svasdssvasds

ทัพเรือ เปิดสาเหตุ กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

ทัพเรือ เปิดสาเหตุ กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

กองทัพเรือแถลงข่าวผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ผู้การเรือ รับผิดชอบเต็มๆ ลาออกจากราชการ

SHORT CUT

  • เรือหลวงสุโขทัยอับปางไม่ได้เกิดจากความจงใจของผู้บังคับการเรือฯ รวมถึงกำลังพลบนเรือ แต่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน
  • การตัดสินใจนำเรือกลับสัตหีบของผู้การเรือฯ  ซึ่งมีระยะทางไกลและใช้เวลาเดินทางมากกว่า เป็นดุลพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหาย
  • นาวาโท พิชิตชัย  ในนามของผู้บังคับการเรือ ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้ที่สูญเสีย พร้อมลาออกจากราชการ

กองทัพเรือแถลงข่าวผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ผู้การเรือ รับผิดชอบเต็มๆ ลาออกจากราชการ

วันนี้ (9 เมษายน 2567) เวลา 15:00 น. พลเรือเอก อะดุง  พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานการแถลงข่าว ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยมี พลเรือเอก ชัยณรงค์  บุณยรัตกลิน ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดชอบทางละเมิด พลเรือโท สุระศักดิ์  สิงขรวัฒน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ในฐานะ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทัพเรือภาคที่ ๑ พลเรือตรี อภิรมย์  เงินบำรุง เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ


ในฐานะ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและคณะกรรมการสอบสวนฯ และ นาวาโท พิชิตชัย  เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องเจ้าพระยาหอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

การแถลงข่าวในครั้งนี้ กองทัพเรือ สรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยระบุว่า เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือประเภทเรือคอร์เวต ชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย เรือหลวงสุโขทัย และ เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าประจำการในกองทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ.2530 เรือหลวงสุโขทัยได้เข้าการซ่อมบำรุงตามแผนมาโดยตลอดโดยซ่อมทำครั้งล่าสุดในปีงบประมาณ 2561 ที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม 2561
ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564

รายการซ่อมทำที่สำคัญประกอบด้วย การซ่อมทำระบบตัวเรือ งานตัวเรือใต้แนวน้ำ งานตัวเรือเหนือแนวน้ำ การซ่อมทำระบบกลจักร และการซ่อมทำระบบไฟฟ้า หลังการซ่อมทำเสร็จ เรือหลวงสุโขทัยได้ปฏิบัติราชการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อขัดข้องจนต้องรับการซ่อมทำใหญ่แต่อย่างใด ภารกิจสุดท้าย
ขณะประสบอุบัติเหตุอับปาง คือ ภารกิจลาดตระเวนเพื่อเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ หาดทรายรี จังหวัดชุมพร ตามที่ จ.ชุมพร ร้องขอ ระหว่างวันที่ 17 - 19 ธันวาคม 65 จำนวน 3 วัน

ทัพเรือ เปิดสาเหตุ กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

สรุปเหตุการณ์

ในการออกเรือครั้งนี้ สถานภาพของเรือหลวงสุโขทัย ตัวเรือมีความพร้อม ระบบขับเคลื่อน ระบบเดินเรือ ระบบอาวุธมีความพร้อม เครื่องไฟฟ้า 4 เครื่อง มีความพร้อม 3 เครื่อง  มีกำลังพลไปกับเรือทั้งหมด 105 นาย ประกอบด้วยกำลังพลประจำเรือ จำนวน 75 นาย กำลังพลจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จำนวน 15 นาย และจากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาสยานและรักษาฝั่ง จำนวน 15 นาย

ทั้งนี้กำลังพลประจำเรือที่ไปจำนวน 75 นาย จากยอดที่บรรจุ 100 นายนั้น ผู้บังคับการ เรือหลวงสุโขทัยพิจารณาแล้ว เห็นว่าสามารถปฏิบัติราชการในครั้งนี้ได้ โดยตำแหน่งที่ไม่มีกำลังพลไปกับเรือ กำลังพลประจำเรือในตำแหน่งอื่น ๆ สามารถปฏิบัติงานทดแทนกันได้ และให้สามารถรองรับกำลังพล
ที่ร่วมเดินทางไปกับเรือจำนวน 30 นายได้อีกด้วย

โดยข้อมูลสภาพอากาศจากกองอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ในห้วงวันที่ 17 - 20 ธันวาคม 2565 ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เส้นทางเดินเรือคือ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ห่างฝั่งมีความสูงของคลื่น 1.5 - 2.1 เมตร และ 1.5 - 2.4 เมตร อ่าวไทยตอนล่าง ความสูงของคลื่น 3 เมตร

 

ในวันที่ 17 ธ.ค.65 เวลา 17.30 น. เรือหลวงสุโขทัยออกเดินทางจากท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยมีที่หมายคือ หาดทรายรี จ.ชุมพร ภายหลังจากออกเรือประมาณครึ่งชั่วโมง ได้มีการประกาศแจกจ่ายเสื้อชูชีพให้กับกำลังพลของหน่วยที่ลงไปกับเรือที่ห้องเสมียนพลาธิการ ซึ่งเรือหลวงสุโขทัย
มีเสื้อชูชีพอยู่บนเรือ รวมทั้งสิ้น 120 ตัว เพียงพอสำหรับกำลังพลที่ออกปฏิบัติการกับเรือในครั้งนี้ โดยกำลังพลประจำเรือแต่ละนายได้รับการแจกจ่ายประจำตัวแล้ว และได้จัดเตรียมไว้สำหรับแจกจ่าย ให้กำลังพลของหน่วยที่ลงไปกับเรือด้วย แต่ปรากฏว่าหลังจากประกาศ กำลังพลดังกล่าวยังไม่มารับเสื้อชูชีพครบทั้งหมด เนื่องจากบางส่วนมีภาระส่วนตัว บางส่วนไม่ได้ยินการประกาศ และบางส่วนไม่มีความคุ้นเคยเส้นทางภายในเรือ

