svasdssvasds

คนในข่าว อย่ามองข้าม ”ความเชื่อ-ความคิด” ”เสี่ยติ่ง”แมว 9 ชีวิต

คนในข่าว อย่ามองข้าม ”ความเชื่อ-ความคิด” ”เสี่ยติ่ง”แมว 9 ชีวิต

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หรือ”เสี่ยติ่ง”ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคพลังพลเมืองไทย หรือ พพพ. เป็นนักการเมืองที่ถือว่า ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ว่าจะจากประวัติ เคยลงสมัครส.ส.ถึง 3 จังหวัด นับจากกรุงเทพฯปี 29 เป็นส.ส.ครั้งแรก พรรคประชาชาธิปัตย์, ปี 31 ย้ายไปลงนครราชสีมา พรรคประชาชนแต่สอบตก และปี 35 ย้ายไปลงที่เชียงราย พรรคสามัคคีธรรม และได้เป็นส.ส.สมัยที่ 2

“เสี่ยติ่ง”ยังไม่ใช่แค่ทำสถิติย้ายพรรคเป็นว่าเล่น จากสามัคคีธรรมไปชาติไทย ไปความหวังใหม่ ไปชาติพัฒนา ไปไทยรักไทย ไปพลังประชาชน และไปภูมิใจไทย ก่อนจะตั้งพพพ. เท่านั้น แต่เขายังเป็นคนที่อยู่เบื้องหลัง และทำงานให้กับพรรคการเมืองสำคัญๆในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่าง พรรคประชาชนของเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และวีระ มุสิกพงศ์ หลังย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ถัดมาคือพรรคเอกภาพ หลังการรวมตัว 4 พรรคการเมือง คือพรรครวมไทย-ก้าวหน้า-กิจประชาคมและพรรคประชาชน หลังการเลือกตั้งปี 31 กระทั่งกลายเป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 และได้เข้าร่วมรัฐบาล”น้าชาติ”พล.อ.ชาติชาญ ชุณหะวัณ

อีกครั้ง คือพรรคสามัคคีธรรม ที่มี”พ่อเลี้ยง”ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และได้ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 แต่เนื่องจาก”พ่อเลี้ยง”ถูกกล่าวหาว่าติดแบ๊คลิสต์ห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาท่ามกลางการปฏิเสธของเจ้าตัว พรรคจึงเสนอชื่อ”บิ๊กสุ”พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนนำไปสู่”ม็อบมือถือ”ขับไล่และเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”เมื่อปี 35

ว่ากันว่า “เสี่ยติ่ง”ยังเป็นคนทำหน้าที่ประสานอยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชน โดยเฉพาะเป็นคนไปเจรจาเชื้อเชิญให้ให้สมัคร สุนทรเวช จนยอมรับปากเป็นหัวหน้าพรรค นำสู้ศึกเลือกตั้งปลายปี 50 จนชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ต่อมา เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค “เสี่ยติ่ง” ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

สัมพันธ์ เคยเป็นรัฐมนตรี 2 สมัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกสุจินดา ปี 2535 และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2540 ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

เหตุผลที่ตัดสินใจตั้งพรรค พพพ. “เสี่ยติ่ง”ชี้แจงว่า เพราะกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ จะเอื้อประโยชน์ให้หลายๆพรรคมีโอกาสได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะทุกคะแนนจะไม่ตกหล่น เขายอมรับว่า ทุกเขตเลือกตั้ง จะมีเพียง 3 พรรคหลักๆที่จะได้รับเลือก นอกนั้นกระจัดกระจายจนแทบไม่มีความหมาย 2 พรรคแรกโดยส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคที่ 3 จะเป็นพื้นที่ฐานเสียงของผู้สมัครเขตนั้นๆ

พพพ.จึงตั้งเป้าจะเป็นพรรคที่ 3 หรือพรรคที่ 4 ทั้งนี้เขามั่นใจในชื่อเสียงของผู้สมัครของพรรค ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอดีตส.ส.เก่า เป็นอดีตรัฐมนตรี จะมีฐานเสียงพอจะหวังคะแนนสะสมได้ ขณะเดียวกัน ยังมั่นใจว่า จะสามารถแบ่งคะแนนจาก 2 พรรคหลัก โดยเฉพาะเพื่อไทยในบางเขตเลือกตั้งได้ 10 % ด้วยผลงานที่เคยทำไว้

ประกอบกับเขาเชื่อว่า กลุ่มที่เป็นคะแนนเสียงชี้ขาดสำคัญของการเลือกตั้ง จะอยู่ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 35 ปีขึ้นไปจนถึงกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งอาจมีมากถึง 80 % กลุ่มนี้จะลงคะแนนเสียงให้ใคร ปัจจัยหลักจะไม่อิงอยู่กับกระแสแบบวูบวาบ

จึงเป็นที่มาของความมั่นใจว่า พพพ.ได้ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน ตั้งเป้าน้อยสุด 20 คน เพื่อยื่นเสนอกฏหมายได้

related