svasdssvasds

จากกรณีกระทงรูปการ์ตูน สู่การชำแหละ "นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์"

จากกรณีกระทงรูปการ์ตูน สู่การชำแหละ "นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์"

ชำแหละวงการนักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์ อย่างถึงพริกถึงขิง ที่ไม่เเน่ว่า วันหนึ่งคุณอาจต้องเผชิญหน้ากับพวกเขา อย่างไม่คาดฝัน

จากกรณีที่เยาวชนวัย 15 ปี ถูกล่อซื้อกระทงรูปการ์ตูน กระทั่งครอบครัวต้องยอมจ่ายเงินไปจำนวนหนึ่ง เพื่อไม่ให้เธอถูกดำเนินคดี จนกลายเป็นข่าวโด่งดัง เเละก่อให้เกิดคำถามมากมายในสังคม โดยเฉพาะประเด็นการทำหน้าที่ของตัวแทนบริษัทฯ ที่เรียกว่า นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์

โดย ธนากร ริตุ ผู้สื่อข่าวพิเศษ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่รู้จักวงการนี้อย่างถ่องแท้ อันเนื่องมาจากประสบการณ์ในการทำข่าวอย่างโชกโชน จนรู้ไส้รู้พุงวงการนี้เป็นอย่างดี ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกกับ สปริงนิวส์ ในระดับที่เรียกได้ว่า ชำแหละกันให้เห็นอย่างจะๆ แบบถึงพริกถึงขิงเลยเชียว

ซึ่งสิ่งที่เขาทิ้งท้ายไว้ก็คือ เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งไกลตัว เพราะไม่แน่ว่า สักวันอาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว หรืออาจจะเป็นตัวคุณ...นั่นเอง

 

อ่านข่าว : เด็กสาว 15 โดนล่อซื้อกระทงการ์ตูน ถูกจับลิขสิทธิ์ เรียก 5 หมื่น

 

จากกรณีกระทงรูปการ์ตูน สู่การชำแหละ "นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์"

จุดเริ่มต้นของ นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์

ธนากรเล่าว่า จุดเริ่มต้นของ นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์ เกิดขึ้นในยุคเทปผีซีดีเถื่อนระบาด ส่งผลกระทบกับยอดจำหน่ายเทป ซีดี ของค่ายเพลง

“ทีมล่าค่าหัวลิขสิทธิ์ เฟื่องฟูในยุคนั้น เพราะค่ายเพลงต่างๆ พยายามที่จะเแก้ปัญหา... การตั้งทีมขึ้นมาจับการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเกิดขึ้น คนที่เข้ามารับงาน จะเป็นกลุ่มคนมีสี ที่มีลูกน้อง ทั้งรับราชการ และอดีตเคยรับราชการ มีเครือข่ายในการออกทำงาน โดยค่ายเพลงต่างๆ จะเรียกใช้บริการ ตั้งให้เป็นตัวแทนในการดำเนินคดี กับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์”

ต่อมาก็มีการจับเจ้าของร้านอาหารต่างๆ ที่เปิดเพลงโดยไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ โดยธนากรกล่าวว่า “ส่วนใหญ่จะจบกันในขั้นการเจรจาไกล่เกลี่ยกันที่โรงพัก เพราะคนค้าขายไม่มีใครอยากมีปัญหา ไม่มีใครอยากมีประวัติติดตัวเพราะถูกจับดำเนินคดี โดยราคามาตรฐานในการยอมความอยู่ที่ 3 – 5 หมื่นบาท”

จากกรณีกระทงรูปการ์ตูน สู่การชำแหละ "นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์"

การละเมิดลิขสิทธิ์สินค้า การ์ตูนดัง

ธนากรให้ข้อมูลว่า ต่อมาบริษัทที่รับงานด้านการจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนใหญ่จะเป็นสำนักงานกฎหมายต่างๆ ซึ่งมีคนมีสี ค่อยให้คำปรึกษา หรืออาจเป็นแบ็คอยู่ข้างหลัง

ส่วนผู้ที่รับหน้าที่ดำเนินการ ก็อาจเป็นกลุ่มคนที่เคยทำงานด้านนี้ ตั้งแต่ยุคเทปผีซีดีเถื่อน คนมีสีที่ใช้เวลานอกราชการ หรืออดีตคนมีสี แต่ถูกออกจากราชการ จึงรู้ช่องทางการทำมาหากินบ้าง หรืออาจจะเป็นลูกน้องธรรมดา เเต่พยายามทำตัวให้เหมือนเจ้าหน้าที่ ให้ดูน่าเกรงขาม ทำตัวเหมือนมาเฟีย เป็นต้น