ระหว่างเวลา 20.00 - 22.00 น. เรือหลวงสุโขทัย ถือเข็ม 200 ความเร็ว 15 นอต ขณะนั้น มีคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร และตั้งแต่เวลา 22.00 น. ได้เปลี่ยนไปถือเข็ม 220 ในช่วงเวลานั้นทางเรือได้ทดลองติดต่อสื่อสารทางวิทยุกับแท่นปิโตรเลียมมโนราห์ตามปกติในการปฏิบัติ จนกระทั่งเวลา 02.00 น. เรือยังคงเดินเรือด้วยทิศทางเดิม เครื่องจักรใหญ่ข้ายเกิดการขัดข้อง ใช้งานเครื่องจักรใหญ่ขวาได้ จึงทำความเร็วได้เพียง 8 นอต (15 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ขณะเดินทางคลื่นลมมีความแปรปวนตลอดเวลา คลื่นมีความสูงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงเวลาประมาณ 04.00 น. คลื่นมาในทิศหัวเรือ มีความสูงประมาณ 4 เมตร ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็วประมาณ 28 นอต (50.4 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เรือมีอาการโคลงในลักษณะขึ้นลงอย่างรุนแรง

เวลาประมาณ 04.30 น. ได้ตรวจพบประตูทางเข้าบริเวณหัวเรือกราบข้ายเปิดอยู่ และสะบัดกระแทกจนเกิดเสียงดัง กำลังพลประจำเรือจึงได้ปิดประตูจนแนบสนิทและหมุนพวงมือล็อคประตูเรียบร้อย พบว่ามีน้ำสาดเข้ามาในช่องระหว่างประตูชั้นนอกและประตูชั้นใน ต่อมาในเวลาประมาณ 05.00 น. ประตูดังกล่าวเปิดและสะบัดกระแทกจนเกิดเสียงดังอีก เมื่อปิดแล้วไม่สามารถหมุนพวงมือล็อคประตูได้ จึงใช้เชือกมัดไว้ไม่ให้เปิดออก โดยมีน้ำไหลออกมาจากขอบประตู ทั้งนี้ขอบประตูมีความสูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร จากการตรวจสอบภายในห้องพบว่ามีน้ำไหลออกมาจากท่ออากาศดีเป็นช่วง ๆ ตามจังหวะของคลื่น

เวลาประมาณ 06.00 น. เรือเดินทางใกล้ถึงพื้นที่จอดบริเวณหาดทรายรี แต่ด้วยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทะเลเปิด คลื่นสูงประมาณ 4 - 6 เมตร ไม่สามารถนำเรือจอดทอดสมอได้

 เวลาประมาณ 06.30 น. เครื่องไฟฟ้าหมายเลข 3 หยุดการทำงาน แผนกช่างกลจึงเดินเครื่องไฟฟ้าหมายเลข 1 ทดแทน ทั้งนี้ในการเดินเรือปกติจะสลับเดินเครื่องไฟฟ้าครั้งละ 1 เครื่อง

เวลาประมาณ 07.00 น. ผู้บังคับการเรือตัดสินใจนำเรือกลับขั้นทางเหนือ ทิศทางสวนคลื่น สวนลม ต่อมาเกิดเสียงสัญญาณที่ห้องสะพานเดินเรือเตือนว่ามีน้ำท่วมห้องคลังลูกปืน 40 มิลลิเมตร จากการตรวจสอบพบว่ามีน้ำไหลซึมออกมาจากขอบล่างของประตูห้องบรรจุลูกปืน หลังเปิดประตูสำรวจมีน้ำไหลออกทางประตู จึงได้พยายามปิดต้านแรงดันน้ำจนปิดได้

เวลาประมาณ 07.45 น. ได้ติดต่อ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร ในการลำเลียงกำลังพลขึ้นฝั่ง แต่ได้รับแจ้งว่าเรือเล็กไม่สามารถออกมารับกำลังพลดังกล่าวได้เนื่องจากคลื่นลมแรง

ทัพเรือ เปิดสาเหตุ กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

เวลาประมาณ 08.00 น. เรือหลวงสุโขทัยตกลงใจเดินทางกลับฐานทัพเรือสัตหีบ เนื่องจากคลื่นลมแรงและไม่สามารถจอดทอดสมอ ณ หาดทรายรีได้ ระหว่างนั้นได้รับการประสานจากทัพเรือภาคที่ 1 ให้ส่งกำลังพลที่ร่วมเดินทางไปกับเรือจำนวน 30 นาย ขึ้นที่ท่าเรือประจวบ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีรขันธ์ จึงได้ประสานไปยังท่าเรือประจวบเพื่อขอรับการสนับสนุนการเข้าจอดเรือ และได้มีการประกาศผ่านระบบประกาศช้ำให้กำลังพลที่มากับเรือมารับเสื้อชูชีพ

