svasdssvasds

“Tawuran” วัฒนธรรมยกพวกตีกัน ของ “วัยรุ่นต่างสถาบัน” ในอินโดนีเซีย

“Tawuran” วัฒนธรรมยกพวกตีกัน ของ “วัยรุ่นต่างสถาบัน” ในอินโดนีเซีย

รู้จัก “Tawuran” วัฒนธรรมยกพวกตีกัน ของ “วัยรุ่นต่างสถาบัน” ในอินโดนีเซีย มักเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนเลิกเร็วกว่าปกติ

SHORT CUT

  • “Tawuran” หมายถึงการก่อเหตุรุนแรงประเภทหนึ่งที่ไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • Tawuran มักเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนเลิกเร็ว เพราะนักเรียนเหลือพลังงานเยอะ ส่วนช่วงวันหยุดมักไม่ค่อยพบ 
  • เหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีระหว่างสถาบัน และความต้องการแสดงบทบาทเจ้าถิ่น 

รู้จัก “Tawuran” วัฒนธรรมยกพวกตีกัน ของ “วัยรุ่นต่างสถาบัน” ในอินโดนีเซีย มักเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนเลิกเร็วกว่าปกติ

เชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องคุ้นเคยกับข่าวเด็กนักเรียนต่างสถาบันยกพวกตีกันเป็นอย่างดี เพราะมีในบ้านเรามีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ แต่รู้หรือไม่ว่า วัฒนธรรมการยกพวกตีกันในหมู่วัยรุ่นไม่ได้มีแค่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะเพื่อนบ้านในอาเซียนของเราอย่างอินโดนีเซียก็มีเหตุการณ์ตีกันระหว่างวัยรุ่นต่างสถาบันอยู่ด้วยเหมือนกัน

ในสังคมอินโดนีเซีย มีคำที่เรียกว่า “Tawuran” ซึ่งหมายถึงการก่อเหตุรุนแรงประเภทหนึ่งที่ไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ได้เกิดจากความต้องการหารายได้เพื่อการดำรงชีวิตด้วย

แต่ Tawuran ส่วนใหญ่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างโรงเรียนสองแห่งขึ้นไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นประเพณีของกลุ่มวัยรุ่น ที่ต้องการพิสูจน์ศักดิ์ศรีของตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากเพื่อนหรือรุ่นพี่ในสถาบันเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีไหนไปไม่ได้เลย นอกจากการเข้าไปต่อยหน้าวัยรุ่นจากสถาบันอื่นสักคนให้เพื่อนดู

ซึ่งตัวอย่างของพฤติกรรมแบบ Tawuran ที่สืบทอดกันมาคือ การใช้เข็มขัดหรือดาบเป็นอาวุธในการตะลุมบอนกับอริต่างสถาบัน ซึ่งทำตามกันมาเป็นรุ่นสู่รุ่นจนบางโรงเรียนมีศิลปะการต่อสู้ที่เอกลักษณ์ด้วยวิธีนี้ และถ้าศิษย์ปัจจุบันเอาไปสืบทอดต่อก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และได้รับการเคารพจากเพื่อนในสถาบันอีกด้วย

รู้จัก “Tawuran” วัฒนธรรมยกพวกตีกัน ของ “วัยรุ่นต่างสถาบัน” ในอินโดนีเซีย

พฤติกรรมทำนองนี้ แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงนั้นฝังรากลึก และกลายเป็นเงื่อนไขหลักในการพิสูจน์ตนเองของวัยรุ่นวัยรุ่นอินโดนีเซีย ซึ่งข้อมูลจาก “คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาวอินโดนีเซีย (KPAI)” แสดงให้เห็นว่า Tawuran ยังคงเกิดขึ้นทุกปี และระดับความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุยังค่อนข้างซับซ้อน แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นทุกปีของพลเมืองในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย กำทำให้สันนิษฐานได้ว่า จำนวนความถี่ของการ “ยกพวกตีกัน” มีความเชื่อมโยงกับจำนวนพลเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจหมายความว่าการที่มีจำนวนเด็กมากขึ้น ก็ทำให้ตำรวจควบคุมเหตุได้ยากขึ้นเช่นกัน

