svasdssvasds

5 เครื่องดื่มที่คนเป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง

5 เครื่องดื่มที่คนเป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง

สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ(International Diabetes Federation : IDF) กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก โดยปีนี้รณรงค์เรื่อง “Diabetes : Protect Your Family คุณป้องกันครอบครัวจากโรคเบาหวานได้” เป็นการเน้นให้สมาชิกในครอบครัวช่วยกันควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยสำคัญในการลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันการป่วยด้วยโรคเบาหวานแก่สมาชิกคนอื่นในครอบครัวอีกด้วย

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังในเรื่องอาหารและเครื่องดื่มทุกอย่างก่อนที่จะบริโภค ต้องควบคุมถึงขั้นคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ต้องทานเข้าไปเพราะมันจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา(American Diabetes Association : ADA) ได้ระบุชนิดเครื่องดื่มที่ควรเลี่ยง รวมถึงแนะนำเครื่องดื่มเพื่อคงระดับน้ำตาลในเลือด

เครื่องดื่มที่คนเป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง

1. น้ำอัดลมปกติ

น้ำอัดลมปกติขึ้นแท่นอันดับหนึ่งเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง ไม่นับน้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล โดยเฉลี่ยแล้ว 1 กระป๋อง 325 มิลลิลิตร ให้น้ำตาล 31 กรัม ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี่ นอกจากจะหวานแล้วยังส่งผลต่อการเพิ่มของน้ำหนัก และส่งผลต่อฟันทำให้ฟันผุอีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรบริโภค

2. เครื่องดื่มชูกำลัง

เครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลายมีส่วนผสมของคาเฟอีน และยังให้น้ำตาลสูง โดยทั่วไปแล้ว 1 ขวด 150 มิลลิลิตร ให้น้ำตาลซูโครส 26.5 กรัม การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มชูกำลังไม่เพียงส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยังส่งผลให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินอีกด้วย เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

เบาหวานชนิดที่ 2 นี้เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ หรือไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งน้ำตาลกลูโคสเป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์ที่ได้จากการรับประทานอาหาร และถูกนำเข้ามาโดยฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างจากตับอ่อน ส่วนคาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลังนั้นหากมากเกินไปอาจส่งผลให้เพิ่มความดันโลหิตและนำไปสู่การนอนไม่หลับได้

3. น้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาล

น้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาลแต่ใส่สารให้ความหวานเทียม ส่งผลเสียต่อแบคทีเรียในลำไส้ และอาจส่งผลให้มีภาวะดื้อต่ออินซูลินทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานแย่ลง นอกจากนี้ในปี 2009 ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคทางเมตาบอลิซึม เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง เพิ่มน้ำหนัก ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

4. น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล

น้ำผลไม้ทั่วไปตามท้องตลาดส่วนใหญ่มักผสมน้ำตาล ซึ่งสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเพิ่มน้ำหนัก โดยทั่วไปแล้ว 1 กล่อง 200 มิลลิลิตรให้น้ำตาลประมาณ 22 กรัม หากอยากดื่มน้ำผลไม้ ควรดื่มเป็นน้ำผลไม้คั้นสด 100 เปอร์เซ็นต์ หรือหากอยากผสมกับโซดา ก็สามารถลองปรับสูตรเพิ่มเติมได้ แต่ต้องไม่ผสมน้ำตาลเพิ่มจึงจะดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน

5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หากคุณมีความดันโลหิตสูงหรือเป็นโรคแทรกซ้อนทางเส้นประสาทของผู้ป่วยโรคเบาหวาน การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปอาจทำให้อาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวว่าสามารถดื่มได้หรือไม่

ผลการศึกษาปี 2012 พบว่า ผู้ชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเบียร์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 เพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้หญิงนั้นแยกย่อยไปอีกคือ หากบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงจะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 เพิ่มขึ้น ในขณะที่หากทานเป็นไวน์หรือเบียร์กลับมีความเสี่ยงน้อยกว่า จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของไวน์แดงต่อโรคเบาหวาน แม้ว่าหลักฐานยังไม่แน่นอน แต่ไวน์แดงก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากช่วยต้านอนุมูลอิสระและมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ การบริโภคไวน์แดงในระดับปานกลางไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มอันตรายต่อโรคทางเมตาบอลิซึมในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ยังคงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงโรคเบาหวานและการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อไป

เครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน

1. น้ำเปล่า

แน่นอนว่าน้ำเปล่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากแก้กระหายได้ดีแล้วยังไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ การดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายกำจัดน้ำตาลส่วนเกินออกมาจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ ในทางการแพทย์จึงแนะนำให้คนอายุ 19 ปีขึ้นไป ผู้ชายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณ 13 แก้วต่อวัน ในขณะที่ผู้หญิงควรดื่มประมาณ 9 แก้วต่อวัน สำหรับเด็กอายุ 4-8 ปี ควรดื่มน้ำ 5 แก้วต่อวัน เด็กอายุ 9-13 ปี ควรดื่มน้ำ 7-8 แก้วต่อวัน และผู้ที่อายุ 14-18 ปี ควรให้ดื่มน้ำ 8-11 แก้วต่อวัน

แต่หากน้ำเปล่ามันอาจธรรมดาไปอยากเพิ่มรสชาติก็สามารถทำได้โดยลองเพิ่มชิ้นมะนาวหรือส้มเข้าไป หรือลองเพิ่มก้านของสมุนไพร เช่น สะระแหน่(Lemon Balm) มิ้นต์(Mint) ใบโหระพา(Basil) หรืออาจนำผลราสเบอร์รี่สดหรือแช่แข็งสองสามชิ้นมาปั่นดื่มก็ได้

2. ชา

การวิจัยพบว่าชาเขียวมีผลดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความดันโลหิตและลดระดับคอเลสเตอรอล งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าการดื่มชา 6 แก้วต่อวัน อาจช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

สามารถเลือกเป็นชาเขียว ชาดำ หรือชาสมุนไพรก็ได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการใส่สารที่ให้ความหวานต่างๆ หากอยากสดชื่นก็ทำเป็นชาแบบเย็นโดยอาจเลือกเป็นพวกชาหอมหรือพวกชาดอกไม้ได้เช่นกัน แล้วอาจบีบมะนาวเพิ่มสักหน่อยเพิ่มความสดชื่นเมื่อได้ลิ้มลอง ส่วนชาเอิร์ลเกรย์และชามะลิก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกันหากไม่ใส่ใจว่าชาประเภทนี้มีคาเฟอีนอยู่เล็กน้อย

3. กาแฟ

การศึกษาในปี 2012 นักวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟสองถึงสามแก้วต่อวันช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ แต่ควรพิจารณาร่วมกับผลกระทบด้านสุขภาพอื่นๆ ด้วย ให้ผลเหมือนกันทั้งแบบกาแฟที่มีคาเฟอีนและไม่มีคาเฟอีน สิ่งสำคัญคือ กาแฟจะต้องไม่เติมสารให้ความหวาน ส่วนการเพิ่มนมครีมหรือน้ำตาลลงไปในกาแฟจะเป็นการเพิ่มจำนวนแคลอรี่และอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน

4. น้ำผัก

หากน้ำผลไม้ที่นำมาคั้นเองหรือปั่นมีน้ำตาลเยอะเกินไป ลองเปลี่ยนเป็นน้ำมะเขือเทศหรือน้ำผักแทน โดยนำมาผสมแล้วคั้นเป็นน้ำ อย่างผักใบเขียว พวก ขึ้นฉ่าย แตงกวา หรือ ผลเบอร์รี่จำนวนหนึ่ง เพื่อรับวิตามินและแร่ธาตุเพิ่มขึ้น และให้รสชาติที่ดีขึ้นด้วย

5. นมไขมันต่ำ

ผลิตภัณฑ์จำพวกนมนั้นมีประโยชน์ แต่ควรเลือกนมที่ไขมันต่ำ และจำกัดวันละหนึ่งหรือสองแก้วก็เพียงพอแล้ว หรือลองตัวเลือกที่ปราศจากน้ำตาลและควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว ถั่วเหลืองและน้ำนมข้าวด้วย

related