svasdssvasds

ทางรอดของ “พิธา” ? หลุดคดีหุ้นไอทีวี สู่นายกฯ คนที่ 30

ทางรอดของ “พิธา” ? หลุดคดีหุ้นไอทีวี สู่นายกฯ คนที่ 30

ย้อนดูคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ปี 2556 และการประชุมคณะกรรมการ “ไอทีวี” ในวันที่ 28 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวันรับสมัครเลือกตั้ง และแจ้งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ทำให้เห็นโอกาสรอดของ “พิธา” ในคดีหุ้นไอทีวี สู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30

ยังคงต้องลุ้นกันต่อไป สำหรับกรณีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในประเด็นเกี่ยวกับ “หุ้นไอทีวี” นอกจากการเผยแพร่คลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ในรายการข่าว 3 มิติ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 66 ที่คำตอบของประธานในที่ประชุม ไม่ตรงกับรายงานการประชุม

และเมื่อทำการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ก่อนหน้านี้ ก็พบประเด็นที่น่าสนใจ ที่อาจทำให้ “พิธา” ไม่เข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 151 และอาจปิดโอกาสในการยื่นเรื่องเพื่อร้องเรียนในประเด็นนี้อีกในอนาคต

โดยมี 2 ข้อมูลที่น่าสนใจ ได้แก่ คำสั่งศาลปกครองสูงสุดปี 2556 และ มติคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 หลังการประชุมผู้ถือหุ้น 2 วัน

ทางรอดของ “พิธา” ? หลุดคดีหุ้นไอทีวี สู่นายกฯ คนที่ 30

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดปี 2556

ย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว จากคำสั่ง “ศาลปกครองสูงสุด” ปี 2556 กรณี “วุฒิพร เดี่ยวพานิช” ถูกตัดชื่อออกจาก "การสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช. อันเนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพราะในเวลานั้น “วุฒิพร” ยังมีหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) “วุฒิพร” จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมกับ “ศาลปกครองสูงสุด” และต่อมาได้มีคำวินิจฉัยและคำสั่งโดยสรุปได้ดังนี้

1. “ศาลปกครองสูงสุด” ระบุว่า จากการที่ “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี” มีหนังสือด่วนที่สุด เมื่อปี 2550 แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ กับ “ไอทีวี” พร้อมทั้งให้คืนทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งใช้อยู่ในการดำเนินกิจการตามสัญญา

“ไอทีวี” จึงไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เนื่องจากไม่มีคลื่นความถี่ เพราะการประกอบกิจการธุรกิจต้องขออนุญาตจาก กสทช. และบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่ปี 2552

ข่าวหรือบทความที่เกี่ยวข้อง

2. ส่วนในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ “วุฒิพร” อันเนื่องมาจาก “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์”ระบุว่า “บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)” มีวัตถุประสงค์รวม 45 ข้อ ข้อ 40 ระบุว่า ประกอบกิจการรับบริหารงานและดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ

แต่ “ศาลปกครองสูงสุด” ระบุว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่า “ไอทีวี” เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมในระยะ 1 ปี ก่อน “วุฒิพร” สมัครเข้ารับการสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช.

3. และเมื่อยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า “ไอทีวี” ยังคงประกอบธุรกิจกิจการดังกล่าว จึงเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีต่อไป แต่การที่ตัดชื่อ “วุฒิพร” ออกจากผู้สมัครเข้ารับ “การสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช.” โดยพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของ “ไอทีวี” ที่ “วุฒิพร” เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท จึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย

4. “ศาลปกครองสูงสุด” จึงมีคำสั่งให้ทุเลา การบังคับตามคำสั่งของ “คณะกรรมการสรรหา” โดยให้รับ “วุฒิพร” เป็นผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกฯ และต่อมา หากศาลพิพากษาว่า “วุฒิพร” มีลักษณะต้องห้าม ต้องพ้นตำแหน่ง “คณะกรรมการสรรหา” ก็สามารถพิจารณาคัดเลือกบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งแทนได้

ทางรอดของ “พิธา” ? หลุดคดีหุ้นไอทีวี สู่นายกฯ คนที่ 30

สรุป กรณีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดปี 2556

ซึ่งจากคำสั่งดังกล่าวทำให้เห็นว่า ในกรณีของ “วุฒิพร” ที่ขณะนั้นยังมีหุ้นและเป็นกรรมการ “ไอทีวี” แม้วัตถุประสงค์ของบริษัทจะระบุว่า ประกอบกิจการ รับบริหารงานและดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ ก็ตาม

