svasdssvasds

สรุปให้ "ปลาออร์ฟิช" โผล่เหนือผิวน้ำ จ.สตูล สัญญาณเตือนภัยพิบัติจริงหรือ?

สรุปให้ "ปลาออร์ฟิช" โผล่เหนือผิวน้ำ จ.สตูล สัญญาณเตือนภัยพิบัติจริงหรือ?

ผู้ใช้เฟสบุ๊ค Wannarrong Sa-ard เผยภาพ "ปลาออร์ฟิช" ติดอวน จ.สตูล ประชาชนฮือฮา สอบถามว่า ปลาออร์ฟิชโผล่เหนือผิวน้ำ จะเกิดภัยพิบัติหรือเปล่า Keep The World สรุปให้ ว่าปลาออร์ฟิช โผล่เหนือผิวน้ำเชื่อมโยงกับภัยพิบัติหรือไม่ ติดตามได้ที่บทความนี้

ก่อนอื่น ปลาออร์ฟิช ไม่ใช่ปลาพญานาค! แม้จะมีลำตัวยาวคล้ายคลึงกับพญานาคตามความเชื่อแบบที่เราคุ้นชินก็ตาม

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟสบุ๊ค Wannarrong Sa-ard ได้โพสต์ปลาออร์ฟิช พร้อมระบุข้อความว่า “ปลาอะไรคะ ติดเรือขึ้นมาค่ะ (เรือ ก.เทพเจริญพร 15) ละงู สตูล”

โดยภายหลัง ผู้ใช้เฟสบุ๊คดังกล่าว ได้ออกมาอัพเดตความคืบหน้าของปลาชนิดนี้ว่า “จากภาพ น้องคือปลาออร์ฟิชนะคะ(ใช่หรือไม่ ต้องรอผลวิจัยอีกที) แต่ตอนนี้มีพี่นักวิจัยประมงมารับน้องไปวิจัยแล้วนะคะ”

ผู้ใช้เฟสบุ๊คโพสต์ภาพปลาออร์ฟิช Cr. Wannarrong Sa-ard

หากใครจำกันได้ “ปลาออร์ฟิช” เป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันดีในฐานะ “ปลาพญานาค” อันเป็นผลพวงมาจากรูปถ่ายที่คาดว่าทุกบ้านน่าจะมีติดไว้บนผนัง เป็นรูปของทหารชาวอเมริกัน ที่อุ้มปลาออร์ฟิช ซึ่งถูกฝังในลงในระบบความเชื่อกันมาว่า นั่นคือ พญานาค

หลังจากที่ Spring News ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้คนที่เข้ามาแสดงความรู้สึกกันใต้ช่องคอมเมนต์ของโพสต์ดังกล่าว หลายส่วนลงความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยตั้งข้อสันนิษฐานว่านี่คือ "สัญญาณของภัยพิบัติ” หรือเปล่า?

“ปลาออร์ฟิช” โผล่ผิวน้ำ สัญญาณภัยพิบัติ จริงหรือ?

รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาไขกระจ่างข้อสงสัยดังกล่าวผ่าน เฟสบุ๊ค“อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฐ์” โดยระบุว่า

“ท่านที่กังวลว่ามันจะเป็นลางบอกเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ อะไรทำนองนั้น ก็ขอบอกว่า นั่นเป็นแค่ความเชื่อครับ จริงๆ ส่วนใหญ่ที่เจอมันขึ้นมาบนผิวน้ำ หรือเกยชายหาด ก็เพราะมันป่วย (ส่วนปลาตัวนี้ โดนอวนลากขึ้นมา)”

ปลาออร์ฟิช ยังถูกพบอยู่เรื่อย ๆ Cr. Reuters

นอกจากนี้ ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึง issue เรื่องที่บอกว่า ปลาออร์ฟิชโผล่เหนือผิวน้ำ ที่จังหวัดสตูล เชื่อมโยงเกี่ยวกับ ภัยพิบัติ อาทิ แผ่นดินไหว สึนามิ หรือไม่?

อาจารย์ ธรณ์ ระบุว่า ณ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจ ว่าการพบปลาออร์ฟิชที่จ.สตูล ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกของประเทศไทยหรือไม่ โดยกล่าวเพิ่มว่า ทั่วโลกก็ยังมีการเจอปลาออร์ฟิชอยู่เรื่อย ๆ

ออร์ฟิชอาศัยอยู่น้ำลึก แล้วมาทำอะไรที่ผิวน้ำ?

