svasdssvasds

"นิ้วซ้น" รักษาอย่างไร ?

"นิ้วซ้น" รักษาอย่างไร ?

เมื่อ "บิ๊กตู่" นิ้วมือซ้น คืออาการบาดเจ็บตรงข้อต่อกระดูก มักเกิดตอนเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมผาดโผน

หลังจากที่สื่อมวลชนได้เห็นว่า ที่บริเวณนิ้วมือข้างขวา ของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่นิ้วกลางถึงนี้วก้อย มีผ้าพันแผลพันติดไว้ หลายคนสงสัยว่านายกฯเป็นอะไร ซึ่งก็ได้รับการเปิดเผยว่า จากนายกรัฐมนตรี ว่าได้รับบาดเจ็บ จากอาการนิ้วมือซ้น

"นิ้วซ้น" อาการนี้เกิดจากอะไร

การบาดเจ็บตรงข้อต่อซึ่งเกิดจากกระดูกนิ้วเลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม จนปลายสุดของกระดูกไม่สามารถตั้งตรงได้ปกติ ส่วนใหญ่แล้ว ข้อนิ้วตรงกลางของนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยมักเกิดอาการซ้น สาเหตุของนิ้วซ้นมักเกิดจากการงอนิ้วไปด้านหลังมากเกินไป

สาเหตุ "นิ้วซ้น"

มักเกิดตอนเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมผาดโผน เช่น บาสเก็ตบอล หรือเบสบอล แล้วได้รับแรงกระแทกมาอัดนิ้วมือที่กำลังกางออกพอดี หรือล้มลงโดยเอาฝ่ามือลงพื้น

อาการนิ้วซ้น

-นิ้วคด บวม และเกิดอาการปวดมาก

-เกิดรอยฟกช้ำดำเขียว

-นิ้วแข็ง ขยับลำบาก

-สำหรับผู้ที่เกิดอาการรุนแรง จะรู้สึกชาและเป็นเหน็บร่วมด้วย

-นิ้วที่ซ้นซีด

-นิ้วที่ซ้นอาจเกิดผิวถลอกลอกออกมา

-บางรายอาจกระดูกหัก ส่งผลให้กระดูกโผล่ขึ้นมาที่ผิวหนัง หรือสามารถมองเห็นกระดูกตรงบริเวณที่เกิดแผลได้

ผู้ที่นิ้วซ้นควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เนื่องจากจะช่วยให้รักษาอาการให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ หากได้รับการรักษาช้าอาจทำให้นิ้วเกิดความผิดปกติถาวรได้

การรักษานิ้วซ้น

1.เลี่ยงออกแรงเคลื่อนไหวนิ้วที่เกิดอาการซ้น ทั้งนี้ ผู้ที่รู้วิธีดามนิ้ว สามารถดามนิ้วที่ซ้นเข้ากับนิ้วอื่นด้วยปากกาหรือสิ่งของที่มีรูปร่างเป็นแท่ง แล้วใช้สก็อตเทปสำหรับปฐมพยาบาลพันปิดไว้ให้ถูกต้อง

2.ควรยกมือข้างที่นิ้วซ้นขึ้นไว้ระดับเดียวกับหัวใจ เพื่อลดอาการบวมของนิ้ว เลี่ยงให้นิ้วที่ซ้นได้รับแรงกระทบกระเทือนอื่น ๆ

3.ประคบน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวมและปวด โดยประคบเย็นประมาณ 20-30 นาที ทุก 3-4 ชั่วโมง ทำเช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน หรือจนกว่าอาการปวดและบวมจะทุเลาลง

4.ควรหาหมอนมารองนิ้วที่ซ้นให้ยกขึ้นสูงในกรณีที่ต้องนอนหงายหรือเอนหลังบนเก้าอี้แล้วฝ่ามือราบขนานพื้นเพื่อบรรเทาอาการปวดบวม

5.ควรล้างแผลให้สะอาดและปิดด้วยผ้าพันแผลให้เรียบร้อย รวมทั้งกดห้ามเลือดให้หยุดไหล ในกรณีที่นิ้วมีแผลเปิดออกมา

การดูแล-ป้องกัน

1.รับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

2.เข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและการรักษา

3.บริหารข้อต่อนิ้ว เพื่อให้นิ้วมือแข็งแรง รวมทั้งพยายามบริหารนิ้วให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอหลังจากถอดอุปกรณ์สำหรับดามนิ้วเพื่อป้องกันอาการข้อแข็ง

ขอบคุณข้อมูล https://www.pobpad.com