แต่ศาลฯ พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า “ไอทีวี” เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปี ก่อน “วุฒิพร” สมัครเข้ารับการคัดเลือก "สรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช.” ทำให้ “วุฒิพร” สามารถเข้าสู่กระบวนการ “การสรรหา” ดังกล่าวได้

มติคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566

หากย้อนกลับไปพิจารณารายงานการประชุมเอกสารรายงานประจำปี 2565 ของ “ไอทีวี” ได้มีการระบุถึงสถานะของบริษัท ในหัวข้อ “ลักษณะการประกอบธุรกิจ” และ “สถานะปัจจุบัน” ไว้ดังต่อไปนี้  

ลักษณะการประกอบธุรกิจ

(ไอทีวี) เคยประกอบธุรกิจสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UHF) ภายใต้สัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอช เอฟ (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) ในลักษณะ สร้าง-โอน-ดำเนินงานที่ทำกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 เป็นระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุด วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 โดยใช้ชื่อ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี

สถานะปัจจุบัน

ตั้งแต่แต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 เวลา 24.00 น. บริษัทจำเป็นต้องหยุด “การประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ไอทีวี” สืบเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ของ สปน. และต่อมา “คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557

ทางรอดของ “พิธา” ? หลุดคดีหุ้นไอทีวี สู่นายกฯ คนที่ 30

ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นก็ทำให้เห็นว่า “ไอทีวี” เคยประกอบกิจการสื่อในอดีต แต่ได้หยุดประกอบกิจการด้านสื่อไปแล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2550

แต่เรื่องไม่จบลงที่ตรงนี้ เพราะใน “งบแสดงสถานะทางการเงินของไอทีวีและบริษัทย่อย” ได้อ้างอิงถึงรายงานการประชุมกรรมการ “ไอทีวี” ในวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอ “การลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง”

และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

จากข้อมูลข้างต้นก็เท่ากับว่า “ไอทีวี” ได้กลับมาเป็นบริษัทสื่ออีกครั้ง ในรูปแบบของ “ผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา” เท่ากับว่า ผู้ที่ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว อาจมีคุณสมบัติต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดไว้ว่า ในส่วนของ "นายกรัฐมนตรี" ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ก่อนแจ้งรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

และในส่วนของ ส.ส. ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ก่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง

โดยถ้าหากยึดวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ “คณะกรรมการ” มีมติรับทราบรูปแบบ “ผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา” ของ “ไอทีวี” ก็เท่ากับ “ไอทีวี" กลับมาเป็นสื่ออีกครั้ง หลังจากวันรับสมัครเลือกตั้ง (3 – 7 เมษายน 2566) และหลังวันแจ้งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค (7 เมษายน)

ทางรอดของ “พิธา” ? หลุดคดีหุ้นไอทีวี สู่นายกฯ คนที่ 30

และจากข้อมูลข้างต้น ก็ทำให้ “พิธา” มีโอกาสอาจรอดความผิดใน “มาตรา 151” ที่ กกต. ได้ตั้ง “คณะกรรมการสวนสอบไต่สวน” ขึ้นมา ว่าเข้าข่ายลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่ามี “คุณสมบัติต้องห้าม” รวมถึงการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ “คุณสมบัติต้องห้าม” อีกในอนาคต

ยกเว้นเสียแต่ว่า มีการตีความการกลับมาเป็นสื่อของ “ไอทีวี” เกิดขึ้นตั้งแต่ “วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566” ที่บริษัทมีการนำเสนอ “การลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง และก่อนวันแจ้งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ

และอีกประเด็นที่น่าสนใจและน่าสงสัยก็คือ “คณะกรรมการ” มีมติรับทราบรูปแบบของ “ผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา” หลังจากมี “การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566” ซึ่งเป็นที่มาของประเด็นร้อน “คำตอบในคลิปของประธานในที่ประชุม ไม่ตรงกับรายงานการประชุม” (วันที่ 26 เมษายน) เพียงแค่ 2 วัน  

อ้างอิง

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การเป็นหุ้นส่วนและการถือหุ้นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

รายงานประจำปี 2565 บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)

งบแสดงฐานะการเงิน บริษัท ไอทีวี จํากด (มหาชน) และบริษัทย่อย

related