SpringNews สัมภาษณ์เจาะลึกวิธีคิดของสกลธี ภัททิยกุล ในฐานะผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะทำให้กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้อย่างไร
สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้ร่วมศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ด้วย โดยเป็นผู้สมัครที่มีอายุน้อยที่สุด แต่สิ่งที่สกลธีคิดว่า ตัวเองมีความพร้อมและเป็นข้อได้เปรียบ นั่นก็คือประสบการณ์ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. เกือบ 4 ปี โดย SpringNews ได้สัมภาษณ์เจาะลึกวิธีคิดของเขา ในการแก้ปัญหากรุงเทพฯ ทั้งเรื่องระบบขนส่งมวลชน , ราคาตั๋วรถไฟฟ้า , ฝุ่น PM 2.5 , ระบบการศึกษา ฯลฯ รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ ดังต่อไปนี้
SpringNews: หากให้วิเคราะห์ตัวเอง “จุดแข็ง” กับ “จุดอ่อน” ของคุณคือ ?
สกลธี ภัททิยกุล : มันอาจจะสัมพันธ์กัน จุดแข็งกับจุดอ่อน จุดอ่อนผมคิดว่าเป็นเรื่องอายุ ซึ่งผมน่าจะอายุน้อยที่สุดในบรรดาผู้สมัครทั้งหมด คือ 44 ปี คนก็อาจจะมองว่าอายุยังน้อย จะอาสามาเป็นพ่อเมืองได้หรือเปล่า
แต่ผมมองว่ามันก็มีจุดแข็ง ผมอายุ 44 ปีก็จริง แต่ผมผ่านงานบริหารและงานหลายๆ อย่างมาก ผมเคยเป็น ส.ส.เขต มาแล้ว เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. มาเกือบ 4 ปี แล้วก็รู้ปัญหา รู้รายละเอียด รู้เส้นสนกลในในกรุงเทพฯ ทุกอย่าง รวมถึงรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ตรงนี้มันอาจจะเป็นจุดแข็งของผม ที่เป็นคนรู้งานอยู่แล้ว
SpringNews : ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนากรุงเทพฯ อย่างไร ?
สกลธี ภัททิยกุล : อันนี้สำคัญเลย เพราะผมคิดว่า ต้องมีการบริหารจัดการหรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วย เพื่อให้การทำงานมันง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มอเตอร์ไซค์ขึ้นทางเท้า ที่ผ่านมาก็มีการจับกัน ช่วงที่ผมเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. กว่า 3 ปี มีการจับและปรับไป 46 ล้านบาท
ที่ผ่านมาใช้แรงคนอย่างเดียว เอาเทศกิจไปซุ่ม ผมซุ่มเองบ้าง แต่เราสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ ด้วยการเอาเทคโนโลยีมาช่วย อย่างระบบ AI หรือกล้อง มาช่วยจับ ซึ่งผมเคยเสนอไปตั้งแต่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ปีที่ 2 แล้ว แต่ว่ามันไม่ผ่าน พอไม่ผ่าน ก็ต้องใช้เฉพาะสิ่งที่เรามีอยู่ แต่ถ้ามีเทคโนโลยีมาเสริม มันจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
เปิดที่มา ป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สไตล์ชัชชาติ เกิดจากการเอ๊ะ
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 ครั้ง อดีตผู้ว่าฯ กทม. คนไหนได้คะแนนเสียงมากที่สุด ?
SpringNews : หลายคนสงสัยว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา ทำไมรถเมล์ใน กทม. เหมือนแทบไม่มีการพัฒนาเลย ถ้าคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างไรบ้าง ?
