svasdssvasds

ดีแทค เปิด 3 โครงการ ต่อยอดศักยภาพผู้พิการ ให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน

ดีแทค เปิด 3 โครงการ ต่อยอดศักยภาพผู้พิการ ให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน

ดีแทคร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เปิด 3 โครงการ ต่อยอดศักยภาพผู้พิการ ให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน

ดีแทคเปิดแผนธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Go Beyond (Dis) abilities into possibilities together ต่อยอดศักยภาพผู้พิการ พลิกการขาดหาย ให้กลายเป็นพลังใหม่ พร้อมพาทุกชีวิต "ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกัน ทุกคน" ประกาศความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

ขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการผ่าน 3 โครงการหลัก คือ 1.ลดภาระค่าครองชีพด้วยการทำแพ็กเกจค่าโทรค่าอินเทอร์เน็ตที่รองรับกับการใช้ชีวิตของคนพิการและผู้ดูแล  2.โครงการเน็ตทำกินติดอาวุธดิจิทัลเพื่อกลุ่มอาชีพคนพิการ 3.เปิดดีแทค คอลเซ็นเตอร์ภาษามือ เพื่อบริการคนพิการทางการได้ยินและการพูด

รวมทั้งจัดทำสื่อวิดีโอออนไลน์ นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มผู้พิการที่มีศักยภาพในการใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้เป็นอย่างดี เพื่อสร้างมุมมองการรับรู้ต่อผู้พิการในแบบที่สังคมอาจไม่เคยนึกถึง สามารถรับชมหนังโฆษณาเรื่อง "ผู้พลิกการขาดหาย ให้เป็นพลังใหม่!"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า "ปัจจุบัน มีคนพิการในประเทศไทยที่ออกบัตรประจำตัวคนพิการ กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อยู่จำนวน 2,107,005 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2565) คิดเป็น 3.18% ของประชากรทั่วประเทศ

ซึ่งในจำนวนนี้ แบ่งประเภทความพิการจะเห็นว่า ประเภทความพิการที่มากที่สุด คือ ทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 1,054,786 คน คิดเป็น 50.17% ลำดับรองลงมาคือ ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 393,027 คน หรือ 18.69% และทางการเห็น จำนวน 187,546 คน คิดเป็น 8.92% ตามลำดับ

ดีแทค เปิด 3 โครงการ ต่อยอดศักยภาพผู้พิการ ให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน

นอกจากนี้ เมื่อมาดูตามช่วงอายุ จะพบว่า มีคนพิการที่อยู่ในช่วงวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) จำนวน 855,816 คน และเป็นคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุ อีกจำนวนกว่า 1,168,165 คน อีกด้วย

ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลคนพิการทั่วประเทศ มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของคนพิการ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคแก่คนพิการ ซึ่งคนพิการถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับโอกาส สร้างเครื่องมือ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการทุกประเภทความพิการ

ดีแทค เปิด 3 โครงการ ต่อยอดศักยภาพผู้พิการ ให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน

ในปัจจุบันที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล อินเทอร์เน็ตถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสการเข้าถึงข้อมูล การติดต่อสื่อสาร และเพิ่มช่องทางการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ให้เข้าถึงลูกค้าและตลาดโดยตรงได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนอย่างคนปกติ รวมทั้งจะส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อย่างยั่งยืนและเป็นปกติสุข

ความร่วมมือระหว่าง กระทรวง พม. โดย พก. และ ดีแทค นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการมีงานทำอย่างยั่งยืนของคนพิการ ด้านการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลที่คนพิการจะได้รับประโยชน์ในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในยุคดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ พก. และพร้อมยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จ และประโยชน์ตกถึงมือของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ เพื่อให้คนพิการดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าต่อไป

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า "ดีแทคตระหนักในภารกิจที่ต้องส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงโอกาสผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่อ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่ยึดถือว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกและการใช้ประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ และเป็นการส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ดีแทคเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เราสามารถสร้างธุรกิจที่เติบโต ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนได้ผ่านความถนัดของเรา นั่นคือ การเชื่อมต่อ บริการดิจิทัลที่เป็นมิตรและเป็นธรรม และการติดอาวุธทักษะดิจิทัลที่ใช้ในการดำรงชีวิตและเพื่อปากท้อง"

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา ดีแทคทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อระบุประเด็นความท้าทายในการสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน จากรายงานของสหประชาชาติ เรื่อง Leveraging Digital Technologies for Social Inclusion 2021 ระบุว่า คนพิการเป็น 1 ใน 5 กลุ่มคนที่มีจำนวนมากของโลก และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัล

ประกอบกับข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่า ในจำนวนคนพิการที่ขึ้นทะเบียนทางราชการไว้รวมทั้งสิ้น 2,107,005 คนนั้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 3.18% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ ประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นคนในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป และจำนวนมากถึง 81.45% ที่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกลุ่มคนพิการอีกด้วย

Go Beyond (Dis) Abilities into Possibilities Together ต่อยอดศักยภาพผู้พิการ ให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน ส่งเสริมศักยภาพคนพิการและผู้ดูแลผ่าน 3 โครงการ คือ

