ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยปม บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยแกนนำและ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เข้าชื่อร่วมกันยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของบิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี ตามมาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560
พลเอกประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่า 8 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติ
บทความที่น่าสนใจ
โกงอำนาจประชาชน ? สมาคมทนายความฯ เรียกร้องให้บิ๊กตู่ลาออก หลังเป็นนายกฯ 8 ปี
Soft Power สไตล์บิ๊กตู่ ผลงานการแต่งเพลง ตลอด 8 ปี ที่เป็นนายกฯ
รวมทั้งยังได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสองของรัฐธรรมนูญให้พลเอกประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เนื่องจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน หากให้ บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปทั้งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ย่อมส่งผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาคำสั่งและข้อสั่งการต่างๆ ที่สั่งการในนามของนายกรัฐมนตรี รวมถึงความชอบด้วยกฎหมายของการก่อนิติสัมพันธ์ต่างๆ ในนามของรัฐบาล และการลงนามในพันธกรณีระหว่างประเทศที่อาจจะมีขึ้น
1. การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
2. รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170วรรคสอง มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี โดยให้นับระยะเวลาต่อเนื่องและมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น
กรณีมีผู้กล่าวอ้างว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมีที่มาที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง 8 ปี ได้นั้นอาจเป็นการอ้างที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 158 วรรคสี่ มาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 264 อย่างชัดแจ้ง และขัดต่อเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายของการมีบทบัญญัติเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี
3. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณีมาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา
4. เจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ เป็นหลักการสากลที่ยอมรับกันทั่วโลก และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมหรือ Rule of Law ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “อำนาจทำให้คนทุจริต อำนาจเด็ดขาด ทำให้ทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” หรือ “Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely” ซึ่งหมายความว่า คนที่มีอำนาจเหนือคนอื่นมีแนวโน้มที่จะทุจริตหรือใช้อำนาจในทางที่มิชอบได้ง่าย
ดังนั้น ถ้าปล่อยให้มีคนที่มีอำนาจโดยเด็ดขาดเป็นระยะเวลายาวนานเกินไป ก็เท่ากับปล่อยให้ผู้ใช้อำนาจสามารถทุจริตโดยไม่มีข้อจำกัด ดังนั้นเจตนารมย์ของการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ปรากฏอย่างชัดเจนในบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยสรุปคือ “การกำหนดระยะเวลาแปดปี ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤตทางการเมืองได้”
5. การไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพลเอกประยุทธ์ ในการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้อ้างว่ามิใช่การเข้ารับตำแหน่งใหม่
6. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติลักษณะต้องห้ามไว้ชัดแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งประชาชนทุกภาคส่วนรับรู้กันทั่วไป จึงมีความจำเป็นต้องตีความและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วน และเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
7. จากข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ เริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันรวมกันแล้วเกิน 8 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามสำคัญที่รัฐธรรมนูญ
ส่วนข้ออ้างทำนองว่า ต้องไปเริ่มนับความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจากวันที่ 6 เมษายน 2560 แทน เพราะเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ หรือต้องไปเริ่มนับวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เนื่องจากเป็นวันที่พลเอกประยุทธ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ไม่เพียงจะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและไม่ต้องการเอื้อโอกาสให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปแล้ว ยังเป็นการตีความที่ขัดกับรัฐธรรมนูญและยังขัดแย้งกับบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยงศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 และยังเป็นการนับวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วน และย่อมส่งผลเสียต่อทั้งประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติและต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง รวมทั้งยังจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา : พรรคเพื่อไทย