svasdssvasds

กรณีศึกษา 
3 ธุรกิจที่ปักธงสู่ ESG 
ในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า

กรณีศึกษา 
3 ธุรกิจที่ปักธงสู่ ESG 
ในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า

SDGs หรือ เป้าหมายด้านความยั่งยืนโลกที่ UN กำหนดขึ้นนั้น ให้ความสำคัญทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ทรัพยากร ฯลฯ แต่หากสโคปลงมาที่ "การดำเนินธุรกิจ" มีแนวคิด ESG คือ "การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน" ตามหลัก E/S/G เพื่อสภาพแวดล้อม สังคม และความโปร่งใส

มาที่คอนเทนต์ภาคต่อจากงาน "INNOVATION x SUSTAINABILITY นวัตกรรมนำธุรกิจยั่งยืน" Session 2 : เจาะลึกแนวคิดสู่การพิชิตความยั่งยืน กับธุรกิจพลังงาน การสื่อสาร และผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก 3 บริษัทที่ปักหมุดนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนตามแนวคิด ESG ซึ่งมาเผยแนวปฏิบัติเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้องค์กรที่สนใจ นำโดย

กรณีศึกษาจาก บริษัท นีโอ คลีนเอนเนอร์ยี่ จำกัด หรือ NEO

โดย อาทิตย์ เวชกิจ ประธานคณะกรรมการ บริษัท นีโอ คลีนเอนเนอร์ยี่ จำกัด และรองประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กรณีศึกษา 
3 ธุรกิจที่ปักธงสู่ ESG 
ในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า

ด้วยประสบการณ์ของ นีโอ คลีนเอนเนอร์ยี่ ผู้ให้บริการด้านโซลาร์ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มสำรวจ ออกแบบ ติดตั้ง จนครอบคลุมระยะเวลาคืนทุนของโครงการด้านพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน คุณอาทิตย์กล่าวถึงการยืนหยัดและความจำเป็นของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนว่า ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และดูแลบริษัทได้ตามหลัก ESG 

คุณอาทิตย์เล่าว่า นีโอ คลีนเอนเนอร์ยี่ ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนและใช้พลังงานสะอาดจากการเข้าร่วมโครงการ Solar Orchestra ในปี 2564 กับองค์กรชั้นนำ ได้แก่ EXIM Bank, GPSC, CHPP, NEO และ TGO 

ในฐานะตัวแทนโครงการ Solar Orchestra ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่แข็งแรง ไม่มั่นใจว่าลงทุนด้าน ESG แล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ โครงการนี้จะออกแบบโปรแกรมเพื่อลงทุนใน Solar Rooftop ให้คุ้มค่า คุ้มทุน แล้วให้ผู้ประกอบการเอกชนนำไปปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกัน

แต่การติดตั้งโซลาร์ต้องคิดและทำอย่างพอดี เพื่อให้สามารถผลิตไฟสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเหลือใช้ก็สามารถให้ภาครัฐนำไปใช้ต่อได้ แต่หากติดตั้งโซลาร์ขนาดใหญ่เกินไป ก็จะต้องทิ้งไฟสะอาด เพราะในขณะนี้ รัฐยังไม่รับไฟส่วนเกิน ดังนั้น โครงการ Solar Orchestra จึงอยู่ระหว่างหาจุดสมดุลที่เหมาะที่สุด (optimum)

........................................................................

บทความเกี่ยวกับ ESG ที่แนะนำให้อ่านต่อ

........................................................................

และเพื่อเก็บข้อมูลว่าลดคาร์บอนได้มากเพียงใด กระบวนการตรวจวัดและพิสูจน์ผลจึงต้องใช้อุปกรณ์และแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด ​เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการผลิตพลังงานสะอาด คำนวณกลับมาเป็นข้อมูลดิจิทัล เรียกว่า คาร์บอนเครดิต เพื่อยืนยันข้อมูลและรับรองว่า บริษัทลดคาร์บอนได้จริง 

แต่หากบริษัทช่วยสังคมลดการปล่อยคาร์บอนได้แล้ว กลับไม่บันทึกข้อมูลไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทำอะไร อย่างไร ลดคาร์บอนเท่าไร คู่ค้า นักธุรกิจ หรือนักลงทุนต่างชาติอาจไม่มาเที่ยวเมืองไทย ไม่ซื้อสินค้าของไทย เพราะเห็นว่าไม่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน

กรณีศึกษา 
3 ธุรกิจที่ปักธงสู่ ESG 
ในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า

คุณอาทิตย์ย้ำว่า ภายใน 2 ปีนี้ เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมาแน่นอน ซัพพลายเชนที่ทำธุรกิจร่วมกับ นีโอ คลีนเอนเนอร์ยี่ ก็ต้องร่วมลดการปล่อยคาร์บอนด้วย จึงจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวม

สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจว่า การลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้บริษัทตามหลัก ESG นั้นคุ้มค่าหรือไม่ คุณอาทิตย์อธิบายว่า สมมติให้บริษัทลงทุนด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์ได้ 1 เมกะวัตต์ ในอีก 25 ปีข้างหน้า จะลดต้นทุนให้บริษัทได้ 80 กว่าล้านบาท ซึ่ง EXIM Bank สนับสนุนการลงทุนโดยให้กู้สินเชื่อ 100% และทาง Solar Orchestra จะช่วยดูแลเรื่อง BOI กับคาร์บอนเครดิตให้ หรือแม้ค่าไฟจะขึ้นแบบขั้นบันได ก็คาดการณ์ได้ว่าบริษัทที่ใช้ Solar Rooftop จะได้ประโยชน์มากกว่า 120 ล้านบาท

ดังนั้น การปฏิบัติตามแนวคิด ESG นอกจากจะลดคาร์บอนและช่วยสังคมแล้ว บริษัทก็จะแข็งแรงไปด้วย

กรณีศึกษาจาก บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF

โดย แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)​​​​

กรณีศึกษา 
3 ธุรกิจที่ปักธงสู่ ESG 
ในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า

เนื่องจาก NRF ติดอันดับหุ้นยั่งยืนกลุ่ม ESG Emerging ปี 2564 เป็นปีแรก SPRiNG จึงเชิญคุณแดนมาร่วมบอกเล่าแผนงานที่ทำอยู่เพื่อพาบริษัทไปสู่ธุรกิจที่ดำเนินการอย่างยั่งยืน

คุณแดนกล่าวถึงข้อดีของ ESG ว่า ให้กรอบในการคิดและกรอบการวางนโยบาย ในฐานะบริษัท สิ่งแรกที่ได้จาก ESG คือ ได้เข้าสู่ดัชนีความยั่งยืน THSI เร็วกว่าปกติ และทำให้นักลงทุนสถาบันสนใจบริษัทมากขึ้น

แต่การดำเนินการตามแนวทาง ESG ก็ไม่ง่ายนักเพราะต้องเปลี่ยนนโยบาย, KPI, ปรับทิศทางและวัฒนธรรมองค์กรร่วมด้วย การบริหารทีมงานจึงเป็นจุดพีค เนื่องจากพนักงานไม่ค่อยอิน ไม่เข้าใจความสำคัญของ ESG ในช่วงแรก แต่ทางบริษัทก็ย้ำให้ทุกภาคส่วนต้องตระหนักในเรื่องการให้ความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจให้ทีมอย่างต่อเนื่อง

หากพิจารณาว่า อุตสาหกรรมใดปล่อยคาร์บอนมาก คุณแดนเผยว่า ระบบการผลิตอาหาร เช่น การปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นพื้นฐานอุตสาหกรรมการเกษตรของบ้านเรา สามารถสร้างคาร์บอนให้โลกถึง 30% อุตสาหกรรมอาหารจึงต้องปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว โดยเลือกทำธุรกิจอาหารประเภทโปรตีนทางเลือก เป็น Core Business

หากต้องการร่วม ลดคาร์บอน UN เผยว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนทำได้คือ  บริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และหากเทียบโปรตีนทางเลือกกับเนื้อสัตว์ (สัตว์ใหญ่) การปล่อยคาร์บอนจากอุตสาหกรรมอาหารสองกลุ่มนี้ห่างกันแทบจะ 1 ต่อ 10 เท่า

กรณีศึกษา 
3 ธุรกิจที่ปักธงสู่ ESG 
ในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า

นอกจากผลิตอาหารประเภทโปรตีนทางเลือก NRF ยังติดตั้งโซลาร์เพื่อผลิตไฟสะอาด และลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต แต่อย่างไรก็ตาม หากดูการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริษัทก็ยังปล่อยคาร์บอนออกมาอยู่ดี

ในอุตสาหกรรมอาหาร ของเสียจากภาคการเกษตรมีมากถึง 4-5 พันล้านตัน แนวทางกำจัดขยะที่เอกชนส่วนใหญ่ดำเนินการยังเป็นการเผา แต่ NRF จะลดการเผาลงเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