นอกเหนือจากเรื่องค่านิยม และความหนาแน่นของประชากรแล้ว ผังเมืองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นยกพวกตีกันบ่อยครั้งเช่นกัน เพราะโรงเรียนที่เปิดศึกกัน มักจะตั้งอยู่ใกล้กัน ทำให้ในกรุงจาการ์ตามีชาวบ้านแจ้งเหตุนักเรียนขว้างปาก้อนหินใส่นักเรียนจากอีกสถาบันระหว่างอยู่บนรถเมล์เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้าเวลาไปโรงเรียน หรือตอนเย็นเวลากลับบ้าน แสดงให้เห็นว่า นักเรียนจากสองโรงเรียนที่เป็นอริกัน มักเดินทางด้วยรถประจำทางสายเดียวกัน

 

Tawuran มีที่มาจากอะไร ?

“พจนานุกรมภาษาซุนดา-อังกฤษ (Sundanese-English dictionary) ” ให้คำจำกัดความ “Tawuran” เอาไว้ว่า “จ่าย” หรือ “ไถ่ถอน” ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า "การชำระหนี้ของตน" แต่การก่อกำเนิดของวงการศึกษามวลชนหลังอินโดนีเซียได้รับเอกราช และการเพิ่มขึ้นของเหตุวิวาทของนักเรียนบนท้องถนน ความหมายของ “Tawuran” จึงเปลี่ยนไปเป็น "การต่อสู้ของมวลชนหรือฝูงชน"

ทำให้อิทธิพลของ “Tawuran” กระจายไปสู่สังคมของคนหนุ่มสาวอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะคนหนุ่มสาวไม่ว่าจะในวัฒนธรรมไหนของโลกมักแสวงหาเทรนด์ใหม่ๆ และจากนั้นจะเผยแพร่เทรนด์ หรือค่านิยมใหม่ที่ได้รับมาไปให้คนในสังคมเดียวกันอยู่เสมอ จึงส่งผลให้คำว่า “Tawuran” ในปัจจุบัน มีความหมายเป็นการยกพวกตีกันของวัยรุ่นอินโดนีเซียไปโดยปริยาย

เพราะวัยเรียนเป็นช่วงเวลาเดียวที่มนุษย์เรารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ด้วยเหตุนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่คนในกลุ่มนั้นจะสร้างค่านิยมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของคนในกลุ่ม จึงไม่มีโรงเรียนใดที่ปราศจากสังคมแบบ "แก๊ง" เลยแม้แต่โรงเรียนเดียว

ซึ่งความน่ากังวลคือ ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และครู ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า แก๊งวัยรุ่นเหล่านั้น เป็นแค่การละเล่นของเด็กๆ ที่ยังไม่โต ทั้งที่ความจริง สังคมแก๊ง ของวัยรุ่นในปัจจุบันนั้น มีการปลูกฝังความรุนแรง ที่ไม่ต่างอะไรกับองค์กรนักรบ หรือกองกำลังกึ่งทหารเลย

โดยบันทึกของตำรวจอินโดนีเซียรายหนึ่ง เผยว่า “แก๊งมอเตอร์ไซค์วัยรุ่น” ที่ชอบสร้างความวุ่นวายบนเกาะชวา ในปี 1982 มักคัดสมาชิกเข้ากลุ่มด้วยวิธีอันทารุณโหดร้าย เช่นการยืนให้เพื่อนต่อยและเตะโดยห้ามล้ม และเมื่อผ่านการทดสอบความอดทนเบื้องต้นแล้ว สมาชิกใหม่จะต้องพิสูจน์ความกล้าหาญด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งโดยห้ามใช้เบรคแม้แต่ครั้งเดียว