สกลธี ภัททิยกุล : ในส่วนของรถเมล์ เป็นภาระหน้าที่ของ ขสมก. ซึ่งเขาอาจจะทำยาก เพราะหน่วยงานมีหนี้เยอะ ในการพัฒนาอะไรต่างๆ มันก็อาจติดกรอบข้อจำกัด แต่ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะเสริมในส่วนนี้ โดยการที่ทำระบบขนส่งสายรองขึ้นมา อย่างเช่นเส้นทางต่างๆ ที่ ขสมก. มีการวิ่งอยู่แล้ว แต่ว่าวิ่งน้อย หรือจุดไหนไม่วิ่งเนี่ย กทม.ก็สามารถเสริมได้
ยกตัวอย่างเช่น ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ที่เป็นเส้นเลียบด่วนรามอินทรา เรามีเขตติดต่อกัน 6-7 เขต ไม่ว่าจะเป็นวังทองหลาง ลาดพร้าว บางเขน บางกะปิ คันนายาว และบึงกุ่ม แต่ว่ารถเมล์วิ่งวันละสาย กทม.ก็สามารถทำเป็นรถสายรอง เป็นบัส EV มาช่วยวิ่งรับคนได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ กทม. จะช่วยได้ ซึ่งจะทำทั่วทั้ง 50 เขต โซนตรงไหนที่มีคนอยู่เยอะ แต่รถเมล์ไม่ค่อยวิ่ง เราก็จัดรถเข้าไปช่วยครับ”
SpringNews : มีความเป็นไปได้หรือไม่ ในการโยกหนี้ ขสมก. มา กทม. เพื่อให้ กทม.กำกับดูแลรถเมล์ได้ ?
สกลธี ภัททิยกุล : ดีครับ ตอนที่ผมอยู่ก็เคยได้ยินข่าวว่าจะมีการโอน ขสมก. มาอยู่กับ กทม. เมื่อก่อนอาจติดข้อจำกัด อาจเป็นท่านผู้ว่าฯ ในอดีต หรือท่านผู้ว่าฯ คนไหนก็ตาม ไม่อยากรับ เพราะมองว่าเป็นปัญหา แต่ผมมองว่ามันเป็นข้อดี เมื่อ กทม. รับ ขสมก. มาดูแล ก็จะได้บริหารทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การแก้ปัญหามันจะดีขึ้น ถ้ามีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้วมีคนยกให้ ผมยินดีเลยครับ
SpringNews : ถ้ารถเมล์อยู่ภายใต้การบริหารของ กทม. หากคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. รูปแบบรถเมล์จะเป็นอย่างไร ?
สกลธี ภัททิยกุล : ถ้าเป็นแนวของผม ถ้าเกิดได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถขยะ รถเมล์ หรือรถที่เป็นของ กทม. ทั้งหมด ผมอยากจะทำให้เป็นรถ EV ทั้งหมด เพื่อความประหยัดเพื่อลดมลพิษ ลงทุนครั้งเดียว ผมคิดว่ามันคุ้มกับหลายๆ ด้าน
หรือเราอาจจะยกให้เอกชนทำก็ได้ เพราะว่ากิจกรรมหลายๆ อย่างที่ กทม. ให้บริการ อาจไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด เพราะมันต้องลงทุน เราสามารถ Outsource ไปให้เอกชนทำได้ หรือให้สัมปทานเส้นทาง ถึงเวลาเขาจ่ายเงินให้เรา อาจจะกำหนดใน TOR ไปเลยว่า ต้องเป็นรถ EV เท่านั้น
SpringNews : แล้วในส่วนของรถไฟฟ้า ที่อยู่ในความดูแลของ กทม. จากกรณีที่มีหลายคนบอกว่า สามารถทำให้เหลือค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร ?
สกลธี ภัททิยกุล : ผมถึงบอกว่าข้อดีของผมคือการที่เคยบริหารมาก่อน ทำให้รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่งผมก็พูดได้ว่าจะลดเหลือ 5 บาท แต่มันทำไม่ได้ มันจึงต้องดูความเป็นจริงด้วย
เอาเป็นว่าตามข่าวสารที่ออกมา 65 บาท ขึ้นอยู่กับว่าใครขึ้น ถ้าถามผมในฐานะที่เป็นคนชั้นกลาง ก็มองว่าสมเหตุสมผล เพราะว่าวิ่งตั้งแต่คูคต ปทุมธานี ผ่านกรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ ประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1 บาทกว่าๆ ซึ่งผมคิดว่าถูกที่สุดในบรรดาการขนส่งมวลชนทั้งหมด
แต่สำหรับคนรายได้น้อย อาจจะแพง ก็ต้องไปดูว่า สามารถลดราคาได้ไหม ซึ่งผมเชื่อว่ามันสามารถลดได้อีก เพียงแต่จะไปลดตรงไหน เพราะมีอยู่ 2 ส่วน คือ กทม. กับเอกชนที่ดำเนินโครงการ ก็ต้องไปแบสัญญาดูว่าเขาสามารถลดราคาลงได้หรือไม่ แล้วอาจให้งานของ กทม. ตัวอื่นสนับสนุนเขาแทน
แต่ในส่วนของ กทม. เอง เงินที่จะได้ก็อีก 30 ปีข้างหน้า (ในกรณีต่อสัมปทาน) ยกตัวอย่างเป็นตัวเลขกลมๆ 2 แสนล้านบาท แบ่งใช้หนี้ครึ่งหนึ่ง เหลือแสนล้านบาท ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าสามารถเอามาช่วยประชาชน ทำให้ค่ารถไฟฟ้าถูกลงได้ แต่ต้องดูว่าถูกลงได้เท่าไหร่ เพราะว่าเงินที่ กทม. จะได้ เป็นเงินอนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นมันต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับ กทม. แต่ถามว่าลดได้ไหม ลดได้ แต่เหลือ 20 บาท เป็นไปได้ยาก คือบางทีคนที่ไม่เคยมาบริหาร อาจจะไม่ทราบตรงนี้
SpringNews : คุณมีวิธีอย่างไร ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน ?