1.จัดทำแพ็กเกจดีทั่ว ดีถึง เพื่อผู้พิการและผู้ดูแล
เพื่อช่วยให้ผู้พิการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างต่อเนื่อง เพราะคนพิการทางการได้ยินต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่เร็วและเสถียรในการใช้พูดคุยผ่านวิดีโอคอล แชทผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ซึ่งแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตนี้จะตอบสนองความต้องการและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก เช่น แพ็กเน็ต 4GB เต็มสปีด หลังจากนั้นสามารถใช้เน็ตได้ต่อเนื่องที่ความเร็ว 1 Mbps ในราคาเริ่มต้นเพียงเดือนละ 99 บาท หรือใช้เน็ตไม่อั้นความเร็ว 4 Mbps ในราคาเพียง 249 บาท และอีกหลายแพ็กเกจให้เลือกใช้เน็ตในราคาที่คุ้มค่า พร้อมกันนี้ยังมอบข้อเสนอความคุ้มครองจากประกันภัยทุกประเภทจาก ดีแทค ดีชัวรันส์  ด้วยส่วนลดถึง 15%

2.โครงการเน็ตทำกิน เพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัลให้ผู้พิการ
ดีแทคเล็งเห็นว่า ยังมีช่องว่างของผู้พิการที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลและยังขาดทักษะในการนำดิจิทัลมาช่วยประกอบอาชีพ ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ให้เข้าถึงลูกค้าโดยตรง ดังนั้นดีแทคจึงร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการเรียนการสอน เน็ตทำกิน ในลักษณะการอบรมเฉพาะกลุ่ม ในรูปแบบของการลงพื้นที่ในชุมชนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนพิการ ตั้งแต่ กลุ่มผู้พิการทางสายตา กลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการด้านร่างกายอื่น ๆ

โดยจะเริ่มอบรม 21 กลุ่มอาชีพในศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ที่ทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการดูแล เช่น กลุ่มอาชีพสมาคมคนพิการ จังหวัดสมุทรสาคร หัตถกรรมหัวโขนบ้านลัมโภทรกลุ่มเบญจรงค์ สมาคมสตรีพิการพระนครศรีอยุธยาทำไข่เข็มใบเตย ชมรมอุตรดิตถ์จิตแจ่มใส ทำผ้าไหม ผ้าทอผ้าซิ่น ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน ทำกระเป๋าสาน ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดพัทลุง ทำข้าวซ้อมมือสังข์หยดพัทลุง สมาคมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไทย ทำจักรสาน เป็นต้น

นอกจากกลุ่มอาชีพดังกล่าว ดีแทคเน็ตทำกินจะจัดอบรมเพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ดีแทคคาดหวังว่า ผู้รับการฝึกทักษะดิจิทัลจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 15%  และมีคุณภาพชีวิตและความสามารถในการเข้าถึงโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น

3.เปิดดีแทค คอลเซ็นเตอร์ภาษามือ เพื่อคนพิการทางการได้ยิน
วันนี้ ดีแทคเปิดคอลล์เซ็นเตอร์ที่ให้บริการโดยคนพิการทางการได้ยิน เพื่อคนพิการทางการได้ยิน ผ่านการใช้ภาษามือ โดยบริการดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำการใช้งานบริการของดีแทคเอง รวมไปถึง การเปิดรับลูกค้าคนพิการทางการได้ยินจากทุกเครือข่าย ที่ต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือในการใช้งานแอปพลิเคชั่นและฟังก์ชั่นการใช้งานมือถือ

คอลเซ็นเตอร์เพื่อคนพิการทางการได้ยินนี้เป็นความร่วมมือระหว่างดีแทคและสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ที่จะฝึกอบรบคนพิการทางการได้ยินให้มีความพร้อมทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ของดีแทค และมีการติดตั้งระบบการจัดการคอลเซ็นเตอร์เต็มรูปแบบ โดยผู้ต้องการใช้บริการสามารถเพิ่มเพื่อนทางไลน์ดีแทค คอลเซ็นเตอร์ ด้วยฟังก์ชั่นวิดีโอ คอลล์ เพิ่มเป็นเพื่อนพนักงานคอลเซ็นเตอร์ โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2565 ให้บริการในวันจันทร์-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00 - 17.00 น.

คอลเซ็นเตอร์นี้ยังให้บริการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้พิการที่ใช้มือถือกับทุกโอเปอเรเตอร์ เช่น เบอร์โทรฉุกเฉิน ข้อมูลสายด่วนบริการต่าง ๆ ในอนาคตดีแทคจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุม เพื่อช่วยเติมเต็ม ให้ผู้พิการได้ใช้ดิจิทัลมาช่วยให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายได้มากยิ่งขึ้น

วิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มีความยินดี ที่ดีแทคให้ความสำคัญกับนโยบายในการส่งเสริมศักยภาพคนพิการทางการได้ยิน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล ในการค้าขายออนไลน์ รวมถึงการจัดตั้งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ได้ให้ความร่วมมือในการประกาศรับสมัคร คัดเลือกพนักงานคนพิการทางการได้ยินซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ดีแทคกำหนด อำนวยความสะดวกสถานที่ของสมาคมฯ ล่ามภาษามือสำหรับการอบรมพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ทำให้คนพิการทางการได้ยินได้ทำงานที่มีคุณค่า เปิดโอกาสและสนับสนุนคนพิการทางการได้ยิน ให้เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจในความสามารถของตนเองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือองค์กร และ สังคม โดยคอลเซ็นเตอร์แห่งนี้ได้จัดตั้งสำนักงานอยู่ที่สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศ ที่พร้อมเปิดให้บริการกับลูกค้าดีแทคได้แล้ว"

related