svasdssvasds

โควิด-19 ระลอกหลังปีใหม่ อาการแบบไหนให้กักตัวที่บ้าน แบบไหนให้ส่งแอดมิท

โควิด-19 ระลอกหลังปีใหม่ อาการแบบไหนให้กักตัวที่บ้าน แบบไหนให้ส่งแอดมิท

พ้นช่วงวันหยุดปีใหม่มาหมาดๆ มีแนวโน้มสูงมากว่าโควิด-19 จะระบาดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย แต่การรับมือโควิดระลอกนี้ ภาคสาธารณสุขเห็นอะไร Omicron น่ากลัวมั้ย กลุ่มอาการของผู้ป่วยแบบใดที่ให้กักตัวที่บ้าน กักตัวในชุมชน หรือต้องส่งแอดมิท มาดูกัน

ต้องบอกก่อนเลย อย่ามองข้ามโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ว่าเป็นเชื้อที่มีฤทธิ์อ่อน ติดแล้วอาการไม่หนัก สร้างภูมิได้ เพราะในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ เริ่มมีเคสเสียชีวิตจาก Omicron แล้ว

อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 และการแพร่ระบาดของ Omicron ในไทย

ที่มา : Facebook live กระทรวงสาธารณสุข

สำหรับสถานการณ์โควิดวันนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวผ่านเพจเฟซบุ๊กในประเด็น อัปเดตสถานการณ์โรคโควิด-19 และสายพันธุ์โอมิครอน โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นประเด็นสำคัญมาบอก ดังนี้ 

  1. Omicron จะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมมากขึ้น ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต

  2. การติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ ยังเป็นสายพันธุ์ Delta ส่วนใหญ่ (70-80%) ดังนั้น ต้องระวังกลุ่ม 608 ให้มาก เพราะยังมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต

  3. การตรวจสายพันธุ์จะเริ่มใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ ไม่ตรวจทุกราย

  4. มีข้อมูลการศึกษาว่า ผู้ติดเชื้อบางส่วน ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron จะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ (Neutralization) เชื้อสายพันธุ์ Delta ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน

อาการแบบไหน รัฐให้แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)

เกณฑ์ในการพิจารณาผู้ป่วยโควิดในการ แยกกักตัวที่บ้าน (ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2564) มีดังนี้

  • เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ
  • มีสุขภาพแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษา และสามารถควบคุมได้ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • อายุน้อยกว่า 75 ปี

Home Isolation เป็นแนวทางหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 | ที่มา : covid19.dms.go.th

ในกรณีที่ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ ผู้ติดเชื้อทุกช่วงอายุสามารถ แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ได้ โดย

  • เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed case) ทั้งมีอาการและไม่แสดงอาการ
  • อาจมีโรคร่วมที่อยู่ในการดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์

อัปเดตรอบด้านเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย

การแยกกักตัวแบบ Home Isolation & Community Isolation ให้ดำเนินการตามนี้

  • ติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง หลังผู้ป่วยโทรแจ้ง 1330
  • เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และ Telemonitor
  • ดำเนินการตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโควิด-19 ที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาในโรงพยาบาล มีเกณฑ์ 5 ข้อ

1. เมื่อมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส

2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาที

3. Oxygen Saturation <94%

4. มีโรคประจำตัวซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

5. ตามดุลยพินิจของแพทย์

โควิด-19 ระลอกหลังปีใหม่ อาการแบบไหนให้กักตัวที่บ้าน แบบไหนให้ส่งแอดมิท

ความจริงวันนี้เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด

  • ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ทำกิจกรรมแบบไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะไปกินดื่มในผับบาร์หรือร้านอาหารกึ่งผับบาร์ จึงเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในหลายพื้นที่
  • ค่าเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
  • เชื้อเดลต้าและโอไมครอนยังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในหลายประเทศ
  • หากดูจากสถิติโลก มีประชากรที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเกือบ 300 ล้านคนแล้ว 
  • ภาพรวมของยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในแต่ละวัน ลดจำนวนลงเรื่อยๆ 

ที่มา : Facebook live กระทรวงสาธารณสุข

Source : Unsplash

"เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไวรัสแพร่ได้เร็ว อาการไม่รุนแรง เพราะฉะนั้น กระบวนการรับมือเรื่องนี้อาจแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย" นพ.ศุกภิจกล่าว

สรุปสถานการณ์โควิด-19 และข้อเสนอแนะ 

  • สถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อยืนยัน ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้เสียชีวิตลดลง และพบสัญญาณการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเสี่ยงที่โควิดจะแพร่ระบาดพร้อมกับการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เช่น ชลบุรี อุดรธานี อุบลราชธานี ภูเก็ต เชียงใหม่ และจังหวัดเมืองรอง
  • พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในร้านอาหารกึ่งผับ หลายแห่งรับลูกค้าจนแออัดและไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-Free Setting ขาดการควบคุมกำกับของเจ้าของร้าน จึงต้องเน้นให้ทางจังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
  • สื่อสารกับประชาชนที่กลับจากต่างจังหวัด ให้สังเกตอาการตัวเองอย่างน้อย 14 วัน และ WFH ในสัปดาห์แรก พร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนานกว่า 4 ชั่วโมง หรือไปในสถานที่มีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก
  • แจ้ง รพ.ศ/รพ.ท/รพช. และรพ.สต. ฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 608 ในคลินิกโรคเรื้อรัง, ANC รวมทั้งแจ้ง อสม.ให้ช่วยสื่อสารเรื่องการฉีดวัคซีน ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน และ Booster Dose รวมทั้งเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองบุคลากรในโรงพยาบาลร่วมด้วย โดยเน้นผู้ที่เดินทางไปต่างจังหวัด หรือร่วมกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก หรือไปร้านอาหารที่ดื่มสุราได้

ลองทบทวนดูว่า 2 ปีที่ผ่านมา คุณได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และวันนี้ จริงจังกับการป้องกันไม่ให้ตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนร่วมโลกติดโควิด-19 มากพอหรือยัง?

.......................

ที่มา

related