svasdssvasds

มวยถูกคู่ “เฉลิม” เจอ “สุริยะ” วิวาทะแบบ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”

มวยถูกคู่ “เฉลิม” เจอ “สุริยะ” วิวาทะแบบ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

การออกโรงติดดิสเบรก “เหลิมฝั่งธนฯ”ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ถือเป็นมวยถูกคู่ ที่คอการเมืองพันธุ์แท้ถึงกับสูดปาก

เพราะคนแรก เป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย พรรคที่หมายมั่นปั้นมือจะรักษาแชมป์ส.ส.เพื่อชิงจัดตั้งรัฐบาลเป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน และยังสวมหัวโขนเป็นประธานกรรมการรณรงค์เลือกตั้ง หรือภาษาแบบชาวบ้านๆ คือประธานหาเสียงของพรรค

ส่วนคนหลัง เป็นหนึ่งในแกนนำพรรคพลังประชารัฐจากกลุ่มสามมิตรเดิม และสวมบท ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคอีสานของพรรคพลังประชารัฐ ภาคที่มีส.ส.ให้ชิงชัยกันมากที่สุด 1 ใน 3 ของจำนวนส.ส.ทั้งประเทศ

ที่สำคัญ ทั้งคู่ เคยเป็นขุนพลคู่ใจที่เคยทำงานให้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเรืองอำนาจด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่อาจคนละช่วงเวลา เนื่องจากต่างคนต่างฝ่ายมีอันต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้นเสียก่อน

นายสุริยะ นักธุรกิจใหญ่จากกลุ่มซัมมิท ถูกนายทักษิณดึงเข้ามาร่วมทีมตั้งแต่ตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมาใหม่ๆ และได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญคือการเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งเปรียบเสมือนแม่บ้านและเป็นถุงเงินของพรรค ต้องคอยดูแลทุกข์สุขของสมาชิกพรรค ที่มาจากหลากหลายกลุ่มแต่มาอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าพิศวง อาทิ นักคิดนักปฏิวัติกับกลุ่มพ่อค้าวาณิชย์ขาใหญ่ของจังหวัด หรือนายทหารระดับนายพลที่เคยกุมอำนาจในกองทัพกับกลุ่มทหารยังเติร์กจปร.7 ที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมา

หลังกวาดส.ส.แบบถล่มทลายตั้งแต่เลือกตั้งครั้งแรกปี 2544 ด้วยจำนวน 248 คน นายสุริยะได้เป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม กระทรวงใหญ่ทันที ก่อนจะเปลี่ยนไปนั่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ซึ่งก็เป็นกระทรวงเกรดเอเช่นเดียวกัน และยังได้นั่ง 2 กระทรวงนี้อีก หลังเลือกตั้งปี 2548 รวมถึงตำแหน่งรองนายกฯ

โดนพิษจากโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่อง มูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดนฝ่ายค้านนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ และปปช.ตั้งกรรมการสอบ แต่สุดท้าย มีมิติเอกฉันท์ ยกคำร้องปี 2555 ด้วยเหตุผลหลักฐานไม่เพียงพอ

ก่อนหน้านั้น ปี 2550 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีคดียุบพรรคไทยรักไทย ทำให้เขาหายหน้าหายตาไปจากวงการการเมืองนับสิบปี โดยให้เหตุผลกลับไปทำธุรกิจและอยู่กับครอบครัว แต่มีโผล่ออกรอบในก๊วนกอล์ฟบ้างเป็นบางครั้ง ท่ามกลางข่าวเรื่องโรคประจำตัว

ปี 2552 ไปนั่งร่วมแถลงข่าวเปิดตัวตั้งพรรคภูมิใจไทยกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่โรงแรมสยามซิตี้ ก่อนกลับมาปรากฏตัวอีกทีในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร และสร้างความฮือฮา เมื่อเปิดปากโต้กลับร.ต.อ.เฉลิม เป็นคนชอบสร้างข่าวเท็จ เอาดีเข้าตัว นิสัยไม่เคยเปลี่ยน หลังโดนกล่าวหาว่ากลุ่มสามมิตรเจรจาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกับพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน “บิ๊กตู่”แล้ว

ส่วนร.ต.อ.เฉลิม อดีตทหารยศสิบโท ขอโอนย้ายไปเป็นตำรวจด้วยเชื่อว่ามีโอกาสเติบโตมากกว่ากัน จับพลัดจับผลูจากตำรวจกองปราบฯไปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมรัฐประหารรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ช่วงเมษาฯฮาวายปี 2524 ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการ แต่ตอนหลังได้รับนิรโทษ