คุณแดนเล่าต่อว่า NRF จึงไม่ต้องการเป็นแค่หนึ่งในบริษัท ESG แต่ต้องการเป็นผู้นำในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยปักหมุดที่จะเป็นหนึ่งในเดอะเฟิร์สของโลกที่ช่วยกำจัดคาร์บอน ด้วยการตั้งเป้าสร้างโรงงานในไทยและในอเมริกา ภายใต้โครงการที่เรียกว่า Decarbon และมุ่งทำให้บริษัทปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) คือ การดูดคาร์บอนและฝังลงไปในดิน เช่น ซังข้าวโพดที่เกษตรกรเผา ทาง NRF นำไปฝัง เพราะศึกษามาแล้วว่า Life Cycle นี้ถือเป็นคาร์บอนที่ฝังได้เกิน 100 ปี 

ต่อไปอุตสาหกรรมที่ลดคาร์บอนจะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอน เช่น ธุรกิจ EV และจากการไปร่วมประชุมกับ WEF คำแนะนำคือ ให้ปลูกต้นไม้ปีละล้านล้านต้น เพราะในแต่ละปีต้นไม้จะช่วยเก็บคาร์บอนได้ 1 ตัน ซึ่งสามารถคำนวณได้เลยว่า ช่วยเก็บคาร์บอนได้เท่าไหร่ สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัททำมาตลอด คือมี Metric วัดการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ลงทุนเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งมุ่งเป็นกิจการที่ลดคาร์บอนแล้วสามารถเทิร์นกลับมาเป็นรายได้เข้าบริษัทในท้ายที่สุด

คำว่า ความยั่งยืน (SDGs) มีผลต่อยอดขายและความอยู่รอดทางธุรกิจ และถ้าอยู่ในอุตสาหกรรม B2B ด้วยแล้ว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยิ่งต้องสอดคล้องกับความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยลดต้นทุน หรือถ้าต้องการระดมทุน การลงทุนด้าน ESG ในวันนี้ถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต

กรณีศึกษาจาก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

โดย อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

กรณีศึกษา 
3 ธุรกิจที่ปักธงสู่ ESG 
ในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า

คุณอรอุมากล่าวถึงประเด็นที่สอดคล้องกับการก้าวสู่วิถี ESG ว่าบริษัทแม่ของดีแทคอยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งใส่ใจเรื่อง ESG เป็นทุนเดิม แนวคิดเรื่อง ESG จึงได้รับการถ่ายทอดมายังบริษัทในประเทศไทย และการที่ดีแทคต้องพึ่งพานักลงทุน จึงต้องจริงจังกับการทำธุรกิจโดยใส่ใจทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม ร่วมกับการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสนองตอบความคาดหวังของลูกค้า ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนในปัจจุบันที่ไปไกลกว่าเรื่องเครือข่ายและการบริการที่ดี (Beyond Connectivity) 

ESG คือการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ต่างก็พิจารณาผลกระทบเชิงบวกจากหลากหลายสิ่งที่ดีแทคทำ ทุกวันนี้ดีแทคจึงต้องเตรียมข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ตอบคำถามนักลงทุนเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อชี้แจงให้ทั้งนักลงทุนและลูกค้าเห็นถึงความโปร่งใสได้ตลอด

คุณอรอุมากล่าวถึง Digital Inclusion ในช่วงโควิด เช่น การที่รัฐบาลสนับสนุนสิ่งต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน แต่กลุ่มผู้เปราะบางเข้าไม่ถึงเครื่องมือดิจิทัล หรือไม่สามารถใช้งานได้ กับอีกปัญหาคือ การจัดการด้านสภาวะอากาศ ปัญหาฝุ่นควัน ดีแทคจึงวางแผนและร่วมจัดการประเด็นเหล่านี้ตามหลัก ESG ด้วยความตระหนักว่า ESG ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็น "ทางรอด" และใครมูฟมาทำตามแนวคิดนี้เร็วก็จะยิ่งได้เปรียบและจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน 

สำหรับการนำแผนธุรกิจเข้ามาใส่ใน ESG ดีแทคกำหนดโครงสร้างทางธุรกิจโดยคำนึงถึงการจัดการผลกระทบ ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล โดยต้องบริหารความเสี่ยงและสร้างโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน ดีแทคจึงศึกษาและพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก จากนั้นแยกภารกิจภายใต้โจทย์ ESG ทีละส่วน ดังนี้ 

E (Environmental) ถ้าศึกษาการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมทั่วโลก คุณอรอุมากล่าวว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมปล่อยคาร์บอน 4% แม้จะน้อยกว่าหลายอุตสาหกรรมแต่ก็ถือว่าเป็นการปล่อยคาร์บอนที่เข้มข้น ดังนั้น บริษัทจึง 1) มุ่งลดการปล่อยคาร์บอน 50% ภายในปี 2573 2) วางแผนบริหารจัดการขยะทุกชนิด (Zero Landfill) โดยการฝังกลบเป็นศูนย์ภายในปี 2565 และ 3) ตั้งเป้าให้ 68% ของคู่ค้ามีแผนงานลดปล่อยคาร์บอนภายในปี 2567