เวลาประมาณ 08.15 น. ตรวจพบน้ำนองบริเวณช่องทางเดินหน้าห้องศูนย์ยุทธการ ภายในห้องยุทธการ และห้องวิทยุ ความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร และอีก 15 นาทีต่อมา เกิดฟ้าช็อตหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับประดับไฟเรือ ซึ่งได้ทำการดับไฟและตัดไฟในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

เวลาประมาณ 10.00 น. เรือหลวงสุโขทัยติดต่อกับท่าเรือประจวบ เพื่อขอทราบข้อมูลหน้าท่าและสภาพคลื่นลม เพื่อประกอบการพิจารณาการนำเรือเข้าท่า

เวลาประมาณ 10.15 น. เกิดเหตุไฟไหม้จากเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) สำหรับคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมภายในห้องวิทยุ เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้ ระบบสื่อสารภายในยังใช้งานได้

แต่ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมใช้งานไม่ได้ เวลาประมาณ 10.20 น. ได้รับการประสานข้อมูลสภาพคลื่นลมบริเวณท่าเรือประจวบฯ ว่ามีคลื่นและลมรุนแรงมาก ไม่ปลอดภัยต่อการนำเรือเข้าเทียบหรือทอดสมอบริเวณท่าเรือ ทั้งนี้ มีเรือสินค้าของบริษัทที่มีแผนเข้าเทียบ ก็ไม่สามารถเข้าเทียบได้เช่นกัน

เวลาประมาณ 12.00 น. ห้องบรรจุลูกปืนมีน้ำไหลเข้ามาคาดว่าน้ำเข้ามาจากฝา Hatch บริเวณท้ายป้อมปืน 72 มิลลิเมตร พบว่าฝา Hatch เผยอออก จึงได้ขันเกลียวปิดให้สนิท และมัดด้วยเชือก
เพื่อป้องกันเกลียวหลุดออก

 เวลาประมาณ 12.45 น. ขณะนั้น เรือหลวงสุโขทัยเดินเรืออยู่ห่างจากท่าเรือประจวบฯ ประมาณ 15 ไมล์ ผู้บังคับการเรือตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ โดยทำความเร็ว 8 นอต ระยะท่าง 100 ไมล์ ซี่งโดยหลักการ ผู้บังคับการเรือสามารถตัดสินใจภายใต้สถานการณ์จำกัดได้ โดยในขณะนั้น ทะเลมีสภาพคลื่นลมรุนแรงมาก คลื่นสูง 4 - 5 เมตร น้ำทะเลจำนวนมาก ม้วนเข้าหาตัวเรือ ตั้งแต่ป้อมปืนขนาด 76 มิลลิเมตร จนถึงสะพานเดินเรือ

เวลาประมาณ 13.00 น. ตรวจพบน้ำไหลออกมาจากผนังใยแก้วตัวเรือกราบซ้าย
ในห้องปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำสูงประมาณ 1 ฟุต จึงมีการใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำออก ระหว่างนั้น มีไฟฟ้าดูดกำลังพล จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีให้กำลังพลตักน้ำส่งต่อกันเพื่อระบายออกนอกตัวเรือ โดยคลื่นยังคงรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ความสูง 4 - 6 เมตร ลมกระโชกแรง ความเร็วลมมากกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำทะเลจำนวนมากยังคงซัดเช้าหาตัวเรือ ตั้งแต่ป้อมปืนขนาด 76 มิลลิเมตร จนถึงสะพานเดินเรืออย่างต่อเนื่อง

เวลาประมาณ 15.00 น. เกิดน้ำท่วมบริเวณหน้าห้องเครื่องไฟฟ้า 3 ความสูงประมาณ 3 ฟุต จึงได้ทำการสูบน้ำ แต่เกิดฟ้าดูดกำลังพล จึงเปลี่ยนมาให้กำลังพลช่วยกันระบายน้ำออก จนถึงเวลาประมาณ 16.30 น. ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงได้ขึ้นมาปิดประตูผนึกน้ำด้านบนที่เป็นดาดฟ้าหลัก ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่ห้องหน้าเครื่องไฟฟ้า มีมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า โดยในช่วงแรกยังสามารถควบคุมน้ำได้เพราะน้ำเข้าที่เบรกกันคลื่นอย่างเดียว แต่หลังจากป้อมปืนแตก น้ำเข้าในเรือมากจนเกินกว่าจะควบคุม

เวลาประมาณ 15.45 น. ตรวจพบใยแก้วสีเหลืองบริเวณเปลือกไฟเบอร์ป้อมปืนขนาด 76 มิลลิเมตร อันมีสาเหตุมาจากป้อมปืนแตก โดยไม่ทราบว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ส่งผลให้ปริมาณน้ำ ในห้อง Gun bay ปืน 76 มิลลิเมตร เพิ่มมากขึ้น

เวลา 16.00 น. ผู้บังคับการเรือตัดสินใจหันเรือกลับท่าเรือประจวบฯ เรือเอียงประมาณ 30 องศา การควบคุมเรือเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดนคลื่นซัดเข้าทางด้านท้ายเรือ เวลาประมาณ 16.45 น. ได้มีการสั่งการให้กำลังพลที่ร่วมมากับเรือ ที่ไม่เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติงานไปรวมตัวที่ห้องเมสจ่า และยังคงประสานขอรับการสนับสนุนเรือลากจูงมาลากเรือหลวงสุโขทัยกลับเข้าฝั่ง