สกลธี ภัททิยกุล : ปัญหาฝุ่น น่าจะเป็นภาพใหญ่ ลำพัง กทม. หน่วยงานเดียวคงลำบาก ต้องช่วยเรื่องของการเปลี่ยนรถยนต์ให้เป็นรถ EV ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นปักกิ่ง ที่เขาทำได้เพราะรัฐบาลสั่งเลยว่า ถึงเวลาที่กำหนด โรงงานในรัศมีรอบปักกิ่งทั้งหมดต้องปิด พอปิดปุ๊บอากาศก็ดีขึ้น ซึ่งของเราถ้าทำในภาพรวม ต้องไปให้ถึงจุดนั้น นโยบายของผมจะสนับสนุนขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ ให้คนใช้รถส่วนตัวให้น้อยที่สุด ให้รถติดน้อยที่สุด อากาศจะได้สะอาด
ฝุ่น PM 2.5 ส่วนหนึ่งเกิดจากการสันดาปของเครื่องยนต์ดีเซลเวลารถติด ซึ่งอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. สั่งห้ามได้เลย รถที่มีควันดำ รถดีเซล รถบรรทุก ไม่ให้เข้าในเขตกรุงเทพฯ กี่โมง วันไหนบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องใช้ความกล้าตัดสินใจพอสมควร เพราะว่ามันจะกระทบกับเอกชน
ลำดับต่อมาคือเรื่องของการเผา หลายคนไม่เชื่อว่า กรุงเทพฯ ยังมีเรื่องของการเผาเหมือนต่างจังหวัด เพราะว่ายังมีการทำเกษตรกรรมอยู่ทางโซนกรุงเทพฯ เหนือถึงตะวันออก ไล่จากบางเขน ถึงมีนบุรี เพราะฉะนั้นเนี่ยยังมีการเผาหญ้าอยู่มากมาย จึงเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ที่มีอยู่แล้ว ที่จะให้แต่ละเขตไปกวดขัน กำชับ ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ที่จะทำได้ แต่ว่าโดยรวมต้องเป็นนโยบายของทั้งประเทศเป็นหลักด้วย
SpringNews : ปัญหาการจัดเก็บขยะไม่ทั่วถึง ถ้าคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะมีการแก้ไขอย่างไร ?
สกลธี ภัททิยกุล : เท่าที่ผมทราบ การเก็บขยะความถี่ของแต่ละที่ มันจะเป็นการพิจารณาของผู้อำนวยการเขต กับสำนักสิ่งแวดล้อม แต่เวลาทำเนี่ยเขาจะใช้การคำนวณคร่าวๆ ผมว่าคราวนี้มันต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยแล้ว
เช่น สมมติจะต้องเก็บขยะในหมู่บ้านนี้ 2 วัน แต่ปริมาณขยะยังไม่ได้ ก็อาจเป็ฯ 3 – 4 วัน ต้องมีการหมุนเวียน เพราะสิ่งที่เขาทำไว้ 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังทำอย่างเดิม มันต้องมีการประเมินด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วย คำนวณว่าขยะมันต้องเก็บตรงนั้นกี่วัน เก็บตรงนี้กี่วัน เอามาบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด
SpringNews : ถ้าคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เรายังจะเห็นปัญหาทางเท้า ชำรุดทรุดโทรมอีกไหม ?