ก้าวสู่สนามเลือกตั้ง เป็นผู้สมัครและทำหน้าที่พิธีกรเวทีปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เรียกคนดูล้นหลามด้วยลีลาคำพูดที่เร้าใจ เป็นส.ส.กรุงเทพฯปี 2526 อีก 3 ปีต่อมาตั้งพรรคมวลชน มีฐานเสียงย่านฝั่งธนฯบางบอน สมัยรัฐบาล “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คุมสื่ออส.มท.ชนิดแทบจะลงไปเขียนข่าวเอง ให้เชียร์รัฐบาลสุดขั้ว และยังใช้รถโอบีแอบไปดักฟังสัญญาณคลื่นวิทยุของกองทัพด้วยความไม่ไว้ใจ

หลังรัฐบาลน้าชาติถูกรสช.รัฐประหารปี 2534 ร.ต.อ.เฉลิม ลี้ภัยไปอยู่ประเทศเดนมาร์ก ก่อนจะได้รับการอภัยให้จาก “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ประธานรสช.ในขณะนั้น กลับประเทศไทยได้ จึงกลับมารื้อฟื้นพรรคมวลชนอีกครั้ง ก่อนจะยุบรวมกับพรรคความหวังใหม่ ของ “พ่อใหญ่จิ๋ว” ได้เป็นมท.6 รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย

แต่หลังเลือกตั้ง 2544 ที่พรรคไทยรักไทยของนายทักษิณชนะเลือกตั้ง และควบรวมพรรคเสรีธรรมภายใต้การนำของนายพินิจ จารุสมบัติ และพรรคความหวังใหม่ของพล.อ.ชวลิต ให้พรรคใหญ่ยิ่งขึ้น ครั้งนั้น ร.ต.อ.เฉลิมไม่ยอมย้ายไปด้วย แถมยังเปิดปากวิจารณ์นายทักษิณอีกต่างหาก

กระทั่งเห็นการเติบใหญ่อย่างต่อเนื่องของพรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคพลังประชาชน ซึ่งได้มีการดึงนายสมัคร สุนทรเวช ไปเป็นผู้นำพรรคสู้ศึกเลือกตั้งปี 2550 ร.ต.อ.เฉลิม จึงย้ายไปเป็นสมาชิกพรรค หลังผิดหวังจากลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯแต่ได้เพียงอันดับ 4 ทั้งยังตัดหน้าคว้าเก้าอี้รัฐมนตรีมหาดไทยไปนั่ง ท่ามกลางความไม่พอใจของสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งที่เป็นเนื้อแท้จากสมัยพรรคไทยรักไทย และช่วยประคับประคองพรรคมาตลอด นับตั้งแต่นายทักษิณถูกรัฐประหารต้องหลบภัยในต่างประเทศ

แต่เมื่อผ่านพ้นจุดวิกฤติ และส่อเค้าจะกลับมาชนะเลือกตั้งอีก ผู้มาใหม่บางคนบางกลุ่ม กลับมาคว้า”พุง”งามๆไปกินหน้าตาเฉย

สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร.ต.อ.เฉลิม กลับมามีบทบาทโดดเด่นอีกครั้ง ทั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว และหัวหน้าผู้รับผิดชอบหลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รับมือสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกปปส. ถือเป็นรัฐมนตรีแรงงานคนแรกที่ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญนี้

ปี 2555 หลังมีความพยายามปรับโครงสร้างภายในพรรคเพื่อไทยใหม่ โดยแบ่งเป็น 5 ภาค 19 โซน โดยพื้นที่กรุงเทพฯถูกแบ่งซอยออกเป็น 3 โซนจากเดิมที่คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ดูแลทั้งหมดในฐานะประธานภาคกทม. แต่โซนฝั่งธนฯ ร.ต.อ.เฉลิม ได้เป็นผู้ดูแล สะท้อนภาพการเป็น “เกาเหลา” ระหว่าง 2 “บิ๊กเนม” พื้นที่กรุงเทพฯอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แม้ร.ต.อ.เฉลิม จะเพิ่งเข้าพรรคขั้วเพื่อไทยทีหลัง และเป็นช่วงที่นายสุริยะถอยห่างออกไปจากพรรค แต่ในความเป็นจริง ทั้งคู่ก็คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมืองมาก่อนหน้านี้ และเคยมีบทบาทในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือปี 2541 นายสุริยะ เป็นรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรม รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในโควตาพรรคกิจสังคม ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย สมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ปี 2540

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งคู่จะเปิดวิวาทะใส่กันแบบ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”

ก่อนหน้านั้น สมัยรัฐบาล “น้าชาติ” นายทักษิณ ซึ่งยังเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองเต็มตัว ก็ได้รับใบอนุญาตธุรกิจเคเบิลทีวีภายใต้ชื่อ ไอบีซี ในสมัยที่ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรัฐมนตรี ดูแล อส.มท. ก่อนนำไปสู่การได้สัมปทานดาวเทียมไทยคม ในเวลาต่อมา

จับตาให้ดี คู่นี้อาจมีภาคต่อ เพราะกำข้อมูลอีกฝ่ายไว้เพียบ!

related