เวลาประมาณ 17.00 น. เรือเอียงมากราบซ้ายมากขึ้น อ่านค่าได้จากเครื่องวัดความเอียงของเรือ เรือเอี่ยงอยู่ทีมุมระหว่าง 15 - 30 องศา ทางกราบซ้าย และในขณะนั้นมีน้ำท่วมในชั้นห้องกะลาสี (ดาดฟ้า 2 ) ความสูงประมาณเอว จากนั้นมีน้ำขึ้นมาถึงขอบประตูด้านบนห้องวิทยุ (ดาดฟ้า 1) จึงได้ค้ำยัดประตูไม้ห้องวิทยุและประตูช่องทางเดินไปหัวเรือ ต่อมาผู้บังคับการเรือได้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้รับคำแนะนำในการป้องกันความเสียหาย

จนถึงเวลาประมาณ 17.30 น. ได้สั่งการผ่านระบบประกาศให้กำลังพลทั้งหมดขึ้น มาบนดาดฟ้าทัศนะสัญญาณ เนื่องจากระดับน้ำที่เข้าเรือสูงขึ้นจนไม่สามารถทำการระบายออกได้ทัน

 

เวลาประมาณ 17.45 น. เรือเอียงมากขึ้น ประมาณ 50 - 60 องศา มีการใช้สัญญาณโคมไฟ ไม่บังคับทิศส่งสัญญาณ S O S ขอความช่วยเหลือ และมีสัญญาณไฟตอบรับ รวมทั้งได้ใช้วิทยุมือถือ ในการติดต่อสื่อสารขอความช่วยเหลือ ต่อมาเครื่องไฟฟ้าได้ดับลง ทำให้ไม่มีไฟฟ้าแสงสว่าง ได้ใช้การบอกต่อคำสั่งให้กำลังพลขึ้นมาข้างกราบบริเวณกลางลำ และมีการสั่งการให้แผนกช่างกลและกำลังพลบางส่วน ช่วยกันปิดประตูผนึกน้ำตลอดลำ รวมทั้งตรวจสอบว่าไม่มีกำลังพลหลงเหลือภายในเรือ

เส้นทางการเดินเรือ ของ "เรื่อหลวงสุโขทัย"

เวลาประมาณ 18.10 น. หลังจากผู้บังคับการเรือออกจากภายในเรือคือสะพานเดินเรือ เป็นคนสุดท้าย และปิดประตูสะพานเดินเรือทางกราบขวา ได้สั่งการให้ตรวจสอบยอดกำลังพลด้วยวิธีนับตลอด ซึ่งนับกำลังพลได้ครบ 105 นาย ปรากฏกำลังพลมีทั้งที่สวมเสื้อชูชีพและไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ และในช่วงเวลานั้น ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้สั่งการให้เรือหลวงกระบุรีออกเรือจากท่าเรือประจวบฯ ไปช่วยเหลือเรือหลวงสุโขทัย

ต่อมาในเวลา 18.40 น. เรือหลวงสุโขทัยขอความช่วยเหลือเร่งด่วนไปยังศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ เนื่องจากเครื่องจักรใหญ่และเครื่องไฟฟ้าไม่สามารถใช้งานได้มีน้ำทะเลเข้าเรือเป็นจำนวนมาก เรือเอียงประมาณ 60 องศา ในการนี้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือได้ประสานส่วนต่าง ๆ ให้การช่วยเหลือที่สำคัญได้แก่ ประสานท่าเรือประจวบฯ จัดเรือลากจูง ประจวบ 4 และ 5 อีกทั้งประสานเรือน้ำมัน Straits Energy และเรือน้ำมันศรีไชยา ซึ่งอยู่บริเวณ ใกล้กับตำบลที่เกิดเหตุขอให้ความช่วยเหลือ ในขณะนั้นบนเรือหลวงสุโขทัยได้มีการแนะนำวิธีการเอาตัวรอด แก่กำลังพล และชักซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติตนเมื่อต้องอยู่ในทะเล โดยให้กำลังพลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เวลาประมาณ 20.00 น. เครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 Dornier จำนวน 1 เครื่อง
ขึ้นบินเพื่อพิสูจน์ทราบตำบลที่ เรือหลวงสุโขทัย โดยเรือหลวงกระบุรีได้เข้าไปถึงเรือหลวงสุโขทัย ตั้งแต่เวลา 20.21 น. และปิดระยะเข้าทำการช่วยเหลือเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ก่อนเกิดการอับปาง ด้วยสภาพคลื่นลมขณะนั้นความเร็วลม 30 น็อต คลื่นสูง 3 - 5 เมตร ทั้งนี้เรือหลวงกระบุรีได้พยายามส่งเชือก จนเมื่อส่งได้
ทางเรือหลวงสุโขทัยไม่สามารถนำเชือกเข้าผูกได้ ซึ่งเรือเอียงมาทางกราบซ้ายมากกว่า 70 องศา ท้องเรือโผล่พ้นน้ำจนสามารถเห็นมองใบจักรกราบขวาของเรือหลวงสุโขทัย เสากระโดงเรืออยู่ทิศเหนือลม ทำให้เรือหลวงกระบุรี ไม่สามารถนำเรือเข้าหาในทิศเหนือลมได้ กราบขวาเรือหลวงสุโขทัยยกตัวขึ้นลงตามคลื่นตลอดเวลา อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเข้าเทียบได้ เรือหลวงกระบุรีจึงนำเรืออยู่ในระยะปลอดภัยเพื่อพร้อมเข้าช่วยเหลือ
หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

