svasdssvasds

กรมอนามัย เตือน แตงโมต้มน้ำตาล รักษาโรคไต ไม่ได้ กินเยอะ เสี่ยงอ้วน

กรมอนามัย เตือน แตงโมต้มน้ำตาล รักษาโรคไต ไม่ได้ กินเยอะ เสี่ยงอ้วน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน คนไทยที่ได้รับข้อมูลจากสื่อโซเชียลเรื่องนำ แตงโมต้มน้ำตาล มากินเพื่อรักษาโรคไต ยืนยัน ไม่ใช่เรื่องจริง หากกินเยอะเสี่ยงเกิดโรคอ้วน เบาหวาน ฟันผุ แนะ หากเป็นโรคไตควรปรึกษาแพทย์และควบคุมอาหารให้เหมาะกับร่างกาย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวที่แชร์กันอยู่ในโซเชียลมีเดีย ประเด็นที่มีการต้มแตงโมผสมกับน้ำตาล และปั่นทิ้งไว้ 4-5 วัน เรียกว่า น้ำตาลแตงโม ซึ่งกินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง  เช้า - เย็น จะช่วยรักษาโรคไตได้นั้น ซึ่งคำแนะนำในเรื่องนี้    “ไม่เป็นความจริง”  แต่อย่างใด นอกจากจะรักษาโรคไตไม่ได้แล้ว การกินน้ำตาลมากเกินไป ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน เบาหวาน และฟันผุ อีกด้วย โดยปกติผู้เป็นโรคไตต้องควบคุมและจำกัดอาหารตามระยะของโรคไตเรื้อรัง ไม่กินอาหารที่มีโซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัสมาก และต้องควบคุมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะ ผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ต้องงดกินผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมปานกลางและสูง ได้แก่ แครอท บล็อกโคลี ถั่วฝักยาว ฟักทอง มะเขือเทศ ส้มโอ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ ส้ม ฝรั่ง แตงโม เป็นต้น

 ซึ่งในแตงโม 100 กรัม มีน้ำตาล 6 - 11 กรัม มีโพแทสเซียม 103 - 122 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 9 - 11 มิลลิกรัม และฟอสฟอรัส 10 - 14 มิลลิกรัม แล้วแต่ชนิดของแตงโม โดยปริมาณแตงโมที่แนะนำต่อวัน สำหรับคนปกติ 8 ชิ้นพอคำหรือ 170 กรัม สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถกินผลไม้วันละ 1-2 ส่วน เช่น แตงโม 1 ส่วนเท่ากับ 6-8 ชิ้นพอคำ แต่หากเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง “ควรงดการกินแตงโม”

“ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรระมัดระวังเรื่องการบริโภคอาหารด้วย โดยกินข้าวแป้งซึ่งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต ไม่เกิน 6 ทัพพีต่อวัน ได้แก่ ข้าวขาว วุ้นเส้น สาคู เป็นต้น หลีกเลี่ยงข้าวกล้องและขนมปัง กินเนื้อสัตว์ที่เป็นแหล่งของโปรตีน ได้แก่ ไข่ขาว เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น กินเนื้อสัตว์ไม่เกิน 7 ช้อนโต๊ะต่อวันสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะ 1-3 และไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะต่อวันสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะ 4-5 รวมถึงบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม โดยกินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน อีกทั้งควบคุมโซเดียม หลีกเลี่ยง น้ำปลา  ซอสปรุงรส ผงชูรส อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์แปรรูปต่าง ๆ ผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ นม ไข่แดง ถั่ว ชา กาแฟ เป็นต้น และอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ใจผัก หน่อไม้  หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดด้วย และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้พลังงานจากอาหารเพียงพอ ไม่กินเค็ม พักผ่อนให้เพียงพอ และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคส่วนใหญ่ใช้เวลารักษานาน ผู้ป่วยจึงไม่ควรเพิ่ม  ลด หยุดยา หรือซื้อยาไปกินเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

related