สกลธี ภัททิยกุล : ผมก็เคยสงสัย เหมือนที่ทุกคนสงสัย ว่าทางเท้าถ้าเทียบกันระหว่างเอกชนกับ กทม. ทำไมมันต่างกัน ที่เราเดินแล้วเหยียบน้ำพุ่งปรี๊ด เพราะว่าเขากำหนดสเปกออกมาให้มันง่ายต่อการบำรุงรักษา ต้องเข้าใจว่า กทม. ไม่ได้คุมทั้งหมด การประปา การไฟฟ้า สาธารณูปโภค ฯลฯ มีการขุดเจาะตลอดเวลา อย่างพอท่อประปาที่อยู่ข้างใต้รั่ว เขาก็ต้องทำแบบนั้น เพื่อให้มันง่ายต่อการรื้อ
แต่ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมจะกำหนดใหม่เลยว่า จะต้องทำให้เหมือนกับเอกชนเขาทำ มันสามารถกำหนดได้ว่า ต้องเป็นสเปกทางเท้าแบบนี้เท่านั้น และต้องไปคุยกับหน่วยงานที่มาขุดเจาะว่า เวลาขุดแล้วต้องทำให้สถาพทางเท้ากลับมาเหมือนเดิม ไม่เช่นนั้นเราจะปรับ หรือไม่อนุญาตในครั้งต่อไป
SpringNews : แล้วเรื่องสายไฟ สายเคเบิล พันกันอีรุงตุงนังล่ะครับ จะมีการจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้อย่างไร ?
สกลธี ภัททิยกุล : อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เป็นเรื่องของอำนาจผูกพันหลายองค์กร บางครั้งเราเห็นระเกะระกะ ตามกฎหมาย กทม. สามารถไปเก็บได้อยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่าเส้นไหนใช้อยู่ หรือเส้นไหนไม่ได้ใช้ มันต้องให้โอเปอเรเตอร์ค่าย เอกชน กับ กสทช. มาดูร่วมกัน ซึ่งก็ต้องมีการคุยประสานงาน ผมถึงเรียนว่า ปัญหาของกรุงเทพไม่สามารถชนได้ทุกเรื่อง
มันต้องมีการประสานกันหลายหน่วยงาน และผู้ว่าฯ กทม. ต้องกล้าที่จะทำ เพราะฉะนั้นเนี่ย ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือ ก็ต้องใช้ตัวบทกฎหมาย ต้องมีทั้งตึงทั้งหย่อนผสมกันครับ
SpringNews : ถ้าคุณได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. กรุงเทพฯ ยังต้องประสบปัญหาน้ำท่วมอีกหรือไม่ ?
สกลธี ภัททิยกุล : ภูมิประเทศของกรุงเทพฯ ทางกายภาพเป็นแอ่งกระทะ แล้วก็มีความต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง น่าจะร่วม 90 % เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่ได้โดยที่น้ำไม่ท่วมเนี่ย มันก็เหมือนกับที่ฮอลแลนด์ ที่อัมสเตอร์ดัม เพราะว่าเรามีเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่คอยกั้นระดับน้ำ
เขื่อนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะสูงต่ำไม่เท่ากันทั้งแนว ปกติจะสูงประมาณ 2.8 เมตร หรือ 2.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก็เลยกั้นน้ำทะเลไม่ให้ท่วมในกรุงเทพได้ ระดับน้ำที่เคยท่วมมากสุด คือในปี 2554 ตอนนั้นประมาณ 2.5 เมตร เขื่อนกั้นได้อยู่ แต่ที่ท่วมเพราะมันมีช่วงฟันหลอของเขื่อน ช่วงที่เป็นพื้นที่ของเอกชนบ้าง ที่ที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมบ้าง ซึ่งในส่วนนี้คนที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเข้าไปดูแล และใช้กฎหมายที่มีในการทำแนวเขื่อนทั้ง 2 ฝั่ง ให้ครอบคลุมไม่ให้มีช่องโหว่ง
ส่วนที่บอกว่ากลัวกรุงเทพฯ จะจม ทุกวันนี้จมอยู่แล้วครับ แต่ว่ามีเขื่อนจึงช่วยไว้ได้ เพราะฉะนั้นต้องคอยไปดูในเขื่อน ส่วนประตูระบายน้ำ การทำอุโมงค์ในการช่วยระบาย ก็ต้องใช้ประกอบกันด้วยครับ
SpringNews : หลายคนสงสัยว่า “อุโมงค์ยักษ์” ป้องกันน้ำท่วม ทุกวันนี้ยังใช้ประโยชน์ได้อยู่หรือไม่ ?
