svasdssvasds

พาณิชย์ เผยไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อติดต่อกัน 3 เดือน

พาณิชย์ เผยไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อติดต่อกัน 3 เดือน

กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อทั่วไป พ.ค. 63 ลดลง 3.44% หดตัวสูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี

วันนี้ (4 มิ.ย. 63) น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวว่า ดัชนีผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ค. 63 ที่ผ่านมาลดลง 3.44% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต่ำ ขณะที่ภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และราคาสินค้าจำเป็นบางรายการอีกด้วย

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมานั้นหดตัวอยู่ที่ 3.44% นับว่าเป็นการหดตัวสูงที่สุดนับแต่วิกฤตซัพไพรม์ ถือเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี 11 เดือนเมื่อนับจากเดือน ก.ค. 52 ที่ขณะนั้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวอยู่ที่ 4.4%

 

"เงินเฟ้อของไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะมีการติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางเทคนิคไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในความหมายแคบ คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่า 0% เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว แต่ถ้าไปดูในรายละเอียด เราจะพบว่าสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น มีมากกว่าสินค้าที่ราคาลดลง ซึ่่งไม่สอดคล้องกับหลักการของเงินฝืดในทางวิชาการอย่างครบถ้วน โดยสินค้าที่ราคาลงมากๆหนีไม่พ้นราคาน้ำมัน อีกพวกหนึ่ง คือ ราคาไฟฟ้า ประปาที่ลดลง เพราะรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อลงไปเยอะ รวมทั้งราคาผักก็ลดเยอะพอสมควร" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า แม้ไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในความหมายแคบ แต่จัดเป็นสถานการณ์ไม่น่ากังวลนัก เพราะราคาสินค้า และความเคลื่อนไหวต่างๆ ยังอยู่ในภาวะปกติ โดยสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน และอาหารยังคงบวกได้อยู่ สะท้อนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค. 63 ยังขยายตัวที่ระดับ 0.01% เมื่อเทียบกับปี 62

อีกทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ภาคการผลิต และบริการ ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศต่างชะลอตัว แต่ทั้งนี้การเข้าถึงสินค้าส่วนตัว และอาหารยังมีอย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดความขาดแคลนแต่อย่างใด คาดการณ์ว่าทิศทางเงินเฟ้อในระยะถัดไปน่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ ภายหลังรัฐบาลตัดสินใจคลายล็อกดาวน์

 

"การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) หดตัว 1.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) ขยายตัวที่ 0.4% นอกจากนี้ สนค.คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 63 ว่าจะอยู่ที่ -1% ถึง -0.2% โดยมีค่ากลางที่ -0.6%

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท.อิงนิยามภาวะเงินฝืดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ดังนี้

1.อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (prolonged period)

2.อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆหมวดสินค้าและบริการ

3.การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปรกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย

4.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

ดังนั้น หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าอัตราเงินเฟ้อไทยติดลบมาเพีย' 3 เดือน แม้ประมาณการล่าสุดของ ธปท. จะให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ติดลบ แต่ยังมองว่าปีหน้าจะกลับเป็นบวกได้ อีกทั้งเป็นการติดลบจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี อยู่ที่ 1.8% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1-3% ต่อปี จึงยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

 

 

พาณิชย์ เผยไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อติดต่อกัน 3 เดือน

 

 

 

ข้อมูลจาก :  เฟซบุ๊ก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

related