เวลาประมาณ 23.30 น. ท้ายเรือเริ่มจม ผู้บังคับการเรือสุโขทัยสั่งให้ปลดแพซูชีพหมายเลข 3 และ 5 บริเวณกลางลำกราบขวา และให้กำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพกระโดดลงน้ำและว่ายไปบนแพชูชีพ มีกำลังพล
ถูกคลื่นซัดตกจากเรือ ว่ายน้ำขึ้นไปบนแพชูชีพดังกล่าว

ในเวลา 00.12 น. ซึ่งเข้าสู่วันที่ 19 ธันวาคม เรือหลวงสุโขทัยได้จมลงทั้งลำ

 

สรุปการให้การช่วยเหลือ เรือหลวงสุโขทัย

 นับตั้งแต่เริ่มอับปางเรือหลวงกระบุรี ทำการช่วยเหลือกำลังพล เรือหลวงสุโขทัย หลังอับปางนั้น เริ่มจากได้ส่งพวงชูชีพ จำนวน 13 พวง และปลดแพชูชีพให้กางออกให้อีก 9 แพ เสื้อชูชีพ 30 ตัว โดยใช้เชือกผูกไว้กับเรือ ส่งออกไปเพื่อรับกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยที่อยู่ในน้ำขึ้นมาได้ในเบื้องต้น 41 นาย จากนั้น
ได้นำเรือยางท้องแข็งลงจากเรือออกไปช่วยอีกด้วยสามารถช่วยกำลังพลที่ประสบภัยกลับมาขึ้นเรือหลวงกระบุรีได้ อีก 5 นาย รวมทั้งหมด 46 นาย ต่อจากนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบกำลังพลในบริเวณที่เรืออับปาง ก็ได้ออกเรือค้นหาในบริเวณดังกล่าวห่างออกไปอีก จนไม่สามารถตรวจพบได้อีกจึงเดินทางกลับเข้าท่าเรือประจวบฯ

นับตั้งแต่เวลา 20.47 น. เครื่องบินลาดตระเวนแบบ Dornier (DO - 228) ได้ขึ้นบินจากสนามบินอู่ตะเภา เข้าถึงพื้นที่ เรือหลวงสุโขทัยประสบเหตุ ได้กำหนดตำบลที่ เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งขณะที่เรืออับปาง เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ แบบ S-70B จำนวน 2 เครื่องได้บินจากสนามบินอู่ตะเภาเวลาเข้าถึงพื้นที่ประสบเหตุเวลา 01.04 น. ภารกิจได้ปล่อยแพชูชีพ จำนวน 8 แพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและได้มีเรือต่าง ๆ เข้าทำการช่วยเหลือ ในเวลาต่อมายังคงมีการออกค้นหาช่วยเหลือ โดยกองทัพเรือได้จัดตั้งหน่วยค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย


มีการจัดทำแบบจำลองค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล หรือ SAR Map มีการแบ่งมอบพื้นที่ปฏิบัติการ การสั่งการให้ เรือ อากาศยาน และหน่วยปฏิบัติการพิเศษออกค้นหาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำลังในการค้นหา จากกองทัพอากาศ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และหน่วยงานราชการเอกชน มูลนิธิ อาสาสมัครในพื้นที่อีกหลายส่วนเข้าร่วมให้การสนับสนุนในพื้นที่ รวมทั้งมีการจัดตั้งกองอำนวยการ ณ ท่าเรือประจวบ อำเภอบางสะพาน อีกด้วย

สรุปการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย กำลังพลที่ออกปฏิบัติราชการกับเรือหลวงสุโขทัยทั้งหมด จำนวน 105 นาย ดังนี้ สามารถช่วยเหลือและรอดชีวิต จำนวน 76 นาย ได้แก่ เรือหลวงกระบุรี ช่วยเหลือได้ 48 นาย เรือประจวบ 5 ช่วยเหลือได้ 4 นาย เรือน้ำมัน Straits Energy ช่วยเหลือได้ 6 นาย เรือน้ำมันศรีไชยาช่วยเหลือได้ 20 นาย จำนวนผู้เสียชีวิต 24 นาย สูญหาย จำนวน 5 นาย

สภาพอากาศขณะเกิดเหตุ

ข้อมูลสำคัญที่เป็นองค์ประกอบผลกระทบจากสภาพอากาศและคลื่นลมสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริงมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงฉับพลันและรุนแรง มีคลื่นสูงสุดถึงกว่า 6 เมตร หรือถึง Sea Stage7 ซึ่งคุณสมบัติของ เรือหลวงสุโขทัยกำหนดไว้ว่าสามารถเดินเรือได้สูงสุดในระดับ Sea Stage 5 คือความสูงคลื่นประมาณ 2.5 - 4 เมตร สภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริงมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากที่มีการพยากรณ์ไว้ ด้วยระดับภาวะทะเลอยู่ในระดับ 7 ที่เกิดขึ้นนี้ จึงส่งผลทำให้เรือมีอาการโคลงมาก การควบคุมเรือ ทำได้ยากลำบาก การทรงตัวของเรือ และกำลังพลอยู่ในภาวะไม่ปกติ การทำกิจวัตรหรือปฏิบัติงานไม่สามารถทำได้เช่นในภาวะปกติ อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นคืนเดือนมืด ท้องฟ้ามีเมฆมาก เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น

