svasdssvasds

ศิษย์เก่ายืนยัน รอย “ฟันเฟือง” สื่อความเป็นพี่น้องช่างกล ไม่ใช่ล่าแต้ม

ศิษย์เก่ายืนยัน รอย “ฟันเฟือง” สื่อความเป็นพี่น้องช่างกล ไม่ใช่ล่าแต้ม

ศิษย์เก่า ยืนยัน รอยประทับ “ฟันเฟือง” สื่อความเป็น 4 พี่น้องช่างกล ไม่ใช่เครื่องหมายล่าแต้ม วอนสังคมอย่าเหมารวม

จากกรณี ชุดตำรวจสืบสวนนครบาลยกกำลังจับเด็กช่าง 8 คน ซึ่งทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงน้องหยอด นักเรียนมหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก และครูเจี๊ยบ ครูสอนคอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่พบว่า 4 ใน 8 คน มีรอยแผลเป็นรูป ฟันเฟือง โดยแต่ละคนมีเท่ากันคือ 4 ฟันเฟืองบนต้นแขน ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดว่า รอยแผลเหล่านี้มีไว้เพื่อประกาศศักดา เป็นสัญลักษณ์ไว้บอก “ลำดับชั้น” หรืออาจบอกจำนวนครั้งที่ก่อเหตุของเจ้าตัว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า กลุ่มนี้มีลักษณะเป็นองค์กร เพราะมีการระดมทุนเอามาเป็นเงินกลองกลาง และมีคนดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีการสร้างค่านิยมกันเอง เพื่อปลุกใจให้คนในกลุ่มก่อเหตุ และเจ้าหน้าที่พบผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้แล้วอย่างน้อยอีก 82 คน โดยส่วนใหญ่ คือเด็กที่เรียนไม่จบ หรือถูกทำให้พ้นสภาพจากสถาบัน ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนเพื่อหาคนที่เป็นหัวหน้ากลุ่มต่อไป

ศิษย์เก่ายืนยัน รอย “ฟันเฟือง” สื่อความเป็นพี่น้องช่างกล ไม่ใช่ล่าแต้ม

รอยฟันเฟือง

เพื่อทำความเข้าใจความหมายของรอยแผลเป็นรูปฟันเฟืองในวัฒนธรรมของเด็กช่างกล ทีมข่าว SPRiNG ได้พูดคุยกับคุณ "ศรากร สังข์โสภณ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทคิวแพ็คโปรเกรซ จำกัด (Kupack Progress) และเป็นศิษย์เก่าช่างกลปทุมวัน รุ่น 55 ถึงความหมายที่แท้จริงของรอยแผลนี้ว่าหมายถึงอะไร

คุณ ศรากร เล่าว่า ไม่ได้รู้จักองค์กรที่เด็กช่างทั้ง 8 คนสังกัดอยู่ แต่ในยุคของตนเองและเด็กที่เรียนหลักสูตรช่างกลทั่วไป รอยฟันเฟืองไม่ได้หมายถึงการบอกลำดับยศหรือสัญลักษณ์ของการล่าแต้มแน่นอน แต่หมายถึงสายสัมพันธ์ความเป็นพี่น้องของ 4 โรงเรียนช่าง ซึ่งเรียกกันว่า 4 เฟืองทอง

โดยเฟือง เป็นสัญลักษณ์ของงานสายวิศวกรรม ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนก็ประกอบไปด้วยเฟืองใหญ่ เฟืองเล็กที่หมุนอยู่ตลอดเวลา ฟันเฟืองจึงหมายถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพ

ส่วน 4 ฟันเฟืองมาจาก 4 สถาบันช่างกลที่มีครูใหญ่คนเดียวกันคือ อาจารย์สิทธิพล พลาชีวิน ที่เริ่มจากการเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนช่างกลแห่งแรกของประเทศไทย คือ "โรงเรียนอาชีพช่างกล" ที่ก่อตั้งในปี 2475 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น โรงเรียนช่างกลปทุมวัน

