svasdssvasds

จ่อแก้กฎกระทรวง ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ ยึดหลักการแพทย์

จ่อแก้กฎกระทรวง ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ ยึดหลักการแพทย์

รมว.ยุติธรรม ยืนยันแก้กฎกระทรวงครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ยึดหลักการแพทย์ไม่ใช่ความรู้สึก เผยกระทรวงสาธารณสุข-ตำรวจ เห็นพ้อง

ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดให้เป็นให้ถือว่าเป็นผู้เสพ

การปรับเกณฑ์การครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดให้เป็นให้ถือว่าเป็นผู้เสพไม่ต้องรับโทษทางอาญา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่ามาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกัน ของกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ และภาคีเครือข่าย โดยใช้หลักวิชาการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ให้ผู้ปฏิบัติได้มีแนวทาง ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้รอมานาน

ปัจจุบันตามประมวลกฎหมายยาเสพติดยังไม่มีกำหนดเกณฑ์การครอบครองยาเสพติด ว่าจำนวนเท่าไหร่จะเข้าข่ายการเป็นผู้ค้า ซึ่งในรัฐบาลที่แล้ว เคยมีการเสนอให้กำหนดครอบครองเกิน 15 เม็ด เป็นผู้ค้า แต่ไม่มีการแก้ไขอย่างใด ส่วนในครั้งนี้เราใช้หลักวิชาการ โดยมีแพทย์มาร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับปริมาณสารเสพติดเมื่อเข้าสู่ร่างการจำนวนเท่าไหร่จึงจะส่งผลทางจิตเวช โดยเห็นว่า การเป็นผู้ป่วยผู้เสพยาไม่เกิน 10 เม็ดเข้าข่ายผู้ป่วย

พล.ต.อ.ทวี ยอมรับว่าที่ประชุมมีการหารือ เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ค้าที่อาจใช้ช่องโหว่ในการอ้างว่า ครอบครองไม่เกิน 10 เม็ด จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์พฤติกรรมของผู้ค้า หากเข้าข่ายครอบครองเม็ดเดียวก็ถือว่ามีความผิด เพราะว่าก่อนจะมีการจับกุมเจ้าหน้าที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนอยู่แล้ว

ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันในแนวทางนี้ แต่ก็มีตำรวจบางนายมองว่า การกำหนดเกณฑ์จำนวนนี้มากเกินไปหรือไม่ แต่ก็ไม่มีการสะท้อนว่ามาตรการดังข่าวจะทำให้มีการปฏิบัติหน้าที่ได้ยากขึ้น

ส่วนที่สังคมมองว่าการกำหนดให้ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ ส่งผลกระทบต่อปัญหายาเสพติดที่กำลังระบาดหรือไม่นั้น พ.ต.อ. ทวี ย้ำว่า "เราเปลี่ยนแนวคิดว่าผู้เสพถือเป็นผู้ป่วย แล้วเราเห็นว่ามาตรการนี้ถือเป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเห็นพ้องต้องกัน ไม่ได้กำหนดขึ้นมาโดยใช้ความรู้สึก"

ถือเป็นการออกนโยบายโดยที่ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง

ด้านนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วางนโยบายกำหนดจำนวนยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ด ถือเป็นผู้เสพต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยเตรียมที่จะออกเป็นกฎหมายลูกว่า ตนสงสัยว่า

น.พ.ชลน่าน คิดอะไรและเอาอะไรคิด ถึงได้ออกนโยบายแบบนี้ เพราะในขณะที่คำแถลงนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ต่อรัฐสภา ระบุว่า รัฐบาลจะทำงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย ซึ่งขณะนี้ ได้มีการดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดไปบ้างแล้ว แต่ปรากฏว่า การที่ น.พ.ชลน่าน จะเพิ่มเพดานจากแต่เดิม 5 เม็ด เป็น 10 เม็ด นั้น ถือว่าเป็นการออกนโยบายโดยที่ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง

เพราะที่ผ่านมา การที่กำหนดให้ผู้ครอบครองยาบ้าจำนวน 5 เม็ด  ให้ถือเป็นผู้เสพ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขรับตัวไปรักษาบำบัดฟื้นฟู ไม่ต้องไปรับโทษในเรือนจำนั้น ปรากฏว่า ขณะนี้สถานบำบัดที่เหมาะสมยังมีไม่เพียงพอ โดยวิธีการส่วนใหญ่ก็คือ การนัดตัวผู้ที่บำบัดมาตรวจร่างกาย และจ่ายยารักษาเหมือนกับคนไข้ปกติ

เมื่อไม่ได้กินยาหรือไม่มีมาตรการควบคุมตัวผู้บำบัดที่ดีพอ ก็จะเกิดอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายบุคคลรอบข้าง รวมทั้ง หากเพิ่มเพดานเป็น 10 เม็ด แต่ไม่มีมีการวางมาตรการจูงใจให้ผู้ติดยาเสพติดไปบำบัด ตนเกรงว่า ด้วยจำนวนขนาดนั้น อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ที่จะขยายไปเป็นผู้ค้าได้ในอนาคต

เพราะฉะนั้น ตนเห็นความปรารถนาดีที่ น.พ.ชลน่าน ต้องการจะแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยลดจำนวนผู้เสพ แต่ก็ต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการจูงใจ และให้ความร่วมมือกับผู้ที่มาบำบัด ไม่ใช่เอาง่ายเข้าว่าโดยการประกาศเพิ่มเพดานจาก 5 เม็ด เป็น 10 เม็ด ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ 

ผมก็เห็นความตั้งใจของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเอง ในการแก้ไขปัญหาและปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ถ้าจำกันได้ในช่วงเมื่อ 20 ปีก่อน ที่มีข่าวการจัดระเบียบสังคมและข่าวการปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง จนกระทั่ง รัฐบาลในยุคนั้นสามารถปักธงประกาศชัยชนะกับยาเสพติดได้ และได้นำมาเป็นจุดขายในการหาเสียงมาตลอด แม้กระทั่ง ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ถึงกับประกาศในป้ายหาเสียงว่า ‘เพื่อไทยมา ยาเสพติดหมดไป’

ห่วง "ผู้ค้ารายใหม่" มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

แต่ปรากฏว่า ขณะนี้ น.พ.ชลน่าน กลับมีนโยบายที่เปรียบเสมือนกับส่งเสริมให้คนครอบครองยาเสพติดมากขึ้น จนหวั่นใจว่า จะมีผู้ค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งยาเสพติดก็เป็นของอันตรายที่แม้แต่เพียงครึ่งเม็ดก็สร้างผลร้ายต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติ

ดังนั้น ผมเห็นว่า ถ้าต้องการให้ผู้เสพมีจำนวนน้อยลงแล้ว นอกจากการที่ออกนโยบาย Quick Win (ควิกวิน) ที่จะเร่งรัดให้เห็นผลใน 100 วัน 3 นโยบายหลัก เช่น จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ การตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด รวมทั้ง มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอแล้ว ก็อยากให้ น.พ.ชลน่าน ได้ลงไปดูข้อเท็จจริง ถึงกระบวนการในปัจจุบันว่า เป็นอย่างไร

รวมทั้ง การวางมาตรการเพิ่มเติม โดยอาจจะสร้างความมั่นใจและการคุ้มครองให้กับผู้ที่บำบัดสำหรับการให้ข้อมูลผู้ขายจนสามารถไปถึงผู้ขายรายใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยกันในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและผู้ค้ายาเสพติดได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายชัยชนะกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related