svasdssvasds

ไร้ระบบความปลอดภัยเคมี ปมปัญหาอุบัติภัยสารเคมีซ้ำซากที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ไร้ระบบความปลอดภัยเคมี ปมปัญหาอุบัติภัยสารเคมีซ้ำซากที่ท่าเรือแหลมฉบัง

นักวิชาการชี้ เหตุอุบัติภัยสารเคมีที่ท่าเรือแหลมฉบังมีสาเหตุมาจากการขาดระบบจัดการสารเคมีอันตรายที่เหมาะสม จนทำให้เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลซ้ำซาก

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ตู้สินค้าบรรจุสารเคมีสารเคมีออกซิไดซ์ 5.2 ในลานสินค้าอันตรายที่ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี ฟุ้งกระจายในสิ่งแวดล้อม จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมี ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลถึงกว่า 20 คน อันเป็นเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีล่าสุดที่เกิดเหตุที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลบ่อยครั้งที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นเพราะท่าเรือแห่งนี้มีการขนถ่ายสินค้าที่เป็นสารเคมีอันตรายอยู่ตลอด อีกทั้งยังมีโกดังเก็บสารเคมีอันตรายที่ย้ายมาจากท่าเรือคลองเตยอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.สมนึก กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังยังมีมาตรการในการควบคุมดูแลการขนถ่ายและจัดเก็บสารเคมีอันตรายที่ยังไม่ดีพอ จึงทำให้ในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุอุบัติภัยเคมีครั้งใหญ่ที่แหลมฉบังกว่า 5 ครั้ง เป็นภัยคุกคามสุขภาพและความเป็นอยู่ของชุมชนรอบข้างท่าเรือ ที่ไม่อาจทราบได้ว่าอุบัติภัยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ไร้ระบบความปลอดภัยเคมี ปมปัญหาอุบัติภัยสารเคมีซ้ำซากที่ท่าเรือแหลมฉบัง

“เหตุการณ์ไฟไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสารเคมีอันตรายในครั้งนี้ เกิดจากการจัดเก็บสารเคมีที่มีความอ่อนไหวต่อความร้อนในตู้คอนเทนเนอร์กลางแจ้ง จนทำให้สารเคมีเกิดติดไฟขึ้น ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีการจัดเก็บสารเคมีอันตรายอย่างเหมาะสม” ดร.สมนึก กล่าว

“นอกจากนี้ การรับมือหลังเกิดเหตุยังไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเห็นว่ามีการรายงานชนิดสารเคมีไม่ตรง แต่โชคดีที่สารเคมีที่เกิดติดไฟขึ้นเป็นสารเคมีในสกุลเดียวกัน จึงสามารถดับไฟได้อย่างทันท่วงที แต่ก็ได้ทำให้เกิดควันไฟสารเคมี กระทบทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงต้องถูกนำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายคน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.สมนึก ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าสารเคมีไม่ถูกกับอากาศร้อน ทำไมจึงไม่มีการจัดเก็บสารเคมีในห้องปรับอากาศ จัดเก็บสารเคมีในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และมีระบบป้องกันอุบัติภัยสารเคมีที่ดีกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ติดตั้งระบบสปริงเกิลดับเพลิงทั้งระบบน้ำและระบบโฟม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกไหม้ หรืออุบัติภัยสารเคมีในอนาคต

นอกจากนี้ เขายังเสนอว่า จากปัญหาดังกล่าว การผลักดันร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ซึ่งจะสามารถช่วยติดตามการขนย้าย จัดเก็บ และการจัดการสารเคมีอันตรายได้ทั้งระบบ รวมไปถึงการออกกฎระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยในการขนย้ายและจัดเก็บสารเคมีอีกด้วย

เหตุไฟไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสารเคมีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ท่าเรือแหลมฉบัง  ที่มาภาพ: Sonthi Kotchawat

อนึ่ง กฎหมาย PRTR คือกฎหมายที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิด ไปบำบัดหรือกำจัด

ซึ่งสามารถช่วยให้ประชาชนสามารถรู้ข้อมูลแหล่งที่มาของมลพิษและประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้จากทุกที่ สามารถรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสารมลพิษรอบตัวและเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากสารมลพิษได้อย่างปลอดภัย

related