svasdssvasds

เปิดบทเรียนความเสียหายแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ทำไมรุนแรง กระทบไทยหรือไม่?

เปิดบทเรียนความเสียหายแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ทำไมรุนแรง กระทบไทยหรือไม่?

เหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ของโลกที่มีความเสียหายหนักหน่วง ตัวเลขผู้เสียชีวิตหนักหมื่น อาคารบ้านเรือนพังยับ ทำไมเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ถึงสร้างความเสียหายอย่างมาก และจะมีผลกระทบถึงไทยหรือไม่? เรามาไขข้อข้องใจกัน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย มีรายงานออกมาว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตขยับขึ้นสูงไปมากกว่า 23,000 คนแล้ว และความเสียหายของอาคารบ้านเรือนเรียกได้ว่าพังยับเยิน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทำไมเหตุการณ์ครั้งนี้จึงเสียหายหนักมาก? ซึ่งได้มีการประเมินเบื้องต้นโดยมหาวิทยาลัย Bogazici ของประเทศตรุกีพบว่ากว่า 40 % ของอาคารในเมือง Kahramanmaras เกิดความเสียหายในระดับปานกลางถึงยับเยิน และมีบทสรุปเบื้องต้น ดังนี้

1) ความรุนแรงระดับ 9-10 ตามมาตรา Mercalli scale

2) เหตุการณ์เกิดขึ้นเวลาประมาณ 4 am ผู้คนกำลังหลับนอนไม่มีโอกาสวิ่งหนี

3) จุดกำเนิดแผ่นดินไหว และรอยแตกประมาณ 50 x 100 km2 ครอบคลุม พื้นที่ประชากรหนาแน่น

4) ขาดความตระหนัก เนื่องจากไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในรอบเกือบ 200 ปี

5) มาตรฐานการก่อสร้าง และ Code of practice มีปัญหา หรือไม่อย่างไร ?และ 5) สภาพอากาศหนาวเย็น -5oC ถึง -14oC

Cr.xinhua

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

จากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รายงานมีมากกว่า 20,000 คน ซึ่งยังคงเพิ่มขึ้น และต้องไม่ลืมว่าพื้นที่แห่งนี้ บริเวณรอยเลื่อน Anatolian ฝั่งตะวันออกเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 7.4M เมื่อปี 1822 (ประมาณ 200 ปีมาแล้ว) และก็มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน ในขณะที่ปี 1999 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6M ในรอยเลื่อน Anatolian เหนือ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 17,000 คน การบังคับใช้กฎหมาย และมาตรฐานการก่อสร้างจึงเป็นประเด็นสำคัญมาก

Cr. xinhua

เหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ครั้งนี้มีเกิดคำถามมากมายสำหรับคนไทยว่าเหตุการณ์แบบนี้มีโอกาสจะเกิดกับประเทศไทยในอนาคตได้หรือไม่?

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เผยว่าได้หารือกับ ศ.ปัญญา จารุศิริ และขออนุญาตนำเอางานวิจัยมาเปิดเผย โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต 50 ปี ที่ระดับความรุนแรง (ตามมาตรา Mercalli) ตั้งแต่ระดับ 4 (ผู้คนรู้สึกได้) ไปจนถึงระดับ 7 (ฝาห้องแตกร้าว เพดานร่วง) ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวตรุกีครั้งนี้อยู่ในระดับ 9-10 (อาคารบ้านเรือนพัง แผ่นดินแตกแยก) ดังนั้นโอกาสที่บ้านเราจะเจอแบบตรุกีจึงมีน้อยมาก (ไม่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ในประเทศ) แต่เรื่องของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บริเวณรอยเลื่อนนอกประเทศ ซึ่งทำให้เกิดคลื่นสึนามิตามมาเหมือนกับกรณีปี 2547 ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อคนไทย จึงต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

 

ที่มา : Facebook รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์