมองหาสาเหตุเพื่อวิเคราะห์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งรุนแรง ถึงขั้นส่งคนชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกันเอง ย่อมสามารถทำได้

รวมทั้ง การมุ่งเน้นไปยังเรื่องแก้ไขข้อบังคับพรรคใหม่ ทั้งการกำหนดคุณสมบัติผู้จะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำพรรค ที่ต้องมี ส.ส.หรืออดีต ส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่งรองรับ หรือเปลี่ยนวิธีเลือกหัวหน้าพรรคจากเดิม ไปใช้สมาชิกพรรคเป็นคนเลือก

เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่ว่า หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนชิงพลิกสถานการณ์ เพื่อให้เป็นฝ่ายได้เปรียบคู่แข่งคนอื่น หวังรักษาเก้าอี้เบอร์หนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

เหนืออื่นใดของ ประชาธิปัตย์

หรือแม้แต่หยิบยกกรณี กลุ่ม “10 มกรา” ขึ้นเป็นตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมีการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2530 ในการประชุมพรรคที่โรงแรมเอเชียเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และปรากฏว่า กลุ่มนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ มุสิกพงศ์ ส่งนายเฉลิมพันธ์ ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแข่งกับนายพิชัย รัตตกุล แต่พ่ายแพ้ ก่อนนำไปสู่การยุบสภาของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปีถัดมา เนื่องจากไม่ยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ และย้ายออกไปตั้งพรรคประชาชนในที่สุด

แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ ในทางตรงกันข้าม การสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคใน ปชป.ถือเป็นเรื่องปกติ อย่างเมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ ลงชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคครั้งแรกเมื่อปี 2546 แข่งกับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อ เพราะเป็นการปะทะกันของ 2 กลุ่มใหญ่ “กลุ่มผลัดใบ”กับ”กลุ่มทศวรรษใหม่” ซึ่งมีเสียงสนับสนุนในพรรคเข้มแข็งทั้งคู่

แต่หลังผลการโหวตแพ้ อภิสิทธิ์และกลุ่มผลัดใบก็ไม่ได้แข็งขืนหรือย้ายออกจากปชป. ยังคงรวมตัวทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯต่อไป กระทั่งในการเลือกตั้งส.ส.ปี 2548 ที่ปชป.ยังคงเป็นฝ่ายแพ้เลือกตั้งให้กับพรรคไทยรักไทยนายบัญญัติ ก็ลาออกจากหัวหน้าพรรค ตามคำสัญญาที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านั้น

เหนืออื่นใดของ ประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ จึงก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคสมัยแรก พร้อมๆ กับการหายไปของกลุ่มผลัดใบและกลุ่มทศวรรษใหม่ ขณะที่นายบัญญัติก็ยังช่วยงานใน ปชป.ต่อไป

จึงเป็นความแตกต่างของ ปชป. กับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ต่างล้มหายตายจาก หรือมีการยุบพรรคไป เมื่อหัวหน้าพรรคหรือแกนนำสำคัญของพรรคหมดอำนาจบารมี หรือมีอันเป็นไป หรือเกิดเหตุรัฐประหารขึ้นใหม่ พร้อมการก่อเกิดพรรคการเมืองใหม่ ขึ้นมาแทนที่ และเป็นคู่แข่งหลักในสนามเลือกตั้งสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะยุบหรือหายไปจากสาระบบ เวียนว่ายเป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดมา

ปัจจัยประกอบสำคัญน่าจะเป็นเรื่องอุดมการณ์ของพรรค ส.ส.(และอดีต ส.ส.)ของพรรคส่วนหนึ่ง รวมกระทั่งสมาชิกพรรคบางส่วน ที่ทำให้ปชป.ยืนหยัดอยู่ได้ยาวนานถึง 72 ปีเข้าไปแล้ว

แม้ ปชป.จะไม่ชนะเลือกตั้ง ส.ส.เหนือพรรคการเมืองอื่นอีกเลย นับตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง 35/2 ในเดือนกันยายน 2535 หลังเกิดการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ถนนราชดำเนิน แต่แกนนำและนักการเมืองคนสำคัญก็ยังคงยืนหยัดอยู่กับ ปชป. ทั้งที่รู้ว่า โอกาสชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลมีน้อยมาก

เหนืออื่นใดของ ประชาธิปัตย์

เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคและประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ยังคงเลือกผู้สมัครจาก ปชป.ไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุผล ต้องการให้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาเพื่อตรวจสอบรัฐบาล

กระทั่งกลายเป็นจุดแข็งของ ปชป. ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นพรรคที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดีที่สุด การล้มและถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคของคู่แข่งตั้งแต่ไทยรักไทยเป็นต้นมา กระทั่งโดน”สอบ”และโดน”สอย”จากหลายโครงการประชานิยม รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าว ล้วนมาจากการทำหน้าที่ของคนใน ปชป.

และหากจะส่องกล้องหรือสแกนดูภายในบุคลากรใน ปชป. ก็จะเห็นความแตกต่างด้านคุณสมบัติและความสามารรถเฉพาะตัว ที่คนจากพรรคอื่นไม่มีหรือมีน้อยกว่า ตั้งแต่ต้นทุนความน่าเชื่อถือส่วนบุคคล การพูดและอภิปรายในสภา รวมถึงการตรวจสอบและหาข้อมูลในเชิงลึก ชนิดเรียกได้ว่า ชี้มือไปยัง ส.ส.หรืออดีต ส.ส.คนใดของ ปชป.ให้ทำหน้าที่ เป็นไม่มีคำว่า”ผิดหวัง”

ในทางตรงกันข้าม หากคุณสมบัติเหล่านี้ ไม่มีใน ปชป. หรืออิงอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัว มุ่งหวังจะชนะเลือกตั้ง และหวังได้ตำแหน่งทางการเมืองเป็นสำคัญ ถึงวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ อาจล้มหายตายจากไปนานแล้วก็ได้

ดังนั้น ไม่ว่า ศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.ในเดือนพฤศจิกายน 61 จะออกมาอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์จะยังดำรงอยู่ 100 %

 

related