svasdssvasds

“ความกล้าหาญของสื่อ” สิ่งที่ “ดำรง พุฒตาล” อยากเห็น

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

"ดำรง พุฒตาล" สื่อมวลชนอาวุโส เปิดโอกาสให้สปริงนิวส์ ทำการสัมภาษณ์ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สิ่งที่เขาจะพูด ต้องเป็นเรื่องที่เขาอยากเล่า และอยากเห็น

ซึ่งต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่เขาอยากเห็นในวงการสื่อมวลชน ผ่านเรื่องเล่าที่สนุกสนาน ในสไตล์ ดำรง พุฒตาล

“ความกล้าหาญของสื่อ” สิ่งที่ “ดำรง พุฒตาล” อยากเห็น

สิ่งที่อยากเห็น มันคงไม่อาจจะเป็นไปได้แล้วนะครับ พูดแบบคนที่สูงวัย เราก็อยากให้ข่าวมันมีคุณธรรม สร้างสรรค์ จริยธรรม แล้วก็จรรยาบรรณ ตลอดจนเสนอแแบบมีวิชาชีพ

ซึ่งผมขอถือโอกาสเล่าเรื่องนี้ เนื่องในวันนักข่าว (วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา สมัยที่ ริชาร์ด นิกสัน เป็นประธานาธิบดี มันเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน 2 ฉบับ กับทำเนียบขาว เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ครับ

สมัยที่นิกสัน เป็นประธานาธิบดี เป็นช่วงของสงครามเวียดนาม ซึ่งสงครามนี้มีมาตั้งแต่สมัย ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี  พอโดนยิงตายเนี่ย ลินดอน บี. จอห์นสัน ก็ขึ้นเครื่องบิน สาบานตนเป็นประธานาธิบดี (กระทั่งนิกสันขึ้นเป็นประธานาธิบดี ในสมัยต่อมา)

แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนคนอเมริกัน ก็เบื่อหน่ายสงครามเต็มที เห็นว่าเงินภาษีของเขาเนี่ย ต้องไปใช้ในการจ่ายค่าอาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วก็ไปรบที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับประเทศตัวเองเลย แต่ต้องนั่งเครื่องบินเป็นหมื่นๆ กิโลเมตร ไปรบ แล้วต้องมาเสียชีวิตเนี่ย คนอเมริกันก็ต่อต้าน เดินขบวน เเต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ช่วงที่ประธานาธิบดีจอห์นสัน กับเคนเนดี เป็นประธานาธิบดี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่อ โรเบิร์ต แม็กนามารา รู้รายละเอียดทั้งหมด รู้เรื่องงบประมาณ รู้เรื่องการไปรบ รู้เรื่องควรไม่ควร รู้ว่าเสียหายอย่างไร ทหารตายเท่าไหร่ ฯลฯ

“ความกล้าหาญของสื่อ” สิ่งที่ “ดำรง พุฒตาล” อยากเห็น

พอนิกสันขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี โรเบิร์ต แม็กนามารา ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีต่อ แต่ท่านได้บันทึกข้อมูลไว้กว่า 4,000 หน้ากระดาษ​ เป็นรายละเอียดของงบประมาณ ความสูญเสีย ความคิดเห็นของแต่ละคน การประชุมของคณะรัฐมนตรี แม็กนามาราบันทึกและเก็บไว้ที่เพนตากอน

แล้วก็มีคนคนหนึ่ง เขาไม่เห็นด้วยกับสงครามที่อเมริกาไปรบกับเวียดนาม เขาเคยเดินทางไปสังเกตการณ์ที่เวียดนามกับกองทัพ เข้าไปในเขตเวียดกงเลย ทหารที่ไปกับเขาตายและบาดเจ็บหลายคน ตัวเองรอดมาได้ ซึ่งเขาเห็นเลยว่า อเมริกาไม่มีทางชนะเวียดนามได้ พอกลับมา เขาก็สามารถเปิดเซฟของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนเก่า (โรเบิร์ต แม็กนามารา) เแล้วก็ลอบนำบันทึกนั้นส่งให้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์

นิวยอร์กไทมส์พอได้ข่าวนี้ โอ้โห เขาก็เห็นว่า อเมริกันไม่ควรรบกับเวียดนาม แพ้แน่ๆ ก็ลงข่าวนี้ทันทีเลยครับ จึงถูกอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรมของอเมริกา ทำเนียบไวท์เฮ้าส์ เล่นงาน แต่การเล่นงานของเขา มันเล่นงานเป็นระเบียบ เป็นระบบ เช่น สั่งให้หยุดพิมพ์ สั่งให้ส่งเอกสารคืนให้กับรัฐบาล แล้วมีหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งชื่อ วอชิงตันโพสต์

