svasdssvasds

"บีทีเอส" ยื่นหนังสือดีเอสไอ สอบประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

"บีทีเอส" ยื่นหนังสือดีเอสไอ สอบประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

BTSC ยื่นหนังสือดีเอสไอ สอบสวนกระบวนการแข่งขันประกวดราคาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังพบพิรุธเปลี่ยนเงื่อนไข หลักเกณฑ์ บริษัทยื่นซองประมูล ระบุเจตนากีดกันไม่ให้แข่งขัน-เอื้อประโยชน์ ยันไม่ได้มีเจตนาให้ชะลอแต่ใช้สิทธิเรียกร้องความเป็นธรรม

 นายสุรมนต์ มีเมศกุล ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ประกอบการกิจการขนส่งมวลชนระบบรถไฟฟ้า ยื่นหนังสือต่อพันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษและขอให้ดีเอสไอ สืบสวนสอบสวนกระบวนการแข่งขันประกวดราคาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) หลังพบพิรุธว่ามีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และคุณสมบัติ ของบริษัทเอกชนที่จะยื่นซองประมูลและสงสัยว่าอาจเป็นการเจตนากีดกันบางบริษัทไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งอย่างชัดเจน

 นายสุรมนต์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผ่านมติครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีบริษัทผู้ซื้อซองประมูล 10 บริษัท รวมถึงบริษัท BTSC แต่ต่อมามีหนึ่งในบริษัทที่ซื้อซองประมูล ยื่นขอให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้ชนะประมูล ซึ่งคณะกรรมการเห็นชอบยกเลิกการประมูลเดิม และเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ 

“บริษัท BTSC เคยยื่นฟ้องศาลปกครอง จนศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย ทาง รฟม. ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่ รฟม. ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย และยังยกเลิกหลักเกณฑ์เดิม การประมูลครั้งใหม่นี้ มีบริษัทร่วมซื้อซอง 14 บริษัท รวมถึงบริษัท BTSC ก็ได้ซื้อซองไปเรียบร้อยแล้ว แต่หลักเกณฑ์ใหม่ทำให้บริษัทตนเองและบริษัทอื่นๆ ที่เคยมีคุณสมบัติยื่นประมูลเสียเปรียบในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีเจตนากีดกันบริษัทข้างต้นหรือไม่”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• BTSC ฟ้อง รฟม.-บุคคลเกี่ยวข้องล้มประมูลสายสีส้ม

• ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 เพิ่มเลเวลด่านโหด เข้าข่ายล็อกสเปกหรือไม่

 

• ศาลปกครองกลางชี้รฟม.ล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมิชอบด้วยกฎหมาย

 นายสุรมนต์ ระบุว่า ทั้งนี้มองว่าการให้โอกาสทุกบริษัทเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรม และยืนยันว่าการมาร้อง DSI ครั้งนี้ ไม่มีเจตนาชะลอการประมูล ที่มีกำหนดการรับซองข้อเสนอ 27 กรกฎาคม และเปิดซองประมูล 1 สิงหาคมนี้ เพียงแต่การใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมและหาก DSI พบว่า มีผู้ใดเข้าข่ายเอื้อประโยชน์มิให้มีการแข่งขันอย่างธรรม ก็ขอให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

 ด้านพันตำรวจตรียุทธนา ระบุว่า ได้รับเรื่องไว้และจะนำเสนออธิบดี DSI พิจารณาต่อไป หากเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ก็จะส่งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาพิจารณา 3 เดือน ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย โดยไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลที่ยังคงต้องเกิดขึ้น

ทั้งนี้มีรายงานว่า รายละเอียดคุณสมบัติของบริษัทที่จดยื่นซองประมูล ตามประกาศเชิญชวนลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 หรือการประมูลรอบที่สอง มีความแตกต่างจากฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นการประมูลครั้งแรก เช่น

1. ต้องมีผลงานกับหน่วยงานรัฐบาลไทย

2. ผลงานดังกล่าวต้องแล้วเสร็จ

3. ผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียวหรือกลุ่มนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 51

4. รวมถึง มีหลักเกณฑ์ปลีกย่อย เล่น ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้ามาก่อน

related