นอกจากนี้ ยังต้องแสดงความภักดีต่อคนในแก๊งด้วยการดื่มเลือดสัตว์ และอาจต้องทำร้ายคนจากแก๊งอื่น หรือใครก็ตามที่หัวหน้าแก๊งกำหนดเพื่อแสดงถึงการเชื่อฟัง และถ้าเข้าเป็นสมาชิกแล้วต้องเป็นตลอดไป ถ้าจะออกจากแก๊งก็ต้องตัดนิ้วก้อยตัวเองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการพรากจากชั่วนิรันดร์ ในทางกลับกัน ถ้าใครออกจากลุ่มโดยไม่ได้บอก ก็อาจถูกตามล่าไปตลอดชีวิต

ความรุนแรงในหมู่วัยรุ่น และนักเรียนเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเป็นสถาบันที่ก่อให้กำเนิดค่านิยมแบบสุดโต่งได้ ซึ่งความสุดโต่งนั้น คล้ายกับความคลั่งไคล้ทางชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนในสถาบัน จะคำนึงถึงเพื่อนและศักดิ์ศรีของแก๊ง มากกว่าครอบครัวหรือชีวิตของตัวเอง จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะชอบก่อเหตุทะเลาะวิวาทโดยปราศจากการยั้งคิดไตร่ตรอง

Wilayah-wilayah Kekerasan di Jakarta

ย้ายโรงเรียนให้อยู่ห่างกัน ทางออกของปัญหา 

“เจอโรม ทาดี้ (Jerome Tadie)” นักวิจัยชาวฝรั่งเศส ตั้งข้อสังเกตในหนังสือของเขา “Wilayah-wilayah Kekerasan di Jakarta” ว่าการยกพวกตีกันบนท้องถนนของนักเรียน หรือ Tawuran ในกรุงจาการ์ตานั้น มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งพบเห็นได้ยากในประเทศอื่น

โดย Tawuran จะเกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน และมีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายประการที่กระตุ้นให้เกิดการปะทะขึ้น โดยที่พบได้บ่อยคือ การยกพวกตีกันระหว่างรอขึ้นรถสาธารณะที่ป้าย ซึ่งนักเรียนจากสองสถาบันมักเดินทางกลับบ้านในเส้นทางเดียวกันทั้งขาไปขากลับ จึงทำให้เกิดการศึกแย่งชิงความเป็นเจ้าถิ่นกันบ่อยครั้ง ซึ่งภาษาสงครามเรียกว่า “Turf War”

นอกจากนี้ เรื่องเวลาก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะ Tawuran มักเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนเลิกเร็ว (นักเรียนเหลือพลังงานเยอะ) เพราะเจอโรมตั้งข้อสังเกตว่า การยกพวกตีกันมักไม่ค่อยเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยการสอบ และวันหยุดเรียนมากเป็นพิเศษ

ในทางกลับกัน Tawuran จะพบได้มากสุดในช่วง เดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายโรงเรียนเปิดภาคเรียน ซึ่งย่อมหมายถึงช่วงเวลาที่หลายแก๊งมีการรับสมาชิกหน้าใหม่ และต้องมีการพิสูจน์ตัวเองตามมาอีกมาก นอกจากนี้ เจอโรม ยังพบว่า ช่วงเวลาที่มีการปะทะกันระหว่างแก๊งต่างสถาบันมากที่สุดคือ คือ ช่วง 06.00-07.00 น. (ไปโรงเรียน) , 12.00-14.00 น. (พักเที่ยง) และ 17.00-19.00 น. (กลับบ้าน)

เจอโรมสังเกตว่า เหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของความภาคภูมิใจในตัว และความต้องการควบคุมพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า วัยรุ่นเหล่านี้ไม่เกรงกลัวตำรวจ ครู หรือพ่อแม่ตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียว ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยศีลธรรมอย่างการตักเตือน หรืออบรมจึงไม่ได้ช่วยลดจำนวนเหตุ Tawuran ลงเลยแม้แต่น้อย แต่การปรับปรุงผังเมือง หรือย้ายโรงเรียนให้อยู่ห่างกัน จึงอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าตามการวิเคราะห์ของเจอโรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related