svasdssvasds

WMO ชี้ "เอเชีย" เกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ปี 2023 มีผู้เสียชีวิต 2,000 คน

WMO ชี้ "เอเชีย" เกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ปี 2023 มีผู้เสียชีวิต 2,000 คน

นึกว่ายุโรป ที่ไหนได้ WMO ออกมาไขกระจ่างว่า เอเชียเป็นทวีปที่เกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ในปี 2023 โดยทุกเหตุการณ์มีปัญหา Climate Change เป็นต้นตอ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย

SHORT CUT

  • WMO เปิดเผยว่า เอเชียคือทวีปที่เกิดภัยพิบัติ (ที่มี Climate Change เป็นต้นตอ) มากที่สุดในโลก ปี 2023 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน
  • ปี 2023 ไทยเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงถึง 44.6 องศาเซลเซียสที่จังหวัดตาก และกรุงเทพร้อนถึง 41 องศาเซลเซียส นับเป็นการทำลายสถิติใหม่ของเมืองหลวง
  • อากาศในเอเชียร้อนขึ้นจนทำลายสถิติใหม่ตั้งแต่ไซบีเรีย ไปจนถึงเอเชียกลาง และยาวตั้งแต่จีน ไปจนถึงญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็มีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วย

 

นึกว่ายุโรป ที่ไหนได้ WMO ออกมาไขกระจ่างว่า เอเชียเป็นทวีปที่เกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ในปี 2023 โดยทุกเหตุการณ์มีปัญหา Climate Change เป็นต้นตอ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติซึ่งเกิดจากสภาพอากาศมากที่สุดในโลกในปี 2023

โดยเมื่อปีที่แล้ว เป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนทุบสถิติใหม่ และเอเชียก็เป็นภูมิภาคที่มีอากาศร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในเอเชียมีความรุนแรงมากขึ้น และธารน้ำแข็งที่กำลังละลายก็ทำให้อนาคตของความมั่นคงทางแหล่งน้ำเสี่ยงสั่นคลอน

WMO เผย เอเชียเกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลก (ปี 2023)

WMO ยังระบุด้วยว่า มีรายงานการเกิดเหตุภัยพิบัติที่เชื่อมโยงกับสภาพอากาศและน้ำ 79 ครั้งในเอเชียเมื่อปี 2023 โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมและพายุ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน

เซเลสต์ เซาโล เลขาธิการ WMO เปิดเผยว่า หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเผชิญกับปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2023 ประกอบกับสภาพอากาศอันสุดโต่ง ตั้งแต่แล้งและคลื่นความร้อน ไปจนถึงน้ำท่วมและพายุ

เอเชียยังเป็นภูมิภาคที่ร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยอุณหภูมิเมื่อปีที่แล้ว สูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1961-1990 เกือบสององศาเซลเซียส

รายงานดังกล่าวอ้างอิงถึงตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่สำคัญๆ อย่างอุณหภูมิพื้นผิว ธารน้ำแข็ง และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยทั้งหมดย่อมมีผลสะท้อนกลับอันร้ายแรงต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศน์มนภูมิภาค

ไทยอากาศร้อนแตะ 44.6 องศา ในปี 2023

รายงานยังเอ่ยถึงประเทศไทย ซึ่งเผชิญกับอากาศร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม โดยเมื่อปีที่แล้ว รายงานชี้ว่า ไทยเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงถึง 44.6 องศาเซลเซียสที่จังหวัดตากในวันที่ 15 เมษายน

ขณะที่กรุงเทพฯ ร้อนถึง 41 องศาเซลเซียสในวันที่ 7 พฤษภาคม นับเป็นการทำลายสถิติใหม่ของเมืองหลวง

ไม่ใช่แค่ไทย ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียก็ร้อนแข่งกัน

จริงๆแล้วอากาศในเอเชียร้อนขึ้นจนทำลายสถิติใหม่ ตั้งแต่ไซบีเรีย ไปจนถึงเอเชียกลาง และยาวตั้งแต่จีน ไปจนถึงญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็มีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วย

ขณะที่แถบเทือกเขาหิมาลัย และฮินดูกูช ในปากีสถานและอัฟกานิสถานมีปริมาณน้ำฝน หิมะและลูกเห็บต่ำกว่าระดับปกติ อีกทั้งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนก็แล้งจัด มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าระดับปกติเหมือนกัน

WMO ยังระบุว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งส่วนใหญ่กำลังหายไป และละลายด้วยอัตรารวดเร็ว โดยพบว่า ธารน้ำแข็ง 20 จาก 22 แห่งในภูมิภาคแสดงให้เห็นว่าละลายหายไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันกเฉียงเหนือก็ร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

 

ที่มา: WMO, Straitstimes

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related