svasdssvasds

'Olympe de Gouges' นักสิทธิสตรีคนแรกของโลก แต่ถูกประหารด้วยกิโยติน

'Olympe de Gouges' นักสิทธิสตรีคนแรกของโลก แต่ถูกประหารด้วยกิโยติน

นักสิทธิสตรีผู้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิง ผู้เข้าร่วมการปฏิวัติฝรั่งเศสจากทวงอำนาจจากกษัตริย์มาสู่พลเมือง แต่กลับต้องสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศของสังคม สุดท้ายเธอถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน ในข้อหากบฏและละเลยคุณธรรมที่หญิงควรยึดมั่น

SHORT CUT

  • Olympe de Gouges นักเขียนผู้เข้าร่วมการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ถูกประหารด้วยกิโยติน ข้อหาเป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตย
  • รัฐธรรมนูญไม่ให้สิทธิสตรีในการเลือกตั้ง และยังคงค่านิยมที่ให้สตรีเป็นสมบัติของพ่อและสามี เธอจึงเขียนประกาศสิทธิสตรีและพลเมืองหญิง
  • หลังถูกประหารชีวิต งานเขียนของเธอส่งอิทธิพลต่อการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของสตรีในทวีปอเมริกา

นักสิทธิสตรีผู้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิง ผู้เข้าร่วมการปฏิวัติฝรั่งเศสจากทวงอำนาจจากกษัตริย์มาสู่พลเมือง แต่กลับต้องสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศของสังคม สุดท้ายเธอถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน ในข้อหากบฏและละเลยคุณธรรมที่หญิงควรยึดมั่น

ในห้วงเวลาที่บทบาทของผู้หญิงในสังคมเริ่มถูกยกระดับขึ้นมาเท่าเทียมกับผู้ชาย มีสิทธิมีเสียงทั้งในระดับครอบครัว สังคม และการเมืองมากขึ้น แต่รู้หรือไม่? นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีคนแรกของโลกกลับถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินที่สังหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสสำเร็จ 

โอแลมป์ เดอ กูจ (Olympe de Gouges) นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศส เธอมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1748-1793 วรรณกรรมของเธอเกี่ยวกับสิทธิสตรี การเลิกทาสผิวสี การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการแต่งงานและการหย่าร้าง สิทธิเด็ก และความมั่นคงในสังคม เธอเข้าร่วมการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อนำไปสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of Rights of Man and of the Citizen) ของคณะปฏิวัติฝรั่งเศสที่ร่างโดยผู้ชายให้มีความเท่าเทียมและอิสรเสรีภาพต่อผู้ชายทุกคน แต่กลับไม่ครอบคลุมผู้หญิง เธอตั้งคำถามถึงความไม่เป็นสากลเพียงพอ และเขียนคำประกาศสิทธิสตรีและพลเมืองหญิง (Declaration of the Rights of Woman and of the Female Citizen) เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิทางการเมือง สิทธิในการดูแลบุตร และสิทธิที่เท่าเทียมกับผู้ชาย

ผู้หญิงและลูกเป็นสิทธิของสามี

บริบทสังคมในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้หญิงและบุตรเป็นสมบัติของพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อผู้หญิงแต่งงาน เธอและลูกก็จะตกเป็นสมบัติสามี หรือสิทธิพลเมืองของผู้หญิงจะถูกใช้ผ่านผู้ชาย ด้วยการแต่งงานและการมีครอบครัว พวกเธอต้องทำงานบ้าน ลูกผู้หญิงจะได้รับการศึกษาจากแม่เท่านั้น ไม่ได้เข้าโรงเรียน ไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติ บ้านและที่ดิน หรือแม้แต่การออกเสียงในทางการเมือง อยู่ในฐานะที่ไม่ต่างจากคนผิวสีหรือทาสในยุคนั้น 

ขณะที่ โอแลมป์ เดอ กูจ นามเดิมของเธอคือมารี กูจ (Marie Gouze) โดย กูจ คือนามของพ่อเธอ Pierre Gouze เธอถูกบังคับให้แต่งงานตอนอายุ 14 ปี กับคนขายเนื้อชื่อ Louis Yves Aubry และเธอต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Marie Aubry ก่อนที่สามีเธอจะเสียชีวิตเพราะเหตุการณ์น้ำท่วม และเธอก็ไม่เคยแต่งงานใหม่อีกเลย โดยเธอได้นิยามการแต่งงานว่าเป็นหลุมฝังศพของความรักและความซื่อสัตย์

