svasdssvasds

“ขวากหนาม-ความท้าทาย”อ้าแขนรอ หลัง“บิ๊กตู่”ประกาศเดินหน้าการเมืองต่อ

“ขวากหนาม-ความท้าทาย”อ้าแขนรอ หลัง“บิ๊กตู่”ประกาศเดินหน้าการเมืองต่อ

ชัดเจนแล้ว สำหรับ”บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเปิดใจยอมรับว่า สนใจงานการเมือง แม้จะพยายามอุบไต๋ จะตัดสินใจอย่างไร? หรือสนับสนุนใคร? ยังต้องรออีกระยะหนึ่งก่อน ก็ตาม

ถือเป็นการประกาศเดินหน้าบนเวทีการเมืองเต็มตัว นับจากนี้ไป เพราะหากไม่สนใจเรื่องการเมือง ป่านนี้”บิ๊กตู่”ปฏิเสธไปตั้งนานแล้ว และคงไม่พยายาม”แทงกั๊ก”มาหลายหนเช่นนี้

สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป มีอย่างน้อย 3 ประการ คือจะเดินหน้าสู่ก๊อก 1 หรือรอจังหวะก๊อก 2 และจะจัดการพรรคพลังประชารัฐ อย่างไร

ยังไม่นับรวม เรื่องลาออกจากหัวหน้าคสช. ซึ่งอย่างไรเสีย เมื่อถึงเวลาที่สมควร “บิ๊กตู่”ลงจากเก้าอี้ใหญ่ตัวนี้ เพื่อลดกระแสโจมตี”เอาเปรียบ”คู่แข่ง และลดแรงเสียดทาน จากการเป็นทั้งกรรมการและผู้เล่นในเวลาเดียวกัน

ประการแรก “บิ๊กตู่”ซึ่งไม่มีสิทธิ์ลงสมัครส.ส. เนื่องจากไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งในครม.ภายใน 90 วัน นับจากรัฐธรรมนูญ ปี 60 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 วิธีที่ยังเป็นไปได้ จึงมีเพียงให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เสนอชื่อ ”บิ๊กตู่”เป็น 1 ใน 3 รายชื่อของบุคคลที่มีความเหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรี และจะมีเพียงพรรคการเมืองเดียวเท่านั้น ที่เสนอชื่อได้ โดยเจ้าตัวต้องยินยอม และพรรคการเมืองดังกล่าว ต้องมั่นใจว่า จะได้ส.ส.หลังการเลือกตั้งแน่ๆไม่ต่ำกว่า 25 คน

แต่แนวทางนี้ ยังต้องลุ้นไม่ให้พรรคการเมืองอื่นๆ รวบรวมส.ส.ได้มากกว่า 376 คน ตามบทเฉพาะกาล เพื่อชิงตัดหน้าตั้งรัฐบาลได้เสียก่อน โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ได้จำนวนส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ซึ่งจะมีความชอบธรรมมากกว่า หากทำได้ตามนี้ จำนวนส.ว.250 คน ที่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ก็จะหมดความหมายทันที

ดังนั้น จึงต้องหาทางเตะสกัดไม่ให้พรรคการเมืองรวมตัวกันได้ตามจำนวนที่ว่า เพื่อเปิดทางให้มีเลือกนายกฯก๊อก 2 หรือนายกฯคนนอก ซึ่งก็เป็นวิธีที่ยากขึ้นไปอีก

นอกจากต้องลุ้น ต้องกัน รวมทั้งต้องแช่งชักหักกระดูกไม่ให้การเลือกนายกฯจากรายชื่อ 3 คนของพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 25 คนประสบผลสำเร็จแล้ว การเสนอชื่อนายกฯคนนอก ยังต้องใช้เสียงรับรองรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสองสภารวมกัน คือ 500 คน จากทั้งหมด 750 คน

เท่ากับว่า นอกจากต้องใช้เสียงส.ว.ที่คสช.จะเป็นผู้เลือกและผู้เคาะ รวมกัน 250 คนแล้ว ยังต้องไปฉุดไปลากไปดึงเอาส.ส.มารวมกันให้ได้อีก 250 คน ซึ่งไม่ต่างจากเข็นครกขึ้นภูเขา โดยเฉพาะหาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ยังปฏิเสธที่จะสนับสนุนนายกฯคนนอก ในเมื่อ 2 พรรคนี้ ได้จำนวนส.ส.รวมกันเกินกว่า 250 คนมาตลอด นับตั้งแต่เลือกตั้งปี 2540 เป็นต้นมา เฉพาะเลือกตั้งปี 44 ปี 48 และปี 54 ได้รวมกันเกินกว่า 400 คนด้วยซ้ำ

แม้ในกรณีที่สามารถดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมสนับสนุนได้ ในก๊อกที่ 2 แต่หากขั้วเพี่อไทยกับพรรคที่เป็นพันธมิตร จับมือรวมส.ส.กันได้เกินกว่า 250 คน ความฝันจะมีนายกฯคนนอก ก็ถูกปิดประตู เป็นไปไม่ได้ ผลดีอย่างเดียวที่คสช.จะยังได้รับ คือการเป็นรัฐบาลรักษาการ อันเป็นผลจากการตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เท่านั้นเอง แต่ความสง่างามจะสูญเสียไป พร้อมถูกกล่าวหา พยายามตีกันไม่ให้การตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ส่วนประการที่ 3 คือเรื่องพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทราบกันดีว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อหนุน”บิ๊กตู่”เป็นนายกฯในการหาเสียงและเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีอะไรลงตัวในพรรค จนต้องเลื่อนวันประชุมผู้ก่อตั้งพรรคจาก 15 กันยายน ไปเป็น 29 กันยายน

รัฐมนตรีที่ถูกวางตัวเป็นผู้บริหารพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง ยังสองจิตสองใจ เนื่องจากต้องทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีไปคุมพรรคการเมือง ที่จะเต็มไปด้วยนักการเมืองประเภทเสือ สิงห์ กระทิง แรด หน้าเดิมๆเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหน้าใหม่ ยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้เป็นส.ส.มากแค่ไหน เป็นเสียงข้างมากได้หรือไม่

ที่สำคัญ ว่าที่ส.ส.เหล่านี้ ล้วนเป็นคนในสังกัด”ขาใหญ่”นักการเมืองแทบทั้งสิ้น การบริหารคนประเภทนี้ จึงไม่ง่ายเหมือนชี้นิ้วสั่งข้าราชการในสังกัดอย่างไม่ต้องสงสัย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนจะยังอิดๆออดๆ เพราะหากเลือกได้ คงจะเลือกเก้าอี้ที่นั่งอยู่ปัจจุบัน ซึ่งมีเกียรติและบารมีมากกว่าจะไปเสี่ยงกับความไม่แน่นอนในพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าท้ายที่สุด ต้องจำใจเตรียมประกาศความชัดเจนกันหลายคน ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับการประชุมผู้ก่อตั้งพรรคก็ตามที

เส้นทางเดินบนเวทีการเมืองของ”บิ๊กตู่”จึงจะไม่ราบเรียบอย่างที่คาดหวังไว้ ไม่ว่าจะคำนึงจากปัจจัย หรือผ่านแนวทางใดก็ตาม ถือเป็น”วิบากรรม”ที่ต้องเผชิญ โดยไม่อาจล่วงรู้ จุดสุดท้าย ที่อ้าแขนรออยู่เบื้องหน้า

related