มีข้อจำกัดในการตรวจการณ์ให้ความช่วยเหลือ คลื่นลมที่รุนแรงนี้ยังทำให้กำลังพลถูกพัดกระจายตัวออกไป ยากต่อการให้ความช่วยเหลือและเป็นอุปสรรคในการเอาชีวิตรอดในทะเล ทั้งนี้จากการรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าในช่วงเวลาดังกล่าว คือ ในวันที่ 18 - 19 ธันวาคม 2565 ได้มีเรืออับปางในอ่าวไทยถึง 7 ลำ ซึ่งลำที่ใหญ่สุดเป็นเรือสินค้าที่มีขนาด 2,123 ตันกรอส อันเนื่องมาจากการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงฉับพลันและรุนแรง ของสภาพอากาศ เรืออับปางจำนวน 7 ลำ มีดังนี้ 1.)เรือหลวงสุโขทัย 2.)เรือสินค้า Anu Bhum 3.)เรือสินค้า สันทัดสมุทร 2 4.)เรือสินค้า SUMBER SUKSES UTAMA\ 5.)เรือประมง ส.นพรัตน์ 4 6.)เรือประมงทรัพย์สุนันท์ 7.)เรือประมง ส.เอกรัตน์ 19

สรุปความเสียหาย เรือหลวงสุโขทัย

ข้อมูลทางเทคนิค

เกิดการชำรุดเสียหายที่ทำให้น้ำเข้าเรือได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งความเสียหายดังกล่าวได้แก่

  • 1.1  ความเสียหายของแผ่นกันคลื่น (Brake Water) ซึ่งติดตั้งอยู่หน้าป้อมปืน 76/62 ถูกคลื่นกระทำจนฉีกขาด เป็นผลทำให้แผ่นเหล็กดาดฟ้าตัวเรือบริเวณดังกล่าวฉีกขาด และทะลุจนน้ำทะเลสามารถเข้าไปยังห้อง Gun bay ปืน 76/62 ซึ่งอยู่ใต้ป้อมปืนได้
  • 1.2  ความเสียหายของป้อมปืน 16/62 จากการถูกกระแทกเป็นช่องเปิด ทำให้น้ำทะเลสามารถเข้าไปยังห้อง Gun bay ปีน 76/62 จากช่องทางนี้ได้
  • 1.3  ประตูห้องกระชับเชือกหัวเรือเปิดอยู่ ทำให้น้ำสามารถเข้าได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรือสูญเสียความสามารถในการทรงตัว
  • 1.4  ความเสียหายรูทะลุ 2 แห่ง ที่หัวเรือกราบซ้ายบริเวณกงที่ 35 สูงจากแนวน้ำประมาณ 5 ฟุต เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำเข้าสู่ห้อง Gun bay ปีน 76/62 ได้ แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของการอับปางกล่าวคือ
  • เมื่อระดับน้ำในภายห้องสูงกว่าระดับรูทะลุ น้ำจะไหลออกมากกว่าไหลเข้าสู่ภายในห้อง
 

2. สภาพคลื่นลมที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งเกินกว่าขีดความสามารถของเรือในขณะนั้น ที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน (เรืออายุ 36 ปี เข้าสู่ช่วง ท้ายๆ ของการประจำการ) ซึ่งสภาพคลื่นลมที่รุนแรงดังกล่าว ทำให้ตัวเรือมีการกระแทกกับคลื่นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเสียหายโดยตรงที่แผ่นกันคลื่น นอกจากนั้นยังส่งผลไปถึงโครงสร้างตัวเรือ และประตูกั้นน้ำบางตำแหน่ง ทำให้เกิดการผิดรูป หรือตัวล็อกประตูเกิดการคลายตัว สุดท้ายด้วยสภาพคลื่นลมที่รุนแรงยังทำให้น้ำชัดขึ้นมาทางหัวเรือ และเข้าในช่องทาง
ที่เกิดความเสียหายตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

3. เกิดความเสียหายในตำแหน่งที่ทำให้น้ำเข้าสู่ห้อง Gun bay ปืน 76/62 และห้องกระซับบเชือก ซึ่งเป็นห้องที่อยู่เหนือแนวน้ำ และเหนือจุด CG เป็นเหตุให้เรือสูญเสียความสามารถในการทรงตัว จนเรืออยู่ในสภาวะเอียงเกินกว่า 30 องศา

4. เมื่อเรืออยู่ในสภาวะเอียงเกินกว่า 30 องศา น้ำทะเลก็สามารถเข้าภายในตัวเรือได้ทางช่องทางระบายอากาศ และประตูผนึกน้ำที่เปิดออกจากการปะทะของคลื่น ในลักษณะ Progressive Flooding คือเข้าได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ถูกจำกัดการไหล ปริมาณน้ำส่วนใหญ่จะไหลเข้าไปอยู่ในห้องเครื่องจักรใหญ่ และภาคท้ายเป็นหลัก จนเรือสูญเสียกำลังลอย และจมลงในที่สุด

