svasdssvasds

เปิดพันธกิจ 4 มิติ รับมืออนาคต เดินหน้าช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายพลังงาน

เปิดพันธกิจ 4 มิติ รับมืออนาคต เดินหน้าช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายพลังงาน

ราคาพลังงานที่สูงขึ้นกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน และภาคธุรกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวได้เร่งหาวิธีรับมือราคาพลังงาน วันนี้จะพาไปดูพันธกิจ 4 มิติ ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ที่เดินหน้าช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายพลังงานผลักดันไทยสู่ Net Zero

ทิศทางราคาพลังงานปี2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายตัว ประกอบกับความต้องการใช้พลังงานก็มีสูงขึ้นเช่นกัน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดว่าปี 2566 แนวโน้มการใช้พลังงาน มีความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศเพิ่มขึ้น 2.7% อยู่ที่ 2,111 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากความต้องการเดินทางที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติมากขึ้นทั้งการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศ

รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเป็นการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2% ก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.1% และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.4%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่าทิศทางการใช้พลังงานที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาพลังงานบางตัวที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นภายในปีนี้ทำให้กระทรวงพลังงาน ต้องเร่งติดตามทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2566 ว่ายังต้องติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ซึ่งสำหรับแผนงานสำคัญของกระทรวงพลังงานในปี 2566 จึงมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน โดยได้วางแผนงานและโครงการแบ่งเป็น 4 มิติ ดังนี้

มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

โดยแผนพลังงานชาติและแผนพลังงานรายสาขาใหม่เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 มีแผนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก ปลดล็อค ปรับปรุงกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนรถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาศักยภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ

ด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการนำเข้า Spot LNG เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานของรัฐ การบังคับใช้เกณฑ์ด้านพลังงานสำหรับการออกแบบอาคารสร้างใหม่ (BEC)

มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปี ประมาณ 37,700 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ในมิตินี้ยังมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญก็คือมาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานแบบเฉพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้มีรายได้น้อย

มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการโดยเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานรูปแบบInteractive Dashboard

 แสดงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานผ่านการประมวลผลรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลในการดำเนินงานด้านพลังงาน

อย่างไรก็ตามสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ยังมีแผนงานด้าน EV โดยขับเคลื่อนแผนงานด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการส่งเสริมการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถานีฯ เช่น การกำหนดค่าไฟของผู้ให้บริการที่อัตรา Low Priority การให้สิทธิประโยชน์ BOI รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับกรมสรรพสามิต ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศภายในปี 2568

 

related