โดยปกติแล้ว ปลาออร์ฟิชเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำลึก ซึ่ง อาจารย์ธรณ์คาดว่า แหล่งพบเจอปลาออร์ฟิช ที่จ.สตูล น่าจะถูกพบที่ทะเลอันดามัน ซึ่งระดับความลึกคือ 2,000 เมตร หมายความว่า ถ้าจะพบปลาออร์ฟิชก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

อาจารย์ ธรณ์ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่กระแสน้ำเย็นไหลเข้าอันดามัน ทำให้พบปลาแปลก ๆ ที่หลั่งไหลกันเข้ามาตามมวลน้ำเย็น ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ปลาออร์ฟิชจะมาตามน้ำเย็นเช่นกัน

ปลาออร์ฟิช ที่จ.สตูล Cr. Wannarrong Sa-ard

อย่าตื่นตระหนก!

สำหรับใครที่ตื่นตระหนก หรือชาวสตูลที่พบเห็นข่าวของปลาออร์ฟิช แล้วยังมีความเชื่อว่าจะเกิดภัยพิบัติ ขออย่าตื่นตระหนกไป เพราะนั่นเป็นแค่เรื่องที่ลือกันมาเท่านั้น

แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เฉกเช่น ประเทศญี่ปุ่น แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ออกมายืนยันแล้วว่า นี่น่าจะเป็นเหตุผลดังที่กล่าวไปมากกว่าที่จะเป็นเหตุผลเรื่องภัยพิบัติ

อาจารย์ ธรณ์ กล่าวสร้างความเชื่อมั่นทิ้งท้ายไว้ว่า

“อนึ่ง ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แม้บางทีเราอาจได้ยินว่าเป็นปลาแผ่นดินไหว แต่เป็นการว่ายเข้ามาที่ฝั่ง ไม่ใช่จับมา แม้ว่ายมาฝั่งก็ไม่ใช่ทุกครั้ง อันที่จริง ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า จึงไม่ต้องตื่นตระหนกกัน สตูลยังเที่ยวได้ครับ”

ทำความรู้จัก “ปลาออร์ฟิช”

ปลาออร์ฟิช (Oarfish) มีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคลึงกับพญานาคตามตำนานความเชื่อของไทย ลำตัวสามารถยาวได้ถึง 9 เมตร มีน้ำหนัก 300 กิโลกรัม ปลาชนิดนี้ได้รับการบันทึกโดย Guinness World Record ว่าเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังยาวที่สุดในโลก (คาดว่ายาวได้ถึง 11 เมตร)

ปลาออร์ฟิช เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำลึก ตั้งแต่ระดับความลึกที่ 1,000 เมตร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มักไม่ค่อยมีใครพบเห็น ทำให้พบเห็นแต่ละที ก็เป็นที่ฮือฮากันทุกรอบ โดยเฉพาะคนไทย

ภาพ illustrator ปลาออร์ฟิช Cr. Wikimedia

ปลาชนิดนี้กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร แม้รูปร่างจะดูเป็นขาโหดใต้ทะเล แต่ต้องบอกว่าปลาออร์ฟิชไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ แต่จากการสืบค้นข้อมูล (ยังไม่ได้รับการยืนยัน) พบว่า หากเราไปสัมผัสตัวปลาออร์ฟิชขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามลำตัวของมันจะปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมา ซึ่งอันสร้างอันตรายต่อมนุษย์ได้

พูดถึงปลาออร์ฟิช หากไม่กล่าวถึงรูปถ่ายอันลือลั่นคงจะไม่ครบถ้วนกระบวนความ นั่นคือ ภาพถ่ายของทหารชาวอเมริกัน ที่ยืนเรียงแถวกันอุ้มปลาออร์ฟิชที่จับได้จากแม่น้ำโขง ประเทศลาว ในปี 1996 ในยุคสงครามเวียดนาม

ทหารอเมริกันอุ้มปลาออร์ฟิช ภาพภ่ายในปี 1996 Cr. WIRED

ทว่า ความเป็นจริงแล้ว ปลาออร์ฟิชตัวในภาพถ่ายดังกล่าว ถูกจับได้ที่ค่ายทหารในเกาะโคโรนาโด รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ซึ่งซากของปลาออร์ฟิชตัวดังกล่าว ก็ยังถูกเก็บไว้อย่างดีที่ สถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ หรือ Scripps Institution of Oceanography เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย (เก็บไว้เฉพาะส่วนหัวเพื่อศึกษา)

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related