5. การที่เรือสูญเสียความสามารถในการทรงตัวตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. จนจมลงในเวลาประมาณ 24.00 น. รวมเวลาประมาณ 9 ชั่วโมง แสดงให้เห็นความสามารถในการผนึกน้ำของเรือทำได้ดีพอสมควร แต่ในกรณีที่น้ำเริ่มเข้าจากช่องทางบนดาดฟ้าเปิด การผนึกน้ำย่อมไม่สามารถกั้นน้ำเข้าได้ 100%

6. การป้องกันความเสียหายของเรือที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ ได้แก่

  • 6.1  การตรวจสอบสาเหตุที่น้ำเข้าเรือ ซึ่งไม่สามารถออกไปตรวจสอบภายนอกตัวเรือได้เนื่องจากคลื่นลมแรง ทำให้ไม่สามารถหยุด หรือลดปริมาณน้ำที่เข้าเรือได้
  •  6.2  การเกิดเหตุชำรุดของ เครื่องจักรใหญ่ เครื่องไฟฟ้า ระบบปรับพิตช์ใบจักร การเกิดไฟไหม้ ตลอดจนการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรตามที่ต่าง ๆ ทำให้กำลังพลแผนกช่างกล ซึ่งมีหน้าที่หลักในการป้องกันความเสียหาย มีภาระงานมากเกินกว่าที่จะสามารถปฏิบัติการป้องกันความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  •  6.3  การเกิดไฟฟ้าสัดวงจร และไฟดูดกำลังพล ทางเรือจึงต้องตัดกระแสไฟฟ้าบางส่วน
  • ทำให้เครื่องสูบน้ำที่ใช้ไฟฟ้าหลายพื้นที่ใช้งานไม่ได้ และความสามารถในการสูบน้ำออกจากเรือลดลง

ทัพเรือ เปิดสาเหตุ กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ทัพเรือ เปิดสาเหตุ กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ทัพเรือ เปิดสาเหตุ กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ

การอับปางไม่ได้เกิดจากความจงใจของ ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย และกำลังพลในเรือแต่เกิดจากสภาพอากาศมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทำให้เรือเกิดภาวะผิดปกติ และเกิดจากน้ำทะเลเข้ามาในตัวเรือจากรูทะลุเป็นเหตุที่ทำให้เรือเอียง และอับปาง

การตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยขาดความรอบคอบทำให้เกิดความเสียหายจึงเชื่อว่า การอับปางของเรือหลวงสุโขทัย มีส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในส่วนการใช้ดุลยพินิจโดยขาดความรอบคอบทำให้เกิดความเสียหายของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ทัพเรือภาคที่ 1 ดำเนินการดังนี้

         1. เสนอกองทัพเรือให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เต็มตามอำนาจ การลงทัณฑ์ของผู้บัญชาการทหารเรือ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ลงทัณฑ์ “กัก” เป็นเวลา 15 วัน

         2. ส่งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดฯ ดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนความผิดในทางอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอบางสะพาน ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

ผลการสอบของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสอบเอกสาร วัตถุ หรือสถานที่ โดยให้พิจารณาผู้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิด ซึ่งจงใจ
หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ไม่ปฏิบัติตามแบบแผนของทางราชการ จนเป็นเหตุให้ทางราชการ ได้รับความเสียหายสรุปได้ว่าสาเหตุการอับปางของ เรือหลวงสุโขทัยของทัพเรือภาคที่ ๑ ในประเด็นต่าง ๆ และจากข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการฯ ได้มีการสอบสวนพยานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอย่างละเอียด ทุกประเด็น รวมถึงการที่ผู้บังคับการเรือ และกำลังพลในเรือทุกนาย ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ตามขั้นตอนอย่างสุดความสามารถแล้ว

ความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด

  1. การอับปางของเรือหลวงสุโขทัย เกิดจากสภาวะคลื่นลมที่รุนแรงเป็นหลักมิได้เกิดจาก การจงใจของผู้บังคับการเรือและเจ้าหน้าที่
  2. ไม่เข้าเงื่อนไขที่ต้องรับผิดทางละเมิด ตาม ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยวิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดความเสียหายแก่เงินราชการหรือทรัพย์สินของทางราชการอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิด ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2542 (ขกล.42)
  3. ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมีความเห็นว่า ผู้บังคับการเรือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มิได้จงใจ ที่จะทำให้เรือหลวงสุโขทัยอับปางในครั้งนี้แต่อย่างใด จึงไม่เข้าเงื่อนไข ที่ต้องรับผิดทางละเมิด ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการปฏิบัติเมื่อเกิดความเสียหายแก่เงินราชการ หรือทรัพย์สินของทางราชการ อันเนื่องมาจากกการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย และเจ้าหน้าที่ทุกนาย จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แต่อย่างใด

ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ผู้บัญชาการทหารเรือกล่าวว่า 

"กองทัพเรือตระหนักถึงความสูญเสียของกำลังพล อันเป็นที่รักและเป็นกำลังหลักของครอบครัว จึงได้มอบเงินสวัสดิการและเงินช่วยเหลือต่างๆให้ได้ครบตามสิทธิสำหรับผู้สูญหาย  กองทัพเรือก็ไม่เคยละความพยายามที่จะค้นหาทั้งนี้มีกำลังพลที่สูญหาย 2 รายที่ต้องรอค่าสวัสดิการฌาปนกิจจนกว่าจะครบ 2 ปี กองทัพเรือก็ได้ดำเนินการ อนุมัติเงินให้ก่อนแล้ว   ร่วมกับการขอพระราชทานยศสูงขึ้น  การให้การบรรจุทดแทนญาติกำลังพลที่เสียชีวิตเพื่อเขารับราชการรวมถึงการเตรียมการบรรจุให้กับบุตร ธิดาในกรณีที่ยังไม่จบการศึกษาด้วย  รวมทั้งได้ให้การช่วยเหลือในการจัดกำลังพล  งบประมาณ  ในการปรับปรุงที่พักอาศัยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ซึ่งการช่วยเหลือต่างๆข้างต้นได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว  คงเหลือการซ่อมแซมบ้านอีก 2 หลังก็จะเสร็จสิ้น 