ต่อมาเมื่อหลักสูตรช่างกลได้รับความนิยม เพราะหางานง่าย บวกกับงานในภาครัฐและเอกชนก็ต้องการเด็กช่างกลมาก ทำให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ อาจารย์สิทธิพล จัดตั้งโรงเรียนช่างกลเพิ่ม เพื่อผลิตนักเรียนให้เพียงพอกับตลาดแรงงาน จึงได้มีการก่อตั้ง โรงเรียนช่างกลลพบุรี ในปี 2500 กับ โรงเรียนช่างกลนนทบุรีและโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือในปี 2501

โดยช่วงนั้นทุกแวดวงจะเรียก 4 โรงเรียนนี้ว่า 4 เฟืองทอง ซึ่งทุกเฟืองจะหมุนส่งเสริมซึ่งกัน และเป็นพี่น้องกันตลอดไป ทำให้นักเรียนที่เข้ามาใน 4 สถาบันนี้อยากมีรอยฟันเฟืองประทับบนร่างกายกันทุกคน

 

4 เฟืองทอง

คุณศรากร เล่าถึงตอนที่ตัวเองยังเป็นนักเรียนช่างกลปทุมวันว่า เมื่อเข้ามาเป็นน้องใหม่ รุ่นพี่เขาไม่สนว่าคุณมาจากสถาบันไหน หรือเคยขัดแย้งกับใครมาก่อน แต่เมื่อก้าวเข้ามาอยู่ในรั้วเดียวกันแล้วคือพวกพ้องกัน ซึ่งรุ่นพี่เขาจะมีกิจกรรมรับน้องด้วยการให้ออกกำลัง หรือจัดปาร์ตี้ เพื่อให้ทุกคนรู้จักกัน โดยไม่มีการใช้ความรุนแรง

เมื่อจบกิจกรรมละลายพฤติกรรม จะมีการประทับรอยฟันเฟืองบนร่างกาย โดยรุ่นพี่จะถามจากความสมัครใจ ไม่มีการใช้กำลังบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งรุ่นน้องทุกคนมีสิทธิ์เลือกในร่างกายตัวเองว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้

ส่วนคนที่เลือกจะประทับรอยเฟือง จะมีเงื่อนไขว่า ต้องมีสติสัมปชัญญะ สมบูรณ์เท่านั้น ถ้าเมาหรือขาดสติ รุ่นพี่จะไม่ทำให้เด็ดขาด และผู้ที่ต้องการประทับตราก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะเอารอยเฟืองกี่รอย ซึ่งแต่ก่อนก็นิยมประทับ 1-2 รอย ทว่าปัจจุบันนิยมประทับกัน 4 รอยเพื่อให้ครบ 4 เฟืองทอง ส่วนผมขอประทับไป 2 เฟือง คือหนึ่งที่แขนข้างกว่า ส่วนอีกหนึ่งที่แขนข้างซ้าย เพราะผมเรียนช่างกลมา 2 ที่ คือ ปวช. ที่ช่างกลพระนครเหนือ และ ปวส.ที่ช่างกลปทุมวัน

คุณ ศรากร กล่าวอีกว่า เพราะมีเด็กช่างกลที่มีรอยฟันเฟืองเยอะ จึงขอวอนสังคมหยุดตัดสินแบบเหมารวม เนื่องจากรอยประทับนี้มีไว้เพื่อส่งเสริมความสามัคคีในหมู่พี่น้องโรงเรียนช่างเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงจำนวนครั้งที่ก่อเหตุแต่อย่างใด และตนยังเป็นห่วงรุ่นน้องอีกหลายคนที่กำลังจะเรียนจบ เนื่องจากคนที่มีรอยฟันเฟืองหลายคนก็เป็นเด็กดีที่ตั้งใจทำงาน ไม่ได้เป็นเด็กเกเรเหมือนกลุ่มที่ปรากฏในข่าวแน่นอน

คุณศรากร ทิ้งท้ายว่า ระบบโซตัสในปทุมวันมีความคล้ายค่ายทหารอยู่บ้าง เพราะโรงเรียนช่างกลปทุมวันมีระบบและระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน แต่นักเรียนก็ยังสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้ ตราบใดที่ยังอยู่ในกฎของสถาบัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนช่างกลรู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน ไปอยู่ในสังคมไหนก็ดูอ่อนโยน ไม่ใช่แข็งกระด้างจนไม่มีใครอยากรับเข้าทำงานด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related