svasdssvasds

นวัตกรรม AI ของไทย เพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน

นวัตกรรม AI ของไทย เพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน

Response time ทางการแพทย์ฉุกเฉินเป็นช่วงวินาทีชีวิต เวลาที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ ตั้งแต่คอลเซ็นเตอร์รับสาย เวลาจะเริ่มวิ่งเป็นวินาทีนับจนกระทั่งไปถึงตัวผู้ป่วย เป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการช่วยชีวิต ฉะนั้นนวัตกรรม AI จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ถึงตัวผู้ป่วยในเวลาอันรวดเร็วทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ทันท่วงทียิ่งขึ้น

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะแพทยศาสตร์ ได้เปิดตัว “นวัตกรรมระบบ AI สำหรับการคัดกรองโรคและการประยุกต์ใช้สำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน” (AI Assistive Platform for Emergency Medical Services) หรือ AIEMS เป็นระบบประมวลอาการและคัดกรองผู้ป่วยจากสัญญาณเสียงพูดแปลงเป็นตัวอักษร เพียง 1-3 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นระบบ AIEMS จะนำส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉิน เพื่อจัดเตรียมรถฉุกเฉินที่อยู่ใกล้และเลือกรถฉุกเฉินที่เหมาะกับอาการของผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น 3 ระดับสี ได้แก่ สีแดงผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สีเหลืองผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน และสีเขียวผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง ปัจจุบันระบบ AIEMS สามารถคัดกรองและประมวลผล 25 กลุ่มอาการโรคฉุกเฉิน อาทิ หายใจลำบาก หายใจติดขัด หัวใจหยุดเต้น เจ็บแน่นทรวงอก ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม ปวดศีรษะ พิษ รับยาเกินขนาด มีครรภ์ คลอด ไม่รู้สติ ถูกทำร้าย ฯลฯ AI ประเมินต้องได้รับการกดยืนยันการประเมินจากแพทย์ที่ประจำศูนย์อีกครั้งด้วย ซึ่งตรงนี้หากแพทย์มีความเห็นแย้ง AI ก็จะได้เรียนรู้ว่าหากมีแจ้งเหตุอาการแบบนี้อีก ควรตัดสินใจอย่างไร เพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้นในการประเมินผู้ป่วยครั้งต่อไป หลังจากนั้นจึงนำส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉิน เพื่อจัดเตรียมรถฉุกเฉินที่อยู่ใกล้และเลือกรถฉุกเฉินที่เหมาะกับอาการของผู้ป่วยตามระดับสีที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า พร้อมกันนี้ระบบ AIEMS จะนำส่งข้อมูลให้กับโรงพยาบาลปลายทาง เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย

โดยที่ผ่านมาศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ ประสบปัญหาจำนวนคนให้บริการและเหตุก่อกวนอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยจริงได้อย่างทั่วถึง ซึ่งแต่ละปีมีการสูญเสียชีวิตมากกว่า 3 แสนคน ทั้งนี้ระบบดังกล่าวมีเป้าหมายสู่การเป็นเวิลด์แพลตฟอร์ม และถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามนวัตกรรมดังกล่าว นับว่าเป็นการตอกย้ำจุดแข็งของสถาบันในการเป็น “รากฐานนวัตกรรม” ของประเทศไทย เพื่อรองรับกับการก้าวไปสู่สังคมสมาร์ทซิตี้ ในโอกาสที่ สจล. ฉลองครบรอบ 60 ปีในปี 2563

สถิติจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติในขั้นตอนของการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จากจุดเกิดเหตุเพื่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล  พบว่ายังเป็นไปอย่างล่าช้า มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเสียชีวิตในช่วงก่อนถึงโรงพยาบาลมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และสถิติปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทย โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละประมาณ 22,491 ราย คิดเป็น 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน หรือเฉลี่ยแล้วมีประชากรไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุชั่วโมงละ 3 คน

ที่ผ่านมาศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ ประสบปัญหาจากการโทรศัพท์เข้ามาก่อกวนทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยจริงได้อย่างทั่วถึง โดยเจ้าหน้าที่ 6 คน สามารถรับโทรศัพท์ได้เพียง 1,500 สายต่อวันเท่านั้น ขณะที่ข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่คือเรื่องของเวลา เพราะต้องสอบถามประวัติและข้อมูลต่างๆ รวมถึงประสานงานรถฉุกเฉินที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อไปรับผู้ป่วย ณ ที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด โดยการแพทย์ฉุกเฉินสากลได้กำหนดไว้ว่ารถฉุกเฉินต้องไปถึงผู้ป่วยภายใน 8 นาที ซึ่งนับตั้งแต่เวลาที่มีการรับสายแจ้งเหตุ จนกระทั่งทีมแพทย์ฉุกเฉินเดินทางไปถึงผู้ป่วย ซึ่งแต่ละปีมีการสูญเสียชีวิตมากกว่า 3 แสนคน อันเนื่องมาจากปัญหาความล่าช้าในกระบวนการรอคอย และการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน

นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ สจล.ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ AIEMS อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ในเรื่องของการแปลงสัญญาณเสียงพูดภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาอีสาน ภาษาใต้ ภาษาเหนือ ให้เป็นเป็นตัวอักษร รวมถึงภาษาอังกฤษและภาษาประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว และพม่า เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มระดับโลก และเกิดการใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย

ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม ผู้จัดการโครงการวิจัย AIEMS และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยังกล่าวอีกว่า ระบบ AIEMS จะนำร่องทดลองใช้ในจังหวัดสระแก้วเป็นแห่งแรก ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว โดยนำระบบดังกล่าวไปติดตั้งภายในศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดสระแก้ว ควบคู่กับการนำระบบไฟจราจรอัจฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (iAmbulance) ที่ถูกนำไปติดตั้งทางร่วมแยกกว่า 20-30 แห่งทั่วจังหวัด เพื่อใช้เป็นโมเดลต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ และผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงในประเทศไทย สาเหตุที่เลือกสระแก้วเป็นจังหวัดนำร่องนั้น เพราะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้วเป็นทีม EMS เอง และเป็นคนสั่งการเองอีกด้วย ซึ่งหายากที่ผู้มีอำนาจจะเป็นผู้ปฏิบัติการเอง จึงเป็นคนที่มีความเข้าใจถึงปัญหาว่าหน้างานจริงต้องเผชิญกับอะไรบ้าง จังหวัดสระแก้ว มีแยกจราจรเพียง 20-30 แยก ไม่มีปัญหาเรื่องรถติด แต่ต้องการป้องกันและลดปัญหาเรื่องการเกิดอุบัติเหตุของรถฉุกเฉินลง เพราะหลายคนอาจไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ไปกับรถฉุกเฉินไม่มีประกันชีวิต ซึ่งถือเป็นเรื่องบอบบางมากในสังคม หากสามารถดูแลสวัสดิการตรงจุดนี้ของกู้ชีพจากศูนย์ทุกศูนย์ทั่วประเทศได้ จะทำให้คนทำงานมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงจริงๆ บางทีรถว่างๆ วิ่งทางตรง ยังโดนรถมาชนได้เสมอ ซึ่งทาง อบจ.สระแก้วก็เห็นถึงปัญหาตรงนี้จึงยินดีที่ให้เราเข้ามาติดตั้งระบบ AIEMS ทั้งระบบ

ทรงยศ เทียนทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สระแก้วจะเป็นที่แรกที่จะได้ทดลองใช้ติดตั้งระบบ AIEMS และ iAmbulance โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อทำงานประสานกัน จะทำให้ตัดปัญหาเรื่องรถพยาบาลติดไฟแดงไปได้ เพราะรถพยาบาลไม่สามารถผ่าไฟแดงได้ ฉะนั้นนอกจาก ระบบ AI จะลดเวลาประเมินผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยลดเวลาการเดินทางของรถพยาบาลด้วย เนื่องจาก AI จะช่วยเคลียร์เส้นทางให้รถพยาบาล เช่น เมื่อรถพยาบาลขับมาจะถึงแยกไฟแดงอีก 200 เมตร ระบบจะเคลียร์ไฟแดงตรงแยกนั้นให้เพื่อเปิดทางให้รถฉุกเฉินได้ทันที การช่วยเหลือผู้ป่วยก็จะถึงไวมากยิ่งขึ้น ซึ่งสระแก้วจะเป็นที่แรกที่ทำแบบครบวงจร และทางจังหวัดได้ทำการรวมทุกมูลนิธิ ไม่แบ่งแยกเขตพื้นที่ รถทุกคันไม่ว่ามูลนิธิใดต้องติดระบบติดตาม รถทุกคันต้องสแตนบายพร้อมรอคำสั่งลงพื้นที่หลังแจ้งเหตุให้ไวที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน และจะเริ่มใช้จริงในช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ที่จะถึงนี้

ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางสจล.จะร่วมมือกับศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เพื่อติดตั้งระบบ AIEMS มาใช้กับรถฉุกเฉินในสังกัด กทม. ที่ปัจจุบันมีอยู่ 200 คัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงาน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในลำดับต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. KMITL หรือเว็บไซต์ kmitl และโทรศัพท์ 02-329-8111

นวัตกรรม AI ของไทย เพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน

 

related