svasdssvasds

ทางออกนอกตำรา : ค่าแรงแสลงใจ โบแดงลูกจ้าง โบดำนายทุน

ทางออกนอกตำรา : ค่าแรงแสลงใจ โบแดงลูกจ้าง โบดำนายทุน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

0001 ผมทำนายไว้ในฉบับก่อนหน้านี้ว่า “การปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลรอบนี้แสลงใจนายจ้าง” แน่นอน เพราะมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ที่มีมติไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดทั่วประเทศ 7 ระดับต่ำสุด 5 บาท สูงสุด 22 บาท ซึ่งยังผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำจะขยับขึ้นมายืนที่ระดับ 308-330 บาทนั้น ถือว่ากระแทกใจนายจ้างไปเต็มๆ ปฏิกิริยาของฝ่ายนายจ้างที่ขู่ฟ่อๆมาตั้งแต่ต้น ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน อันประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หรือที่เรียกกันว่า “กกร.” ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวมพลังของกลุ่มทุนนั้นส่งสัญญาณชัดมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นทีเดียว 5-15 บาท แต่กลุ่มนายทุนคาดไม่ถึงว่า คณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นไตรภาคีจะปรับขึ้นพรวดเดียว 5-22 บาท การขยับขึ้น 1.74-7.14% นั้นทำให้ต้นทุนคงที่ของบรรดานายจ้าง สถานประกอบการไม่ว่ารายเล็ก รายน้อย ขยับขึ้นมาทันทีแบบไม่มีการต่อรอง ผมจึงทำนายไว้ตั้งแต่ต้นว่า เรื่องการปรับขึ้นค่าแรง ไม่จบง่ายๆแน่นอน ลองว่าทำให้นายจ้างมี “ต้นทุนเพิ่มกำไรหด” ก็คงต้องสู้กันสักตั้ง แล้วในที่สุดก็เป็นเช่นนั้นจริง เมื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ตัดสินใจดึงเรื่องการขึ้นค่าจ้างที่จะมีการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ในวันอังคารที่ 23 มกราคม 2561 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 นั่นแสดงว่า “ฝ่ายการเมือง” รับทราบถึงลมพายุที่ตั้งเค้าอยู่ในกลุ่มนายจ้างที่พ่ายแพ้ต่อเสียงโหวตการขึ้นค่าแรงอย่างหมดรูป
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน
ล่าสุด ผู้นำภาคเอกชนยกพลกันออกมาเต็มอัตราศึก ทั้ง กลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เป็นตัวแทน “ปูนซิเมนต์ไทย”  เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งที่ใช้คนจำนวนมากในการผลิตก็ตบเท้ามาขย่มกันเต็มที่ กลินท์ แสดงท่าทีชัดเจนในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อย่างไม่มีอ้อมค้อมว่า กกร.ขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติดังกล่าว และขอให้ดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และควรดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) กกร.จะเสนอแนวทางดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการต่อไป
กลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย กลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย
กลินท์ บอกว่า “เราได้สอบถามสมาชิกแล้วโดยเฉพาะต่างจังหวัดซึ่งมีข้อสังเกตว่า จากการปรับค่าจ้างดังกล่าวเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอคิดเป็น 92% ของจังหวัดทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มจังหวัด 35 จังหวัด ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอปรับขึ้นอาทิ จ.ระยอง ที่ได้เสนอคงไว้ที่ 308 บาทต่อวัน แต่มติกลับปรับขึ้นเป็น 330 บาทต่อวัน จึงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ จากนี้เราคงต้องดูว่ารัฐจะทบทวนหรือไม่ หากไม่ทบทวนก็จะสำรวจผลกระทบให้ชัดเจนอีกครั้ง” ขณะที่ เจน นำชัยศิริ สำทับว่า การขึ้นค่าแรงครั้งนี้ หากพิจารณาถึงผลกระทบต่อกิจการอุตสาหกรรม เช่น จ.ระยอง ที่ปรับขึ้นเป็น 330 บาทต่อวันนั้นรายใหญ่คงไม่มีผลกระทบ แต่กลุ่มเอสเอ็มอี ภาคเกษตร ภาคบริการโดนเข้าไปเต็มๆ เพราะขึ้นจาก 308 บาท เป็น 330 บาท ขึ้นไปทีเดียว 22 บาทต่อวัน นั่นหมายถึงว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะมีต้นทุนในเรื่องเงินเดือนค่าจ้างเพิ่มขึ้นทันทีเดือนละ 660 บาทต่อคน ปีละ 7,920 บาทต่อคน ดังนั้นการขึ้นค่าแรงในอัตรานี้ต้องคิดว่า สมควรหรือไม่ หากคิดว่าอยู่ในพื้นที่อีอีซีก็ให้เข้าใจว่า อีอีซีเป็นเรื่องอนาคต จึงอยากตั้งคำถามว่า การขึ้นค่าแรงครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานอะไร เพราะกรณี จ.ตราดค่าจ้างก็เท่ากับจ.เชียงใหม่ ทั้งที่เศรษฐกิจ สังคม ต่างกันมาก จึงเห็นว่า รัฐบาลควรจะทบทวน เจนขู่ฟ่อๆ ไปไกลถึงการขึ้นราคาสินค้าเสียด้วยซ้ำไปว่า “ในแง่ของราคาสินค้านั้นก็ต้องมองว่าการปรับขึ้นนั้นคงจะมีบ้าง แต่คงบอกไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับ สภาพตลาดและการแข่งขัน”เรียกว่ากดดันกันทุกทาง ส่วน พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นั้นจุดยืนชัดเจนว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น เพราะอัตราดังกล่าวสูงกว่าความเห็นของ คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กำหนดไว้ “ผมงง ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไรตัวเลขนี้ ขอให้ทบทวน แต่จะขึ้นเท่าใดนั้น ไม่ใช่หน้าที่เราคงต้องมองกลับไปสู่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด” เห็นมั้ยว่า ค่าแรงแสลงใจนายจ้างแค่ไหน...ตอนนี้ขึ้นอยู่กับหัวหน้ารัฐบาลคือ นายกฯลุงตู่ว่าจะกล้าฝ่าด่านการต้านของแกนนำภาคเอกชนที่ปัจจุบันเป็น 1 ในเครื่องมือของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน และคนเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกรรมการแทบทุกชุดของรัฐบาลนายกฯลุงตู่ ในการสร้างสรรค์พลัง “ประชารัฐ” ถ้านายกฯลุงตู่แข็งเกินไปมวลชนกลุ่มทุนที่เคยหนุนรัฐบาลอาจลดความร่วมมือ ถ้านายกฯลุงตู่ยอมหงอด้วยการตัดสินใจสั่งปรับแก้ค่าแรงที่คณะกรรมการค่าจ้างเสนอก็เป็นศัตรูทันทีกับบรรดาแรงงาน 37ล้านคน การต่อรองผลประโยชน์ของธุรกิจระหว่างนายจ้างกับรัฐบาลที่หนุนมาตลอดกำลังเริ่มขึ้นในยกแรก...บรรดาลูกจ้างทั้งหลายโปรดจับตาอย่ากะพริบเชียว... .................... คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/ หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3334 ระหว่างวันที่ 25-27 ม.ค.2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9
related