svasdssvasds

เปิดที่มา ป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สไตล์ชัชชาติ เกิดจากการเอ๊ะ

เปิดที่มา ป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สไตล์ชัชชาติ เกิดจากการเอ๊ะ

SpringNews สัมภาษณ์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดที่มาของป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ไม่สร้างความเกะกะกีดขวางบนทางเท้า โดยเขาได้บอกเล่าว่า มีที่มาจากการเอ๊ะ

แค่ออกสตาร์ท ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็เกิดประเด็นดราม่าเรื่องป้ายหาเสียง ที่ป้ายหาเสียงของผู้สมัครฯ หลายคน ที่ติดบนเสาไฟฟ้า มีขนาดใหญ่กีดขวางทางเท้า สุ่มเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้สัญจรผ่านไปมา รวมถึงผู้พิการทางสายตา แต่สำหรับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ชูประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตคนเมือง กลับฉีกแนวเป็นป้ายหาเสียงรูปทรงเพรียว ที่ไม่ก่อให้เกิดการเกะกะขวางทางสัญจรของผู้ใช้ทางเท้า

และด้วยความสงสัยว่า ไอเดียที่น่าสนใจนี้มีที่ไปที่มาอย่างไร จนทำให้ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลายราย ต้องสั่งรื้อป้ายของตัวเองเป็นการด่วนนั้น SpringNews จึงสัมภาษณ์เจาะประเด็นดังกล่าว โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้บอกเล่าดังต่อไปนี้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.   

บทความที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ที่มาของไอเดีย ป้ายหาเสียงสไตล์ชัชชาติ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เล่าถึงที่มาของป้ายหาเสียงทรงสูง ที่ไม่สร้างความเดือดร้อน กีดขวางการสัญจรไปมาของผู้คน ให้กับ SpringNews ว่า

“ผมไปส่งลูกที่อเมริกา แล้วไปเห็นป้ายหาเสียงที่นู้น ขนาดประมาณกระดาษ A 3 แล้วไม่มีป้ายที่เกะกะเมืองเลย ก็เลยแว๊บขึ้นมาว่า ทำไมเราทำอย่างนี้ไม่ได้ จึงคุยกับทีมงาน ทีมงานก็นำไปทำต่อ

“ซึ่งผมคิดว่า จริงๆ แล้วป้าย (หาเสียง) ไม่ต้องใหญ่ก็ได้ คนเลือกเราไม่ได้เลือกเพราะป้าย เลือกเพราะนโยบาย เลือกเพราะตัวตนของเรา ป้ายแค่กระตุ้นเตือนนิดหน่อย แล้วทีมงานก็ช่วยออกแบบให้ขนาดของป้ายแคบลง โดยทีมงานของเราเคยทำป้ายรถเมล์ที่บอกข้อมูล ก็เลยให้แนวทางไปว่า จำนวนป้ายไม่ต้องเยอะ ขนาดเล็กไม่เกะกะ มีข้อมูลให้เพียงพอ

“แต่อย่าไปคิดว่าเป็นศึกเรื่องป้ายนะ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองดีขึ้น คนเมืองก็จะแฮปปี้ และถ้าผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นๆ ทำด้วยก็ดี จะได้ไปในทิศทางเดียวกัน”  

ป้ายหาเสียงสไตล์ชัชชาติ มีขนาดความกว้างใกล้เคียงเสาไฟฟ้า

“เอ๊ะ” ทำให้เกิดสิ่งใหม่

ชัชชาติบอกเล่ากับ SpringNews การที่เราตั้งคำถามหรือข้อสงสัยกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ  

“ผมว่าบางทีเราก็ทำตามๆ กันมานะ ผมชอบคำพูดที่ว่า ให้เอ๊ะบ้าง อย่าอือ เห็นอะไรปุ๊บ เอ๊ะหน่อย ต้องทำอย่างนี้ไหม ต้องใช้ป้ายใหญ่ขนาดนี้ไหม พอเราเอ๊ะเนี่ย ก็มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างเรื่องรถหาเสียง EV หากเราเอ๊ะว่า ใช้รถกระบะแล้วมันมีควันพิษ เราก็จะคิดว่าถ้าเช่นนั้นใช้รถ EV ได้ไหม

อย่างป้ายไวนิล เราต้องเอาไปทิ้งเหรอ ? ก็มีการนำมาตัดกระเป๋า หรือป้ายหาเสียงที่ใช้กระดาษมัน ก็เอ๊ะว่าทำไมไม่ทำเป็นกระดาษที่รีไซเคิลได้ แล้วผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่องหาเสียงนะ หลายอย่างในเมือง ถ้าเราเอ๊ะ ผมว่าเราจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น

กระเป๋าที่ทำจากป้ายไวนิล : ภาพจาก FB ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อย่าโยงป้ายฯ กับเรื่องการเมือง

สุดท้ายนี้ ชัชชาติบอกเล่ากับ SpringNews ว่า เขาไม่อยากให้นำเรื่องป้ายหาเสียงรูปแบบนี้ไปโยงกับการเมือง เพราะเขามองว่ามันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เราต้องร่วมด้วยช่วยกัน

“ผมไม่ได้คิดเรื่องการเมืองเลยนะ คิดว่ามันทำให้เมืองดีขึ้น ผมว่าอย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องการเมือง เราช่วยกันดู แล้วเราอาจจะเห็นก่อนคนอื่นนิดนึง อย่าไปเคลมว่าเป็นผลงานเรา แต่ผมคิดว่าหลายคนก็มีอยู่ในใจเหมือนกันแหละ

“ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีครับ และก็เป็นประโยชน์ ในอนาคตหรือตลอดไปก็หวังว่า การเลือกตั้งการเมืองใหญ่ ถ้ามีการลดขนาดป้ายลง ประชาชนก็จะชื่นชม”

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

related