สกลธี ภัททิยกุล : ใช้ได้ครับ แต่ปัญหาคือ อุโมงค์ยักษ์จะอยู่ใต้ดิน อยู่ใต้คลอง การทำงานก็คือ คลองอยู่ข้างบน อุโมงค์อยู่ข้างล่าง เวลาน้ำคลองเยอะก็จะให้ไหลลงมาข้างล่าง เพื่อให้น้ำไปได้เร็วขึ้น
ปัญหาคือ ท่อทั้งหมดใน กทม. 6,400 กิโลเมตร มันเป็นท่อขนาดเล็กและรุ่นเก่า บางท่อก็มีการตื้นเขิน ทำให้น้ำจากหมู่บ้านไปยังคลองไม่ได้ ต่อให้มีอุโมงค์ช่วย เพราะมันไม่มีน้ำในคลองจะให้ไป
ทางแก้ก็คือ ต้องบริหารจัดการงบฯ เพราะถ้าท่อ 6,400 กิโลเมตร ใช้งบขุดทุกปี มันเป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่การบริหารว่า ต้องอันนี้ก่อน อันนี้ทีหลัง เรียงๆ กันไป มันต้องทำในส่วนท่อเล็กให้มันไหล ให้มัน flow ก่อน อุโมงค์พวกนี้จึงจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ต่อให้เรามีอุโมงค์ 20 อุโมงค์ แต่ท่อเล็กๆ ในหมู่บ้านตัน ยังไงมันก็รอระบายแน่นอน
SpringNews : จะมีการบาลานซ์อย่างไร ระหว่างตลาด หาบเร่ แผงลอย สตรีทฟู้ด กับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพฯ ?
สกลธี ภัททิยกุล : เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุด มันต้องมีความสมดุลระหว่างความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง กับปากท้องของชาวบ้าน ผมก็เห็นใจทั้งคู่ แต่เราคงไม่สามารถที่จะปล่อยให้ขายเลอะเทอะ แล้วคนที่เดินทางเท้าไม่สะดวก เพราะว่าสิทธิบนทางเท้าก็บอกอยู่แล้ว ชื่อคือทางเท้า ต้องเอาไว้ให้คนเดินก่อน
แต่ว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อที่จะจัดพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่เดือดร้อนกับคนเดินทางเท้า สำหรับผมมันต้องสมดุลกันไป โดยเราต้องยึดหลักคนที่เดินทางเท้าเป็นหนึ่งไว้ก่อน ถ้าตรงไหนมันทำได้ ทางเท้ากว้าง ไม่เดือดร้อนกับการจราจร ไม่เดือดร้อนคนที่เดินทางเท้า ก็อาจมีการพิจารณา นำมาให้กับคนที่มีรายได้น้อยได้ทำมาค้าขาย
SpringNews : แล้วการพัฒนาโรงเรียนในสังกัด กทม. คุณมีนโยบายหรือแนวทางอย่างไร ?
