svasdssvasds

"นิกร" หนุนแก้เนื้อหาไพรมารี่โหวต “นิพิฏฐ์” เเนะ "ให้เป็นเรื่องของพรรค"

"นิกร" หนุนแก้เนื้อหาไพรมารี่โหวต “นิพิฏฐ์” เเนะ "ให้เป็นเรื่องของพรรค"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

วันนี้ (10 ก.ค. 60) - นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการปรับแก้ไขเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า รู้สึกพอใจต่อประเด็นที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปรับแก้ไขเนื้อหาระบบเลือกตั้งไพรมารี่โหวต ส่วนกรณีที่เพิ่มบทลงโทษหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ส่งบุคคลที่ทุจริตการเลือกตั้งขั้นต้น ด้วยการจำคุก 6 เดือน หรือ ปรับ 10,000 บาท นั้น ถือเป็นประเด็นที่จะสร้างการถ่วงดุลและตรวจสอบการเลือกบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนลงสมัคร ส.ส.ให้เป็นไปตามระบบประชาธิปไตยมากขึ้น โดยประเด็นที่กรธ.ขอปรับแก้ไขนั้น เชื่อว่าสนช.จะรับพิจารณา เพราะมีเหตุผลและสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อเอาชนะ ดังนั้นขณะนี้ตนยังไม่เชื่อกระแสที่ สนช.จะลงมติไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปรับปรุง

“หากร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองผ่านสนช.แล้วและมีผลใช้บังคับ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณา เพื่อผ่อนปรนให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมพรรค เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการปรับข้อบังคับหรือระเบียบของพรรคให้สอดรับกับกฎหมายฉบับใหม่ ขณะเดียวกันเพื่อป้องกันปัญหาต่อการจัดทำร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ทางสนช.ควรจัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้นักการเมืองร่วมแสดงความเห็น โดยอย่ามองนักการเมืองในแง่ลบ” นายนิกร กล่าว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กรธ. แก้ไขระบบไพรมารีโหวตให้เป็นเรื่องภายในของพรรคการเมือง โดยกกต.ไม่มีสิทธิ์แจกใบแดง -ใบเหลือง ว่า ถือเป็นการทำตามหลักที่ถูกต้อง ส่วนรายละเอียดคงต้องให้ กรธ.ยกร่างและประกาศให้ชัดว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แค่ไหน

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การทำไพรมารีโหวตนี้จะลงทุนสูงมากแต่คนมามีส่วนร่วมน้อย ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของคนร่างกฎหมายนี้ และใครจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะในอดีตที่ผ่านมา ที่เราเคยทำแบบทางอ้อมใช้การประกาศผ่านรถโฆษณาหาเสียงและใช้การบอกต่อแบบปากต่อปากของกรรมการสาขาเขต จึงกล้าฟังธงว่าจะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ต้องทำมาหากินและจะยิ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติกับพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ หรือพรรคที่มีสมาชิกในเขตเลือกตั้ง หรือเขตจังหวัดนั้นน้อย ก็จะไม่ได้ผล เพราะคนจะมาโหวตน้อยลงไปด้วย

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ เมื่อมีสมาชิกพรรคน้อย หรือคนมาโหวตน้อยก็สามารถแทรกแซง หรือถูกครอบงำ หรือถูกซื้อได้ง่ายมากกว่าเดิมและเป็นการลงทุนซื้อเสียงที่ต่ำ โดยเป็นการซื้อเสียงทางอ้อม คือซื้อเสียงตั้งแต่คัดเลือกตัวผู้สมัครลงในนามพรรคโดยซื้อผ่านกรรมการสาขา หรือสมาชิกพรรคที่จัดตั้งไว้แล้วและเป็นการซื้อโดยมีกฎหมายรับรองด้วย แม้เจตนารมย์ของผู้ร่างกฎหมายจะหวังดี แต่ผลที่ออกมาจะต่าง ไม่เป็นไปตามที่คิด และยังมีปัญหาในกรณีการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่ กำหนดให้สมาชิกพรรค 1 คนเลือกผู้สมัครได้ 15 คนจากบัญชีรายชื่อของพรรค 150 คน เพราะที่สุดแล้ว คนดี คนมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่พรรคส่งลงเพื่อจะให้มาช่วยงานจะไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะสมาชิกพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่รู้จักคนเหล่านี้ จะเกิดปัญหา ผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อจะไม่กระจายตามรายภาค ไม่กระจายตามสัดส่วนของส.ส.ชายและหญิงที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาจขัดรัฐธรรมนูญตามมาอีก

"ยกตัวอย่าง เขตเลือกตั้งหนึ่ง มีสมาชิกพรรค ก. 300 คน แต่ในเขตเลือกตั้งนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100,000 คน พรรคการเมืองนอกจากมองหาคนดีแล้ว ก็ต้องส่งคนที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งด้วย ไม่ใช่คิดแค่ว่าคน 300 คนจะเลือกเท่านั้น แต่ต้องดูว่า คู่แข่งขันของพรรคเป็นใคร หากส่งอดีตมหาเปรียญ 6 ประโยค แข่งกันอดีต ส.จ.แล้วจะชนะหรือไม่ หากส่งคนดีแต่ไม่มีโอกาสชนะเลือกตั้งทั้ง 350 เขต ส่งไปแพ้หมด

ที่สุดพรรคก็อยู่ไม่ได้ พรรคเจ๊ง ก็ต้องยุบไป ฉะนั้นการส่งคนลงสมัครเลือกตั้งส.ส.นอกจากจะเป็นคนดีแล้ว ก็ต้องฟังกรรมการบริหารพรรคด้วยคือได้ทั้งคนดีและมีโอกาสชนะเลือกตั้งด้วย ไม่ใช่ฟังแต่เสียงของสมาชิก หรือกรรมการสาขาเขต หากเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีสาขาทั่วโลก ไม่มีบริษัทใดที่จะให้สาขามีอำนาจเหนือมากำหนดนโยบายให้สำนักงานใหญ่ทำตาม ไม่เช่นนั้นบริษัทสำนักงานใหญ่จะมีไว้ทำไม และหากทำตามสาขาย่อย เสียหายบริษัทล้มละลายจนปิดกิจการ ใครรับผิดชอบ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

related