วอชิงตันโพสต์เนี่ย เป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ และการเงินไม่ดี แต่มีนักข่าวที่ดี นักข่าวที่มีวิชาชีพ หัวหน้ากองบรรณาธิการทุกคนเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีจริยธรรม คุณธรรม แล้วก็ทำเพื่อสื่อ เพื่อประเทศชาติจริงๆ ก็รู้สึกเสียใจว่า ทำไมนิวยอร์กไทมส์ลงข่าวเรื่องนี้ได้ ทำไมวอชิงตันโพสต์ไม่มีข่าว แล้วเขาก็เสียใจมาก เอาหนังสือพิมพ์มาโยนแล้วถามว่า ทำไมหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ มีแต่ข่าวแต่งงานลูกสาวประธานาธิบดี ในขณะที่นิวยอร์กไทมส์ มีข่าวเรื่องสงคราม ก็มีนักข่าวคนหนึ่งอ่านทางออกเลยว่า ข่าวอย่างนี้ต้องมาจากใครคนหนึ่งที่เขารู้จัก เขาสืบหาจนเจอคนที่ขโมยข้อมูลนี้มาเปิดเผย มีการติดต่อกันในลับ ในที่สุดก็ไปหาคนๆ นั้น

“ความกล้าหาญของสื่อ” สิ่งที่ “ดำรง พุฒตาล” อยากเห็น

พอเข้าไปในบ้านหรือสำนักงาน ปรากฏว่า (เอกสาร) เต็มห้อง เป็นเอกสารลับของโรเบิร์ต แม็กนามารา แล้วคนคนนั้นก็ยกให้กับวอชิงตันโพสต์ทั้งหมดเลย 2 หีบใหญ่ๆ เขาก็นำขึ้นเครื่องบินมาวอชิงตันเลย แล้วทำงานกัน อ่านกัน คัดแยกกัน แต่พอจะพิมพ์ปรากฏว่า ฝ่ายกฎหมายของวอชิงตันโพสต์ ฝ่ายนายทุน ไม่ยอมให้พิมพ์ ฝ่ายกฎหมายบอกว่า “นิวยอร์กไทมส์กำลังโดนอยู่นะ ถ้าเราพิมพ์ 1. หนังสืออาจจะถูกปิด 2. พวกคุณ กองบรรณาธิการ อาจติดคุก 3. ตกงาน ลูกเมียลำบากเดือดร้อน”

แต่ปรากฎว่า กองบรรณาธิการไม่ยี่หระ กระตือรือร้น กระเหี้ยนกระหือรือที่จะลงให้ได้ เขาบอกว่า “เราเป็นหนังสือพิมพ์ เมื่อเราได้ข้อมูลมาแล้ว ไม่ใช่เฟคนิวส์ ข่าวปลอม ทำไมเราไม่ลง”

นายทุนก็ไม่ให้ลง นักกฎหมายก็ไม่ให้ลง เหลือตัวเจ้าของที่ต้องตัดสินใจ ถ้าเผื่อหนังสือพิมพ์โดนปิด โดนจับ เขาก็จะเดือดร้อนเป็นคนแรก แต่เขาบอกว่า “ถ้าเราเป็นหนังสือพิมพ์ เราไม่ทำหน้าที่นี้ เราไม่ให้ประชาชนผู้เสียภาษีได้รู้ข้อเท็จจริง เราไม่สะท้อนสังคม แล้วเราจะทำหนังสือพิมพ์ไปทำไม ?”

พิมพ์เลย เขาบอกอย่างนี้นะครับ พิมพ์เลย ฉันจะไปนอนแล้ว โอ้โห ก็พิมพ์ครับ พิมพ์ทันที ก็ข่าวดังไปใหญ่ ไม่ถึงเก้าโมงเช้า กระทรวงยุติธรรมโทรมาหาหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอชิงต้นโพสต์ ขอให้หยุดการพิมพ์และส่งเอกสารทั้งหมดคืน การเจรจาระหว่างบรรณาธิการ กับกระทรวงยุติธรรม เขาพูดกันอย่างสุภาพ และไม่ได้แสดงอาการกลัวเลย เขาบอกว่า "เราจำเป็นต้องพิมพ์ และเสียใจ เราไม่ให้ข้อมูลที่มีอยู่กับคุณ"

ในที่สุด วอชิงตันโพสต์ นิวยอร์กไทมส์ ต้องขึ้นศาล Supreme Court ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา สรุปศาลฯ ตัดสินให้หนังสือพิมพ์ พิมพ์ต่อไปได้ ไม่ต้องคืนเอกสารให้รัฐ ผู้พิพากษาท่านพูดว่า “หนังสือพิมพ์มีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และสะท้อนให้สังคมได้เห็น...”

ศาลพูดนะครับ "หนังสือพิมพ์ไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องรัฐบาล" ตกลงหนังสือพิมพ์ก็พิมพ์กันไปได้ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ผมดีใจ ที่ได้มาคุยในวันนักข่าวนี้ครับ

“ความกล้าหาญของสื่อ” สิ่งที่ “ดำรง พุฒตาล” อยากเห็น

เหตุการณ์ที่เขาได้เล่า เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ ที่เรียกว่า Pentagon Papers หรือ เอกสารเพนตากอน มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเรื่องว่า The Post ออกฉายเมื่อปลายปี 2560 กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณ ความกล้าหาญของสื่อมวลชน ในช่วงเวลาวิกฤต ที่ต้องเลือกระหว่าง ความอยู่รอด กับความถูกต้อง

ซึ่งเราเชื่อว่า ไม่เพียงดำรง พุฒตาล ที่อยากเห็น แต่คนในวงการสื่อเอง รวมถึงประชาชนทั่วไป ก็ต่างต้องการที่จะเห็น... เช่นเดียวกัน

related