svasdssvasds

'Cirque' สตาร์ทอัพหัวใส! ค้นพบวิธีแยกวัสดุของผ้า และนำไปรีไซเคิลใช้ต่อได้

'Cirque' สตาร์ทอัพหัวใส! ค้นพบวิธีแยกวัสดุของผ้า และนำไปรีไซเคิลใช้ต่อได้

'Cirque' ผู้เข้ารอบสุดท้ายจากงานประกาศรางวัล Earthshot Prize ปี 2023 จากการค้นพบวิธีลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ด้วยการใช้เทคนิคแยกผ้าฝ้ายกับโพลีเอสเตอร์ออกจากกัน แล้วสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้

ว่ากันว่า 'เสื้อผ้า หน้า ผม' คือด่านแรกที่มนุษย์ใช้ตัดสินกันและกัน...

เชื่อว่าหลาย ๆ คนเคยลำบากลำบนในการหาเสื้อผ้าที่สวยงาม เสื้อผ้าที่เหมาะสม เสื้อผ้าที่กำลังโลดแล่นอยู่ในกระแส เพื่อต้องการปรุงแต่งภายนอกของตัวเองให้ดูดี ให้ดึงดูดสายตาผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา สิ่งนี้เป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกหนีไม่ได้ นับตั้งแต่ที่โลกของเราวิวัฒน์เข้าสู่โลกสมัยใหม่

แต่ปัญหาเสื้อผ้าที่ถูกผลิตออกสู่ตลาดที่รวดเร็วและมากจนเกินไป จึงก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) นิยามกว้าง ๆ ของมันก็คือ การที่ผู้ผลิตถักถอเสื้อผ้าออกมาเสิร์ฟตลาดในปริมาณมาก ๆ และมีคุณภาพต่ำ จากนั้นผู้บริโภคก็ซื้อไปใส่เพียงไม่กี่ครั้ง จากนั้นก็ทิ้ง และเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามเทรนด์ของช่วงเวลานั้น ๆ

วัฏจักรเหล่านี้ชวนให้ถกเถียงอย่างมากว่า อุตสาหกรรมแฟชั่น ส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ในเหลี่ยมมุมไหนบ้าง บ้างก็บอกว่า ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาเสื้อผ้าที่ถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า และสุดท้ายก็กลายเป็นขยะ มุ่งหน้าสู่กระบวนการฝังกลบ ผลพวงสุดท้ายก็ส่งผลวิ่งตรงไปที่โลกใบนี้ที่ได้รับมลพิษจากอุตสาหกรรมแฟชั่น

อุตสาหกรรมแฟชั่นก่อให้เกิดมลพิษต่อโลก Cr. Equal Justice

แต่ล่าสุดสตาร์ทอัพอย่าง Cirque ค้นพบวิธีแยกผ้าฝ้ายและผ้าโพลีเอสเตอร์ออกจากกันได้ด้วยกระบวนการทางเคมี Cirque คือผู้เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายของการประกาศรางวัล Earthshot Prize 2023 รางวัลนี้จะมอบให้กับบุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานด้านสิ่งแวดล้อม

โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นจำนวน 1 ล้านปอนด์ ซึ่งสตาร์ทอัพอย่าง Cirque ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากการค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากมลพิษที่ถูกปล่อยมาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ

งาน Earthshot Prize Cr. Flickr

Cirque ค้นพบอะไร?

ต้องบอกว่าวัสดุอย่าง โพลีเอสเตอร์ (Polyester) ถือเป็นพลาสติกประเภทหนึ่ง โดยมีชื่อเต็ม ๆ ว่า Polyethylene Terephthalate โพลีเอสเตอร์จัดอยู่ในผ้าประเภทที่ทำมาจากใยสังเคราะห์ เทอร์โมพลาสติก (Thermo Plastic) และแน่อนไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ Cirque จึงได้คิดค้นวิธีการแยกผ้าฝ้ายและผ้าโพลีเอสเตอร์ออกจากกัน โดยที่ยังสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ด้วย

ผ้าโพลีเอสเตอร์ทำมาจากใยพลาสติก Cr. Wikipedia

“กระบวนการของเราคือ นำเสื้อผ้าไปเข้าในหม้อแรงดัน”

หลังจากที่เสื้อผ้าเข้าไปคลุกตัวอยู่ในหม้อแรงดันแล้ว ก็จะเกิดปฏิกิริยาเคมีและทำให้โพลีเอสเตอร์หลอมละลายกลายเป็นเศษพลาสติก

ในขณะที่วัสดุอย่างผ้าฝ้ายยังคงสภาพเดิม และหลังจากที่ Cirque แยกวัสดุทั้ง 2 ชนิดนี้ได้แล้ว ก็สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเสื้อผ้าต่อไปได้เรื่อย ๆ ถือเป็นก้าวสำคัญของแวดวงอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีวิธีการยืดอายุเสื้อผ้าให้มีระยะเวลาการใช้งานที่นานขึ้น

“ทีมของเราใช้เวลาอยู่ 2 สัปดาห์ในการแยกผ้า 2 ชนิดนี้ออกจากกัน หลังจากนั้นเราก็ได้เปิดตัวคอลเลกชันแรกกับ Zara ที่ผลิตจากขยะโพลีคอตตอน”

“อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองมากที่สุดในโลก” คอนเนอร์ ฮาร์ทแมน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติของ Cirque กล่าว

ปัญหาที่ฝังรากในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

กลับมาสู่โลกของความเป็นจริง ปัจจุบันโลกกำลังถูกอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดกำลัง ด้วยการปล่อยมลพิษมากมายมหาศาล ตามข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ อุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนประมาณ 10% ต่อปี

ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากกระบวนการผลิตและการขนส่ง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางในอากาศและการขนส่งทางทะเลรวมกันเสียอีก

นอกจากนี้ธนาคารโลก (World Bank) ได้รายงานว่า อุตสาหกรรมแฟชั่น จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 50% ภายในปี 2573 หากเราลงไปสำรวจการเดินทางของเสื้อผ้าที่ไร้ประโยชน์แล้วเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ และจบที่กระบวนการฝังกลบ

ข้อมูลในปี 2018 พบว่า ในช่วงเทศกาลแฟชั่นตามหัวเมืองใหญ่ ๆ อย่างปารีส มิลานและเมืองอื่น ๆ ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันกว่า 241,000 ตัน โดยคำนวณจากการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ ที่พัก รวมถึงการขนส่งคอลเลกชันโดยผู้ซื้อปลีกกว่า 11,000 ราย และสำหรับดีไซน์เนอร์อีกกว่า 5,000 ราย

ซึ่งตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนดังกล่าว มากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเซนต์คิสต์และเนวิสเสียอีก (238,000 tCO2e) และหากเราสามารถหวนคืนพลังงานดังกล่าวกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ผู้เชี่ยวชาญได้คำนวณว่า มหานครนิวยอร์กจะมีพลังงานหล่อเลี้ยงเมืองให้สว่างไสวเป็นระยะเวลา 58 ปี

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามิอาจทราบได้ว่า การค้นพบครั้งนี้ของทีม Cirque จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลกได้แค่ไหน เหล่าผู้ผลิตเสื้อผ้าจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับใช้อย่างเป็นจริงเป็นจังหรือไม่ เพราะดูแล้ว แนวโน้มความนิยมของเปลือกนอกอย่างเสื้อผ้าอาภรณ์ของเราน่าจะยังคงเพิ่มมากขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: biz.crast

        Statista

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related