“คนพวกนี้เขาถือว่า ตนเองมีแต้มต่อ มีแบ็คอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นสำนักทนายความ ทีมกฎหมายต่างๆ คุยกันไม่รู้เรื่อง เขาก็ดำเนินคดีอย่างเดียว เพราะเขาถือว่า ทำถูกต้อง เขาเป็นตัวแทน

“ถ้ามีการดำเนินคดี เขาได้ผลงาน แต่ทีมนักล่าฯ ไม่ค่อยชอบครับ เพราะไม่ได้ตังค์ จะชอบแบบเจรจาไกล่เกลี่ย ยิ่งวันหนึ่งมีไกล่เกลี่ยหลายคดีิ เม็ดเงินที่เขาได้มันก็มาก หรือถ้าเกิดแข็งกับเขา คุยกันไม่รู้เรื่อง คุยแล้วไม่จบ เขาก็จะให้ตำรวจดำเนินคดี แล้วเขาก็ได้ผลงานไป

“พูดง่ายๆ ทีมนักล่าฯ ได้อย่างเดียวเลย เจรจาไกล่เกลี่ย ก็ได้ตังค์ เจรจากันไม่ได้ ส่งดำเนินคดี ก็ได้ผลงาน ใครเข้ามาในทีมนี้ มีแต่ได้กับได้”

จากกรณีกระทงรูปการ์ตูน สู่การชำแหละ "นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์"

การจับสินค้า การ์ตูนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ในห้างฯ หรือตลาดใหญ่ๆ

หากเป็นกรณีจับกุม ร้านค้าในห้างฯ หรือในตลาดใหญ่ๆ ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน ก็เป็นเรื่องที่สมควรและถูกต้อง แต่ธนากรให้ข้อมูลเชิงลึกว่า แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า ภายในห้างฯ หรือตลาดนั้นๆ มีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ที่จะเข้าไปจับกุม

“เพราะต้องไปเจอกับอิทธิพลขอคนเฝ้าตลาด ที่มีผลประโยชน์ในตลาด แค่ไปประสานกับท้องที่ ข่าวก็รั่วแล้ว เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นรูปแบบของการล่อซื้อ ดำเนินคดีผู้ที่ทำการค้าออนไลน์ ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมา

“เพราะเขารู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่า การที่จะเข้าไปจับในตลาดที่มีคนคุ้มครอง มีคนดูแล เขาทำไม่ได้ จึงต้องออกมาหาคนที่เป็นชาวบ้านที่ไม่รู้ข้อกฎหมายลิขสิทธิ์ ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นผิดหรือไม่

“ก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องยอมรับว่า มันคือเรื่องจริง และถ้าโดนจับไปแล้ว ยังไงก็ต้องเสียตังค์ แต่จะมากหรือน้อย ก็อยู่ที่การเจรจา”

จากกรณีกระทงรูปการ์ตูน สู่การชำแหละ "นักล่าค่าหัวลิขสิทธิ์"

“ลิขสิทธิ์” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนโดยทั่วไปไม่ค่อยรู้ในข้อกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ โทษปรับที่มีอัตราสูงมาก ฉะนั้นการศึกษาข้อกฎหมายนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะว่าไปแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลย

“ผมเคยเป็นไปช่วยเจรจาให้กับน้องคนหนึ่ง น้องเขาซื้อแผ่นเกมมา (ไม่รู้ว่าเป็นแผ่นปลอม) ต่อมาไม่ได้เล่นแล้ว จึงประกาศขายแผ่นเกม 20 -30 บาท พอเป็นค่าขนม ก็โดนทีมจับลิขสิทธิ์ของค่ายเกมมาล่อซื้อ มันเป็นข้อกฎหมายที่คนไม่ค่อยรู้ คิดว่าเป็นของเก่าแล้วเอามาขายได้ แต่สิ่งที่โดนนั้น มันหนักมาก

“หรือที่เคยเป็นข่าวดัง เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดของ กทม.ไปเก็บขยะ แล้วเจอแผ่นซีดีที่ทิ้งแล้ว ด้วยความอยากมีรายได้ ก็นำซีดีไปวางขายที่ตลาด แล้วก็โดนจับ ดังนั้นความรู้ในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ”

related