กรณีศึกษา 
3 ธุรกิจที่ปักธงสู่ ESG 
ในวันนี้ เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้า

S (Social) ผู้จดทะเบียนในไทยที่เป็นผู้พิการมีมากกว่า 2 ล้านคน ดีแทคจึงทำ Business Canvas เพื่อผู้พิการทั้งด้านการมองเห็น การได้ยิน เช่น คนหูหนวกที่ต้องพึ่งพาโทรศัพท์มือถือ ต้องสื่อสารผ่านวิดีโอคอลล์ ดีแทคจึงออกแพ็กเกจที่เชื่อว่าถูกที่สุดในตลาดเพื่อลดภาระค่าครองชีพและให้บริการอย่างเท่าเทียมแก่ผู้พิการ ทั้งยังสร้างอาชีพโดยจ้างงานผู้พิการ และปัจจุบันกำลังเซ็ตอัป Call Center ภาษามือเพื่อช่วยเรื่องการสื่อสารทุกรูปแบบเป็นแห่งแรกในไทย

คุณอรอุมาบอกว่า ด้วยจำนวนซิมที่มีการใช้งานมากกว่าจำนวนประชากร แสดงให้เห็นว่าตลาดมีความอิ่มตัว อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอาจมองดีแทคเป็นซิมที่สองได้ ถามว่าทำไมต้องเลือกใช้ดีแทค เพราะตระหนักถึงสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียม จึงทำโครงการ ดีแทค เน็ตทำกิน สอนการใช้อินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศร่วมกับการเสริมศักยภาพให้แก่ผู้พิการ เพื่อสร้างรายได้

งานด้านความยั่งยืนทำให้ดีแทคสามารถยึดโยงกับตลาดที่เปลี่ยนไป โดยไม่ต้องรอเพื่อนในอุตสาหกรรมทำแล้วจึงทำตาม มันจึงช่วยลดความเสี่ยงจากสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย 

ดีแทคใช้วิธีเพิ่มคุณค่าและแก้ปัญหาด้านช่องว่างทางดิจิทัลด้วยทักษะและความเก่งของทีมงาน ด้วยโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า ดีทั่ว ดีถึง ดีไปด้วยกัน โดยมีทีมเน็ตทำกินออกไปสอนทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้กระทำความผิด เพื่อให้กลุ่มผู้เปราะบางสามารถใช้ทักษะดิจิทัลเพิ่มคุณค่าให้เงิน 1 บาท เป็น 100 บาทได้ และผู้กระทำความผิดไม่ต้องกลับไปติดคุกอีก 

G (Governance) ในด้านธรรมาภิบาล จากการศึกษา "ความคาดหวัง" จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของดีแทค ทั้งจากลูกค้าที่เคยใช้บริการและที่ไม่เคยใช้, คอมมูนิตี้, Regulator, NGO ฯลฯ พบว่าสิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังจากบริษัทในฐานะ Telco (ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม) มากที่สุด คือ ดีแทคจะต้องให้ความสำคัญเรื่อง Privacy โดยเฉพาะการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า (Personal Data Privacy) ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบอกว่า สำคัญมาก กอปรกับที่ประเทศไทยจะเริ่มใช้ PDPA หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลบุคคลในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ทำให้คนไทยก็ตื่นตัวกันมาก 

คุณอรอุมายกตัวอย่างการดำเนินงานปิดท้ายเกี่ยวกับ ESG ในด้านการหาแนวทางทำธุรกิจใหม่อย่างยั่งยืนว่า "ดีแทคมองหาปัญหา แล้วนำความเก่งของคนในบริษัทเข้าไปแก้" เช่น การพัฒนา dtac App ที่รองรับการใช้งาน 4 ภาษา ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ หรือการออกแอปพลิเคชันเพื่อซัพพอร์ตผู้ใช้อุปกรณ์ที่มีเมมโมรี่น้อยและไม่สามารถเพิ่มเมมโมรี่ได้ สามารถใช้งานเครือข่ายและอุปกรณ์ได้ต่อไป 

รับชมงานสัมมนาย้อนหลัง SPRiNG News Special Forum : INNOVATION x SUSTAINABILITY นวัตกรรมนำธุรกิจยั่งยืน ที่ลิงก์ www.youtube.com/watch?v=XDt8acW817E&t=1s

——————————————————————————
ติดตามข่าว ไอที เทคโนโลยี นวัตกรรม ธุรกิจดิจิทัล สำหรับไลฟ์สไตล์ในโลกยุคใหม่ได้ที่สปริงนิวส์ www.springnews.co.th

related