เธอย้ายไปอยู่ที่ปารีสและเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น Olympe de Gouges กลับไปใช้นามสกุลเดิมของพ่อเธอที่เคยใช้มาตลอด และเอาชื่อของแม่ Olympe มารวมในชื่อเธอ เธอเริ่มคบหากับเศรษฐีจากเมืองลียงและสมาคมกับเหล่าศิลปินและนักปรัชญา ก่อนจะเริ่มต้นอาชีพนักเขียนบทละครที่สะท้อนและผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนและต่อต้านการค้าทาสผ่านผลงานของเธอ ซึ่งถือว่าเป็นการก้าวออกจากพื้นที่ของผู้หญิงในยุคนั้นอย่างมาก ทั้งการไม่ใช้ชื่อสามี แต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อแม่แทน รวมไปถึงการก้าวเข้ามาสู่วงการนักเขียนถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับผู้หญิงในยุคนั้น

เครดิตภาพ FLICKR

จุดจบของหญิงที่ท้าทายสิทธิผู้ชาย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของสิทธิสตรี

หลังจากการเข้าร่วมปฏิวัติฝรั่งเศส และพบว่าการต่อสู้ของเธอไม่ใช่เพื่อสิทธิพลเมืองอย่างเท่าเทียม แต่เพื่อสิทธิของผู้ชายเท่านั้น เธอจึงเรียกร้องให้สตรีชาวฝรั่งเศสได้รับสิทธิเช่นเดียวกับชายชาวฝรั่งเศสผ่านคำประกาศสิทธิสตรีและพลเมืองหญิงซึ่งท้าทายโครงสร้างอำนาจผู้ชายในยุคนั้นอย่างมาก 

เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรี งานเขียนของเธอมีทิศทางนิยมกษัตริย์และอนุรักษ์นิยมมากขึ้น  ทั้งยังเคยเรียกร้องให้พระนางมารี อ็องตัวแน็ต สนับสนุนบทบาทหน้าที่ของการเมืองสตรี จนสุดท้ายเธอถูกจับกุมโดยช่วงเวลาสามเดือนในคุก ศาลไม่อนุญาตให้เธอใช้ทนายความเพื่อต่อสู้คดี โดยให้เหตุผลว่าเธอสามารถเป็นตัวแทนของตัวเธอเองได้ และสุดท้ายเธอถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน หลังจากการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินี ด้วยข้อหาคุกคามต่ออธิปไตยและประชาธิปไตย โดยเธอได้เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงลูกชายมีใจความว่า 

"ลูกรัก แม่ตายเป็นเหยื่อสักการะปิตุภูมิและปวงประชา ใต้เปลือกปลอมแห่งสาธารณรัฐนิยม พวกศัตรูของสตรีพาแม่ขึ้นสู่ตะแลงแกงอย่างไร้ยางอาย"

หลังจากการเสียชีวิตของเธอ แม้ผู้หญิงสมาคมการเมืองสตรีที่เธอก่อตั้งถูกสั่งห้ามให้ทำกิจกรรมทางการเมือง แต่งานเขียนของเธอถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางและมีอิทธิพลต่อการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและเสรีภาพของสตรีในทวีปอเมริกา
เครดิตภาพ FLICKR

เครดิตภาพ FLICKR

แนวคิดสตรีนิยม

จากนั้นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศก็เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เกิดสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 1 ต่อสู้เรืองสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ให้เอาเรื่องเพศมาแบ่งแยกความแตกต่างของค่าแรง การถือครองทรัพย์สมบัติ และเรียกร้องเรื่องสิทธิทางการเมืองของผู้หญิง 

คลื่นลูกที่ 2 ต่อสู้เรื่องการปลดปล่อยผู้หญิงในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม โอกาสในการทำงาน การสร้างภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงของสื่อมวลชน ยุติการกีดกันและกดขี่ทางเพศ

คลื่นลูกที่ 3 ท้าทายโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมเนื่องด้วยบทบาททางเพศ ทลายข้อจำกัดและสร้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศสภาพ เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม

คลื่นลูกที่ 4 คือ ขบวนการสตรีนิยมทางโลกออนไลน์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นำมาสู่การรณรงค์ต่างๆ บนโลกออนไลน์ เช่น การคุกคามทางเพศ เสรีภาพในการแต่งกาย หรือสิทธิบนเรือนร่าง เป็นต้น

related