สกลธี ภัททิยกุล : โรงเรียนในสังกัด กทม. มี 437 แห่ง เป็นมัธยม 109 แห่ง ที่เหลือเป็นประถม ข้อดีคือ กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วอยู่ใกล้ชุมชน ก็ช่วยในเรื่องของคนที่มีโอกาสน้อย หรืออยากให้บุตรหลานเรียนใกล้บ้าน แต่จาก 437 โรง มีแค่หลักสิบที่ผู้ปกครองแย่งกัน เพราะมีคุณภาพจริงๆ
ผมไปดูระบบการศึกษาของฟินแลนด์ เขาเน้นให้นักเรียนเรียนใกล้บ้าน แต่สถานศึกษาต้องมีคุณภาพด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปดู 437 แห่งว่าโรงเรียนไหนที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ก็ต้องปรับ ต้องตัดใจยุบ บางโรงเรียนอาจมีนักเรียนแค่ 30 คน แต่เขาสะดวกอยู่กับชุมชน แต่ถ้าคุณภาพยังไม่ได้ ก็ต้องควบรวมกัน ปรับคุณภาพให้เท่าเทียมกันให้ได้
อย่างช่วงโควิด ไม่เฉพาะเด็กกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่โรงเรียน สพฐ. โรงเรียนต่างจังหวัด นักเรียนถูกผลักออกจากระบบการศึกษาเยอะมากๆ เรียนออนไลน์ แต่จะเรียนอย่างไร ถ้าที่บ้านไม่มีโทรศัพท์ ถ้าที่บ้านไม่มีไอแพด เพราะฉะนั้นผู้บริหารต้องกล้าซื้อของ เพราะที่ผ่านมา กทม. หรือหลายหน่วยงานของรัฐ กลัวที่จะซื้อของ เพราะว่ามีเรื่องการตรวจสอบ
แต่ถ้าเราโปร่งใส แล้วมันทำประโยชน์ให้กับนักเรียน หรือพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ คนที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องกล้าทำในส่วนนั้น เพื่อทำให้เด็กไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะผมคิดว่า มีโอกาสเกิดภัยใหม่ๆ ได้เสมอ ใครคิดว่ามันจะมีโควิด ทำให้เราไม่สามารถไปเจอกันได้ อนาคตอาจมีปัญหาอีก แต่ว่าเด็ก กทม.ต้องพร้อมในเรื่องสื่อการสอนและอุปกรณ์ทุกอย่าง รวมถึงแนวทางในการสอนของครู ผมว่าสิ่งนี้มันยาก แต่ว่าต้องปรับ จะให้ครูสอนเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว
เด็กสมัยนี้ ผมว่าเขาสามารถเรียนรู้ได้จากกูเกิล จากมือถือ ดังนั้นสิ่งที่ครูสอน ต้องไม่ใช่เรื่องเดิมๆ ที่เน้นให้เด็กท่องจำ แต่มันต้องเปลี่ยน ครูต้องสอนให้เด็กวิเคราะห์ ซึ่งตรงนี้ยากที่สุด และต้องมีการพัฒนาครูควบคู่ไปด้วย ซึ่งผมยืนยันจะทำตรงนี้ครับ
SpringNews : สุดท้ายนี้ คุณคิดว่า กรุงเทพฯ จะดีกว่านี้ ได้อย่างไร ?
สกลธี ภัททิยกุล : กรุงเทพฯ จะดีกว่านี้ได้เนี่ย หนึ่งคือ ต้องมีเงินก่อน มันเป็นเรื่องสำคัญเลย คนเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องรู้จักบริหารงบประมาณที่มีอยู่ให้ได้ผลที่สุด งบประมาณของ กทม. อาจฟังดูเยอะ ปีละ 8 หมื่นล้านบาท แต่ว่า 40 % เป็นเงินเดือน เงินค่าบุคลากร ไม่นับภาระผูกพัน หรือหนี้เดิมๆ ปัญหาร้อยแปดพันเก้าใน กทม. เพราะฉะนั้นคนที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. เนี่ย ต้องรู้ว่าอะไรสำคัญ หรือไม่สำคัญที่จะทุ่มลงไป แต่แค่นั้นไม่พอ เพราะที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยหาเงินเข้า กทม. เรารอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล คือถ้ารัฐบาลไม่มีปัญหา โอเค 8 หมื่นล้านบาท จะมาตรงเป๊ะทุกปี แต่ถ้ามีปัญหาอย่างสองปีที่ผ่านมา เรื่องโควิด เงินหายไป 30 - 40 % โครงการที่จะพัฒนา ต้องหยุดไว้ก่อน
เพราะฉะนั้นคนเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องรู้จักเอาทรัพยากรของ กทม. มาเปลี่ยนเป็นเงิน เอาสินทรัพย์เปลี่ยนเป็นทุน ทรัพย์สินของ กทม. อย่างเช่นที่ดิน เอาให้เช่า ให้สิทธิ์เอกชนเช่าพื้นที่โฆษณาได้
หรืออย่างเรื่องขยะ ถ้าเราสามารถให้เอกชนทำได้ และถ้าเขาอยู่ได้ กทม. จะได้เงินปีละ 3-4 พันล้านบาท แล้วนำเงินไปลงตามโรงเรียน ดังนั้นต้องรู้จักบริหาร และต้องพลิกแพลงหลายๆ อย่างครับ