svasdssvasds

ข้าพระบาท ทาสประชาชน  : คดีที่ดินอัลไพน์ ปัญหากฎหมายและทางออกที่ชอบ (1)

ข้าพระบาท ทาสประชาชน  : คดีที่ดินอัลไพน์ ปัญหากฎหมายและทางออกที่ชอบ (1)

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

 

 

 

 

ข้าพระบาท ทาสประชาชน 

ประพันธุ์ คูณมี

คดีที่ดินอัลไพน์ ปัญหากฎหมายและทางออกที่ชอบ (1)

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีที่ ป.ป.ช.โดยอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ขณะดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญา ม.157 กรณีไปเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ที่มีคำสั่งให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใดๆ อันเกี่ยวกับที่ดินอันไพล์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนตามความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา

คำพิพากษาของศาลอาญาดังกล่าว มีสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยผู้เขียนขอคัดมาบางส่วนดังนี้ “ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พินัยกรรมของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ระบุชัดเจนว่านางเนื่อม ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง ให้แก่วัดธรรมมิการามวรวิหารเท่านั้น มิได้ยกกรรมสิทธิ์ดังกล่าว ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยแต่อย่างใด ทั้งภายหลังจากนางเนื่อมถึงแก่ความตาย วัดธรรมมิการามได้นำที่ดินทั้งสองแปลงไปขี้นทะเบียนที่ดินศาสนสมบัติวัดร้าง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ธรณีสงฆ์ และนำที่ดินทั้งสองแปลงให้บุคคลอื่นเช่าทำนา อันแสดงให้เห็นว่า วัดธรรมมิการามได้เข้าครอบครองและรับเอาประโยชน์จากที่ดินทุกแปลงแล้ว และถือได้ว่าที่ดินที่นางเนื่อม แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมยกให้แก่วัด ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ทันทีที่นางเนื่อม ถึงแก่ความตาย แม้จะยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นชื่อวัดก็ตาม

อันสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ที่กรมที่ดินนำมาพิจารณาประกอบการทำคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดิน คำสี่งอธิบดีกรมที่ดินจึงเป็นคำสั่งที่ถูกต้อง การที่จำเลยพิจารณาและสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน โดยจงใจละเลยข้อเท็จจริงต่างๆ ข้างต้น ทั้งยังจงใจตีความและใช้กฎหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ที่ระบุให้กระทรวงถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คำสั่งของจำเลยจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัดธรรมมิการาม ทั้งยังทำลายศรัทธาของผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เช่น นางเนื่อม จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี"

จากคำพิพากษาดังกล่าว เป็นคดีแดงที่ชัดแจ้งยิ่งกว่าแสงตะวันว่า ตามพินัยกรรมของคุณยายเนื่อม มีผลทางกฏหมายอย่างไร ใครเกี่ยวข้องกับการบิดเบือน ตีความกฏหมายโดยผิดเพี้ยนด้วยเจตนาโกงเอาที่ดินวัด ปล้นเอาที่ธรณีสงฆ์ไปเล่นแร่แปรธาตุขาย หาประโยชน์โดยมิชอบบ้าง เรื่องนี้ขอเรียนว่า ผู้เขียนเป็นคนแรกที่นำข้อเท็จจริงกรณีที่ดินอัลไพน์มาเปิดเผยและรายงานข่าวผ่านหนังสือพิมพ์แนวหน้า เมื่อปี 2545 ถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาถึง 15 ปี ซึ่งปัญหาข้อกฎหมายที่ผู้เขียนเคยชี้ให้สังคมเห็นและรับรู้ บัดนี้เป็นที่ยืนยันและรับรองถึงความถูกต้องแล้ว แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01

โดย ป.ป.ช. สำนักงานอัยการ กฤษฎีกา และศาลสถิตย์ยุติธรรม ดังปรากฎรายละเอียดในคำพิพากษาฉบับเต็มของคดีที่ดินอัลไพน์ดัง กล่าว

แต่กรณีดังกล่าว ยังมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า เมื่อคดีถึงที่สุดและต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว การแก้ปัญหาที่ดินซึ่งได้ถูกจดทะเบียนซื้อขายไปทำสนามกอล์ฟและบ้านจัดสรรขายแก่บุคคลที่สามไปแล้ว และบุคคลเหล่านั้นซึ่งสันนิษฐานว่า เข้ามาซื้อที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยชอบ เมื่อสัญญาเป็นโมฆะหรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หากถูกเพิกถอนแล้วจะกลับคืนสู่สถานะเดิมอย่างไร ประกอบกับขณะนี้ ครม.โดยกระทรวงมหาดไทย เตรียมเสนอกฎหมายฉบับหนึ่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบนั่นคือ "ร่างพ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมมิการามวรวิหาร ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา พ.ศ..."

ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเพียง 5 มาตรา สาระสำคัญก็คือ มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า "ให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดินและการดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเกี่ยวกับ โฉนดเลขที่ 20 และโฉนดที่ 1446 ซึ่งได้กระทำลงภายหลังให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ ตามมาตรา 3 จนถึงวันที่กฎหมายบังคับ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย"

พูดง่ายๆ ก็คือรัฐบาลและสภานิติบัญญัติฯ จะตรากฎหมายออกมาล้างความผิดให้กับข้าราชการ รวมถึงนายยงยุทธ วิชัยดิษฐให้พ้นผิด และทำให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่วัด เป็นไปโดยชอบด้วยกฏหมาย ย้อนหลังไปถึงนับแต่วันที่มีการเอาที่ธรณีสงฆ์มาขายว่างั้นเถอะ นี่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องด้วยหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์มหาชนหรือไม่ หรือเป็นการตรากฎหมายฟอกการกระทำที่ผิดกฎหมายให้เป็นถูกกฎหมาย ฟอกคนทำผิดให้เป็นถูก 

ล้มหลักการสำคัญของบ้านเมือง คราวนี้โดยฝีมือของรัฐบาล คสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกำกับของ คสช.เสียเอง จึงมีปัญหาและข้อสงสัยเป็นอย่างยื่งว่า นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาโดยถูกต้องหรือเป็นการสร้างปัญหาที่เลวร้ายหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม เป็นเรื่องชวนติดตามอย่างยิ่งครับ เพราะเรื่องนี้คือมหากาพย์การโกงนับเวลาถึงกึ่งศตวรรษ ที่ประเทศนี้ยังหาหลักยึดที่ถูกต้องไม่ได้ และยังปล่อยคนผิดให้ลอยนวล ซึ่งขอพูดถึงในตอนต่อไป

คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน /หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3294 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7- 9 ก.ย.2560

 

related