การแถลงผลที่ผ่านมา กองทัพเรือขอยืนยันว่าเราได้ดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความตรงไปตรงมา ข้อมูลที่นำมาชี้แจงในวันนี้ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ และไม่มีการดัดแปลงหรือปรับแก้แต่อย่างใด อุบัติเหตุในครั้งนี้นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือ  ในการนี้ผมจะได้ให้กรมจเรทหารเรือ นำข้อผิดพลาดในครั้งนี้ไปศึกษา และเสนอแนวทางปรับแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก  สุดท้ายนี้ ผมขอเรียนต่อกำลังพลที่รอดชีวิตและครอบครัวผู้เสียชีวิตและสูญหายว่า กองทัพเรือจะจดจำวีรกรรมของกำลังพลทั้ง 105 นายว่า ทุกท่านได้ทำหน้าที่ลูกประดู่อย่างเต็มขีดความสามารถแล้ว  และขอโทษอย่างสุดซึ้งที่เกิดการเสียชีวิตและสูญหายขึ้นและขอเรียนประชาชนทุกคนว่ากำลังพลทุกคนของกองทัพเรือจะชดเชยความเสียหายในครั้งนี้ด้วยการมุ่งมั่นทำงานเสียสละและอุทิศตนเพื่อทำหน้าที่ของกองทัพเรือต่อไป  เพียงเพื่อขอให้กองทัพเรือกลับมาเป็นกองทัพเรือที่ประชาชนชาวไทยเชื่อมั่น ศรัทธา และภาคภูมิใจตลอดไป"

ขณะที่ นาวาโท พิชิตชัย กล่าวว่า ในนามของผู้บังคับการเรือ ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้ที่สูญเสีย 

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือหลวงสุโขทัย ผมขอยืนยันว่าไม่มีผู้ใดตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ผมและกำลังพลทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างสุดความสามารถ เพื่อกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ตามขั้นตอน ในเหตุวิกฤตที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าที่จะควบคุมได้ ในสถานการณ์วิกฤตและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้น ในฐานะผู้บังคับการเรือจำเป็นต้องมีการตัดสินใจ ดังนั้นการนำเรือกลับสัตหีบจึงมาจากการใช้ดุลพินิจของผม จากการประเมินสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น เรือยังอยู่ในสภาวะปกติไม่เอียง สถานการณ์ในเรือสามารถควบคุมได้ จึงเชื่อว่าสามารถนำเรือกลับได้ แต่หลังจากที่ตัดสินใจนำเรือกลับ สภาพอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลันเลวร้ายกว่าเดิม การตัดสินใจของผมอาจเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่รอบคอบ ผมในฐานะผู้บังคับการเรือ ขอแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ ขอยอมรับโทษตามกองทัพเรือภาคที่ 1 และผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะเห็นควร อีกทั้งหลังจากเรื่องทุกอย่างเสร็จสิ้น ผมขอแสดงเจตจำนงค์ ลาออกจากกองทัพเรือที่เป็นถิ่นกำเนิดและบ้านเกิดการอบอุ่นของผม และเป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นการดำรงไว้ซึ่งเกียรติและตำแหน่งผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ที่ทหารเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดำรงมา"

นาวาโท พิชิตชัย ยังยืนยันว่า มีอิสระในการตัดสินใจในการเดินเรือ โดยดูจากสถานการณ์หน้างาน การหันหัวเรือกลับสัตหีบ ไม่ใช่การกดดันจากใครทั้งสิ้น เป็นการตัดสินใจของตนฃเพียงผู้เดียว พร้อมทั้งยืนยันว่าผลการสอบสวนทั้งหมดไม่ได้มีการปกปิด และไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง

จากนั้น ผบ.ทร. ได้กล่าวปิดท้ายการแถลงข่าว พร้อมทั้งชื่นชมอดีตผู้การเรือหลวงสุโขทัย ว่าเป็นลูกผู้ชาย ใครไม่เป็นทหารไม่รู้ เพราะตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร จนมาเป็นผู้การเรือ ต้องมีใจรัก ซึ่งการเป็นผู้การเรือเกรด A ของกองทัพเรือ เมื่อนำทัพทหารไปสูญเสีย ได้แสดงสปิริต ถ้าเขาไม่ลาออกก็ยังสามารถอยู่ได้ แต่ขอขอบคุณที่รักษากองทัพเรือไว้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัยอับปาง วันที่ 2 ปลดวัตถุอันตราย กู้ป้ายชื่อเรือ 

โผล่แล้ว! ป้าย "เรือหลวงสุโขทัย" ผบ.ทร.ชี้รอยปริหัวเรือสาเหตุอับปาง 

เปิดประวัติ ผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ เตรียมทหารรุ่นที่ 23-24 ผงาด!

 

related