svasdssvasds

แบงก์ชาติเผยคนแห่ 'เบิกเงินสด' ออกจากธนาคารช่วงล็อกดาวน์มากที่สุดในประวัติศาสตร์

แบงก์ชาติเผยคนแห่ 'เบิกเงินสด' ออกจากธนาคารช่วงล็อกดาวน์มากที่สุดในประวัติศาสตร์

แบงก์ชาติเผยข้อมูลสุดช็อก หลังคนไทยแห่เบิกเงินสดจับจ่ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์แม้ขณะล็อกดาวน์ ข้อมูลเผยส่วนหนึ่งมาจากโครงการเยียวยา!

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลสุดตะลึงว่า รายงานล่าสุดการใช้เงินสดหมุนเวียนในประเทศไทยช่วง เม.ย. 63 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.05 ล้านล้านบาท นับเป็นการใช้เงินสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้เป็นช่วงประเทศไทยเข้าสู้สภาวะล็อกดาวน์ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วก็ตาม

ด้านปริมาณการใช้เงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นราว 6.29% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 62 หากคิดเป็นมูลค่าการใช้เงินเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 1.21 แสนล้านบาท และหากเทียบกับปีก่อนจะเพิ่มขึ้นถึง 13.3% หรือ 2.41 แสนล้านบาท

ซึ่งหากย้อนไปดูรายละเอียดเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะพบว่ามีสามส่วนหลักคือ เหรียญกษาปณ์ และธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่กรมธนารักษ์

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า เฉพาะธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในเม.ย.พบว่า เป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ที่ 1.98 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.21 แสนล้านบาท หรือ 6.52% หากเทียบกับสิ้นปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.39 แสนล้านบาท หรือ 13.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

อีกทั้งธนบัตรที่ออกใช้ ยังพบว่ามีการเพิ่มขึ้นในหลายชนิดราคา โดยเฉพาะ ชนิดราคา 1,000 บาท ที่มียอดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.14 หมื่นล้านบาท หรือ 5.40% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.23 แสนล้านบาท หรือ 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท ที่พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยมียอดหมุนเวียนในระบบ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.78 หมื่นล้านบาท หรือ 17.13% หากเทียบกับสิ้นปีก่อนที่มียอดธนบัตรหมุนชนิดนี้หมุนเวียนที่ 1.62 แสนล้านบาท และยังเพิ่มขึ้นมาก หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถึง 3.58 หมื่นล้านบาท หรือ 23.2%

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธปท. กล่าวว่า เงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ที่อยู่ระดับสูง เป็นผลมาจาก สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงเดือนมี.ค.ถึงเม.ย. ส่งผลให้ประชาชน มีการเบิกถอนธนบัตรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย

นอกจากนี้ การปิดสถานที่หลายแห่งและห้ามการเดินทางเข้าประเทศทุกช่องทาง ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีข้อจำกัดในการเดินทางอย่างไรและถึงเมื่อไหร่ สถาบันการเงินจึงเตรียมความพร้อมด้านเงินสด ด้วยการเบิกถอนธนบัตรเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. และต่อเนื่องจนถึงกลางเดือน เม.ย.

โดยเฉพาะชนิดราคา 1,000 บาท เพื่อสำรองไว้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์และบรรจุในตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้มั่นใจว่ามีธนบัตรเพียงพอให้ประชาชนมาถอนได้ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบกับ ช่วงใกล้สิ้นเดือน ที่โดยปกติจะมีการเบิกถอนมากขึ้นอยู่แล้ว ทำให้ยอดการเบิกถอนธนบัตรสูงมากขึ้นในช่วงปลายเดือน มี.ค. กว่าปกติ

กระนั้น เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ยังมีมาจาก มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของภาครัฐที่ออกมาผ่านโครงการต่างๆ โดยเริ่มมีการจ่ายเงินช่วยเหลืองวดแรกในช่วงเดือน เม.ย. โดยสถาบันการเงินมีการเบิกถอนธนบัตรเพิ่มขึ้นสุทธิ 6.45 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท. ได้เตรียมธนบัตรสำรองไว้เพียงพอสำหรับรองรับมาตรการดังกล่าว

ส่วนแนวโน้มการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ หลังคลายล็อกดาวน์โควิด-19 ธปท.มองว่า การที่รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการ ให้สามารถเดินทางและเปิดบางสถานที่ได้แล้ว ทำให้ปริมาณการเบิกถอนธนบัตรกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งคาดว่า ตั้งแต่ช่วงมีสถานการณ์ ประชาชนเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมาชำระเงินทาง digital เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้ได้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินให้เป็น digital มากขึ้นเรื่อยๆ

related